ถอดบทเรียนม็อบไร้แกนนำ #บทเรียน 28 กุมภา ม็อบแตกแถว ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

บทความในประเทศ

 

ถอดบทเรียนม็อบไร้แกนนำ

#บทเรียน 28 กุมภา

ม็อบแตกแถว ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

การชุมนุมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Restart Democracy – ประชาชนสร้างตัว” หรือ “รีเดม” (REDEM) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เริ่มต้นนัดหมายการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อมาเกิดการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย และผู้ถูกจับกุมที่ได้รับการยืนยัน 22 คน เป็นเยาวชนอายุ 15-16 ปี รวมอยู่ด้วย 4 คน

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้ความเห็นต่อการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า เป็นเสมือนภาคต่อของเหตุการณ์ชุมนุมหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

กล่าวคือ ทางฝ่ายของผู้ชุมนุม แม้แนวทางหลักของการชุมนุมจะยึดหลักการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็มีคนส่วนน้อยที่มาร่วมชุมนุมไม่เชื่อในแนวทางนี้ และพร้อมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา

ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางฝ่ายผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำไม่ได้ทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร ทำไมใช้คนละแนวทางกันแต่ยังมาอยู่ในขบวน

อย่างไรก็ดี รูปแบบการใช้กำลังของคนส่วนน้อยเหล่านี้ยังเป็นการใช้ความรุนแรงในระดับต่ำ คือขว้างปาสิ่งของ ขวดน้ำ ก้อนหิน

แต่ไม่มีการใช้อาวุธที่ทำอันตรายได้ถึงชีวิตจากฝ่ายผู้ชุมนุม

สุนัยกล่าวอีกว่า ขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ แม้ตำรวจจะอ้างมาตลอดว่าปฏิบัติตามหลักสากล แต่ก็เหมือนทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลอย่างจริงจัง

จากการสังเกตการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ในการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นผู้ชุมนุมพยายามผลักลวดหนาม เลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ แล้วถูกตำรวจรุกเข้าไปตะครุบตัว

แต่การที่ตำรวจรุกเข้าไปจับตัว แม้คนที่เป็นเป้าหมายถูกทำให้หมดสภาพคือลงไปนอนอยู่กับพื้นแล้วแต่ยังถูกกระทืบต่อ

สิ่งนี้ไม่ใช่หลักสากล

หลักสากลคือคนที่เป็นเป้าหมายการจับกุม ไม่ได้อยู่ในสภาพต่อสู้ขัดขืนหรือจะทำร้ายเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานไม่สามารถใช้กำลังต่อเกินกว่านั้นได้

นอกจากนี้ วิธีการที่เจ้าหน้าที่เลือกดำเนินการกับผู้ชุมนุม สุนัย ผาสุก บอกว่า ก็เป็นปัญหาเช่นกัน

อันดับแรกคือรถฉีดน้ำ กติกาสากลให้เริ่มใช้รถฉีดน้ำได้ก็ต่อเมื่อเป็นสถานการณ์จลาจล

แต่ที่ผมเน้นตั้งแต่ต้นว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ชุมนุมส่วนน้อยที่ใช้ความรุนแรง ก็เป็นเพียงความรุนแรงระดับต่ำคือแค่ขว้างปาสิ่งของ ไม่ใช่เหตุการณ์จลาจล

เพราะฉะนั้น รถฉีดน้ำเป็นการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ

นอกจากรถฉีดน้ำแล้ว ยังสามารถยืนยันได้ว่าเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางในการรับมือกับผู้ชุมนุม ซึ่งผิดหลักสากลอย่างมากที่สุด

เพราะเงื่อนไขของการใช้กระสุนยาง คือผู้ชุมนุมต้องใช้ความรุนแรงถึงขั้นคุกคามชีวิตต่อเจ้าหน้าที่

แต่การชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นได้ชัดว่าเป็นความรุนแรงที่มาจากคนกลุ่มน้อย และเป็นความรุนแรงระดับต่ำ ไม่ถึงขั้นที่จำเป็นจะต้องตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนยาง

และวิธีการยิงกระสุนยางในกติกาสากล ให้ยิงที่ลำตัวช่วงล่าง ไม่ใช่ยิงใส่หน้าหรือลำตัวช่วงบน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมีคนเจ็บที่โดนกระสุนยางยิงเข้าที่โหนกแก้มและศีรษะ

นอกจากนี้ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ยังใช้ลักษณะเหวี่ยงแห ไล่จับ ไล่ตี รวมถึงการยิงกระสุนยางระลอกหลังๆ ก็ยิงสะเปะสะปะไปทั่ว เป็นลักษณะของการเหวี่ยงแห ไม่ได้เจาะจงไปที่คนก่อสถานการณ์ความวุ่นวาย

ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเมิดหลักการสากลเช่นกัน

นี่เป็นการสรุปภาพรวมของเหตุการณ์จากสุนัย ผาสุก ว่ามีความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย แต่ปัญหาหลักคือการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วน เกินกว่าเหตุ มีลักษณะเหวี่ยงแห ไม่จำเพาะเจาะจงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ขณะที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงฝ่ายตำรวจ ไม่พอใจกับการทำหน้าที่สื่อมวลชน เพราะหลักฐานจากการนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสด ซึ่งเป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2563 มีการจับกุมผู้สื่อข่าวที่ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุม มีการเสนอให้ปิดสื่อที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุม

แสดงว่าฝ่ายรัฐไม่ต้องการให้มีการถ่ายทอดภาพปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการใช้กำลังสลายการชุมนุม

การชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการเปิดโปงออกมาให้เห็นทั้งสองด้าน คือเห็นทั้งปัญหาที่เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุม และปัญหาที่เกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่

แต่เนื่องจากฝ่ายรัฐต้องการจะตีกิน โยนภาพปัญหาไปที่ฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งหมด แล้วฝ่ายรัฐก็เป็นพระเอก

เมื่อสื่อถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุม จึงทำให้สื่อกลายเป็นเป้าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ด้วย มีการประกาศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมว่าจะจับกุมสื่อที่ไปรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ มีผู้สื่อข่าวที่ไปถ่ายทอดสดเหตุการณ์ชุมนุมถูกจับกุมด้วย

หรือตอนที่ใช้กำลังทุบตีผู้ชุมนุม แล้วมีสื่อบางสำนักที่อยู่ตรงนั้น เมื่อตำรวจเห็นก็ทำท่าถือกระบองจะเข้าชาร์จสื่อ

สิ่งเหล่านี้ยืนยันชัดเจนว่าฝ่ายรัฐไม่ต้องการให้สื่อเป็นสักขีพยาน

ต่อมา กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีไอเดียว่า แม้สื่อจะใส่ปลอกแขนของสมาคมผู้สื่อข่าวก็ไม่เพียงพอ ตำรวจไม่ยอมรับ ต้องเป็นปลอกแขนที่ตำรวจออกให้

นี่คือสถานการณ์ล่าสุดที่รอง ผบช.น.แถลง และจะลามไปถึงอาสาสมัครแพทย์ด้วย ว่าถ้าเป็นพวกอาสาจะไม่ให้เข้า ต้องเป็นทีมแพทย์ที่เป็นทางการ นี่คือการจำกัดคนที่จะเป็นสักขีพยานในการชุมนุมว่าแต่ละฝ่ายมีพฤติกรรมอย่างไร

เขาต้องการให้มีข้อมูลด้านเดียว เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก

 

สุนัยย้ำว่า การชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 จึงต้องถูกวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพราะจริงๆ แล้วการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังเหตุการณ์ชุมนุม 16 ตุลาคม 2563 ที่ตำรวจฉีดน้ำใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวัน แล้วแกนนำถูกจับไปกลุ่มใหญ่ การชุมนุมก็สามารถเกิดขึ้นต่อไปได้โดยไม่มีแกนนำ

จุดต่างของการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำในอดีต เทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่สถานที่และประเด็นในการชุมนุม

กรณีการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นการชุมนุมในสถานที่ที่ฝ่ายรัฐถือว่ามีความอ่อนไหวอย่างมากในทางการเมือง

เพราะฉะนั้น การมาในพื้นที่แบบนี้ กับการออกแบบการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ ไม่มีรถเครื่องเสียง ไม่มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อประสานงานในที่ชุมนุม ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปยังฝ่ายผู้ชุมนุมว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมหรือไม่

การชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ อาจจะเหมาะกับการเป็นแฟลชม็อบ โผล่มาในพื้นที่ใจกลางเมือง มาก่อกวนเพื่อเสนอประเด็นแล้วแยกย้ายกันกลับ ไม่ได้ยืดเยื้อ และไม่ใช่พื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคงหรือทางการเมือง

ที่น่ากังวลคือเมื่อเริ่มเกิดความรุนแรง การตัดสินใจว่าจะชุมนุมต่อหรือยุติการชุมนุม มันไม่ได้ถูกสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่โหวตกันอยู่ในแอพพลิเคชั่นเทเลแกรม

พอโหวตเสร็จแล้วจะถ่ายทอดไปถึงคนในที่ชุมนุมยังไงให้เขารับรู้ทั่วกัน

เพราะฉะนั้น ต้องทบทวนกันว่ารูปแบบของการชุมนุมแต่ละกรณี ต้องคุยกันให้ดีกว่านี้

และต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมว่า ถ้าเกิดสถานการณ์รูปแบบต่างๆ ขึ้นจะต้องทำอย่างไร ถ้าไม่มีแกนนำอยู่ในพื้นที่ อย่างน้อยต้องทำความตกลงกับผู้ชุมนุมล่วงหน้า

 

ขณะที่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ สุนัยบอกว่า เป็นข้อกังวลที่ฮิวแมนไรท์วอทช์มีมาตลอดว่า อ้างว่ายึดหลักสากลก็ขอให้ทำตามหลักสากลจริงๆ ที่สำคัญคือตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จะต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้ ไม่ใช่มาบอกว่าใช้อุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ ซึ่งเรื่องนั้นก็มีปัญหาว่าใช้เกินความจำเป็น ไม่มีเหตุก็ใช้ แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยพูดเลยคืออารมณ์ของตำรวจที่ลุแก่โทสะ

กรณีการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ 2564 จะเห็นชัดเลยว่าเมื่อต้องเข้ารวบตัวผู้ชุมนุม ตำรวจคุมอารมณ์ไม่อยู่ จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ไม่อายกล้องมากขึ้นเรื่อยๆ มีการกระทืบคนต่อหน้ากล้อง

มีการบุกเข้าไปในเต็นท์พยาบาลอาสา ลากคนเจ็บออกมาต่อหน้ากล้อง

คุกคามผู้สื่อข่าวต่อหน้ากล้อง

เห็นได้ชัดเลยว่าการลุแก่โทสะหนักข้อขึ้นมาก ถึงขั้นที่ไม่กลัวว่าจะมีหลักฐานจากการทำงานของผู้สื่อข่าว

 

จากมุมมองที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์คงสามารถกล่าวได้ว่า นี่คือโจทย์ของฝ่ายผู้ชุมนุมต้องวางกลยุทธ์การชุมนุมใหม่ และแก้ปัญหาม็อบแตกแถวให้ได้

และเป็นโจทย์ของสื่อมวลชนที่จะต้องทำหน้าที่พยานบันทึกความจริงให้ได้ครบถ้วนที่สุด

เพราะการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐคงไม่ลดลง