เปิดรายงานคดีฆ่าคาช็อกกี คลอนสัมพันธ์มะกัน-ซาอุฯ / บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

เปิดรายงานคดีฆ่าคาช็อกกี

คลอนสัมพันธ์มะกัน-ซาอุฯ

 

หลังจากถูกปกปิดเป็นข้อมูลในชั้นความลับในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จนถูกชาวโลกค่อนแคะ

แต่ในที่สุดสหรัฐอเมริกาในรัฐบาลโจ ไบเดน ก็ยอมเปิดรายงานการสอบสวนด้านข่าวกรองของสหรัฐเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมฉาวสะท้านโลกที่จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตันโพสต์ สื่อชั้นนำในสหรัฐ ถูกฆ่าหั่นศพอย่างเหี้ยมโหดภายในสถานกงกุลซาอุฯ ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อปี 2018 ออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้กันเป็นครั้งแรก

แม้รายงานข่าวกรองที่รัฐบาลไบเดนเปิดเผยออกมา จะไม่ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวโลกสักเท่าไรนัก จากการฟันธงว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุฯ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า เอ็มบีเอส เป็นผู้เปิดไฟเขียวแผนฆาตกรรมคาช็อกกี นักวิพากษ์วิจารณ์ตัวยงที่คณะผู้ปกครองซาอุฯ มองว่าเป็นภัยคุกคาม

เพราะเป็นที่รับรู้จากพยานหลักฐานที่ถูกตีแผ่สู่สายตาชาวโลกหลังเกิดเหตุลอบสังหารคาช็อกกี โดยเฉพาะพยานหลักฐานที่รวมถึงเทปเสียงที่ทางการตุรกีเปิดเผยออกมา ต่างชี้เป้าถึงจอมบงการใหญ่ของทีมลอบสังหารนักข่าวซาอุฯ ฝีปากกล้าผู้นี้ว่าก็คือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร ซึ่งถือเป็นผู้ปกครองซาอุฯ ตัวจริงนั่นเอง

แต่ในช่วงเวลานั้นแม้ทางการซาอุฯ ได้ออกมายอมรับถึงเหตุการณ์สังหารที่เกิดขึ้น และจัดการรวบรัดตัดตอนดำเนินคดีตัดสินโทษผู้กระทำผิดในทีมสังหารคาช็อกกีที่มีรวม 15 คนไปอย่างลับๆ เพื่อหวังลดทอนกระแสกดดันจากประชาคมโลกไปแล้วก็ตาม

ทว่ารัฐบาลซาอุฯ ยังคงยืนกรานว่า เอ็มบีเอสไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมสุดอำมหิตนั้น

และหลังจากรัฐบาลไบเดนเปิดเผยรายงานข่าวกรองฉบับข้างต้นออกมา รัฐบาลซาอุฯ ก็ยังคงปฏิเสธเสียงแข็งเช่นเคยว่า เอ็มบีเอสไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

พร้อมซัดกลับบทสรุปในรายงานดังกล่าวของสหรัฐว่าเป็นการประเมินอันเป็นเท็จและเป็นสิ่งที่ซาอุฯ ยอมรับไม่ได้

 

การเปิดรายงานฉบับนี้ออกมาของรัฐบาลไบเดน ย่อมส่งผลกระทบต่อบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุฯ ให้คลอนแคลนลงได้ไม่มากก็น้อย

ขณะที่การตัดสินใจเปิดรายงานฉบับนี้ออกมาของสหรัฐก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นท่าทีของรัฐบาลไบเดนว่าจะดำเนินนโยบายความสัมพันธ์กับซาอุฯ ที่แตกต่างไปจากสมัยรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งดูเหมือนจะทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับคดีฆาตกรรมสุดช็อกที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจะปรับแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์กับซาอุฯ ไปในทิศทางใด รัฐบาลไบเดนก็คงต้องคิดให้หนักและเป็นไปอย่างระมัดระวัง

เพราะซาอุฯ ไม่เพียงเป็นชาติพันธมิตรอาหรับเก่าแก่ของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่ยังเป็นตัวคานอิทธิพลอำนาจที่สำคัญในภูมิภาคกับอิหร่าน ชาติปฏิปักษ์ที่สหรัฐขึ้นบัญชีดำเป็นรัฐอันธพาล

นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังนับเป็นคู่ค้าอาวุธรายใหญ่สำคัญของสหรัฐอีกด้วย

หลังจากเปิดรายงานข่าวกรองนี้ออกมาแล้ว รัฐบาลสหรัฐก็ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรและแบนการออกวีซ่าให้กับกลุ่มบุคคลที่มีส่วนพัวพันในคดีฆาตกรรมคาช็อกกีออกมารวมทั้งหมด 76 คน ที่เป็นคนวงในใกล้ชิดกับเอ็มบีเอส

ซึ่งรวมถึงสมาชิกกองกำลังแทรงแซงเร็ว (อาร์ไอเอฟ) อันเป็นหน่วยราชองครักษ์ที่ขึ้นตรงกับมกุฎราชกุมารซาอุฯ โดยตรง

ทว่าในโพยชื่อกลุ่มคนที่ถูกรัฐบาลไบเดนคว่ำบาตร กลับไม่ปรากฏชื่อของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือเอ็มบีเอส แต่อย่างใด!

 

ผู้สันทัดกรณีบางคนให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า แม้รัฐบาลไบเดนจะละเว้นการลงดาบไปที่ตัวมกุฎราชกุมารซาอุฯ โดยตรง แต่ใช่ว่าเอ็มบีเอสจะรอดพ้นจากเรื่องนี้ไปโดยไม่ได้รับความระคายเคืองใดๆ

อย่างน้อยรายงานที่เปิดเผยออกมานี้ รัฐบาลไบเดนก็ได้สร้างความยุ่งยากกระดากอายในระดับขั้นสุดให้กับผู้ปกครองซาอุฯ ได้

และยังทำให้ผู้นำโลกชาติอื่นๆ ยังเกิดความลังเลหรือมีความกระอักกระอ่วนในการที่จะติดต่อสัมพันธ์กับเอ็มบีเอสได้

นอกจากนี้ ไบเดนเองยังแสดงท่าทีให้เห็นชัดเจน ในการลดค่าให้ความสำคัญน้อยลงกับตัวมกุฎราชกุมารซาอุฯ ด้วยการยกหูโทรศัพท์ติดต่อหารือกับกษัตริย์ซัลมาน ประมุขแห่งราชอาณาจักรซาอุฯ เองโดยตรง แม้จะรู้ดีว่าอำนาจปกครองที่แท้จริงจะอยู่ในมือเอ็มบีเอสก็ตาม

แต่หากไบเดนเลือกที่จะเดินเกมในลักษณะนี้ต่อไป ในภายภาคหน้าก็จะยิ่งลำบาก เพราะสุดท้ายการสืบทอดอำนาจปกครองในราชอาณาจักรซาอุฯ ก็จะต้องตกอยู่ในมือของเอ็มบีเอสอยู่ดี