จากย่างกุ้งถึงเวียงจันทน์ อิทธิพล ‘พันธมิตรชานม’ / เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

จากย่างกุ้งถึงเวียงจันทน์

อิทธิพล ‘พันธมิตรชานม’

 

เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งซึ่ง 5 ปีจะมีขึ้นสักครั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ค่อยมีใครๆ ให้ความสนใจมากมายนัก เนื่องเพราะพรรคการเมืองที่สามารถส่งคนลงสมัครได้ก็คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในเวลานี้

แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติลาว จะ “คัดสรร” คนลงสมัครไว้มากถึง 224 คน สำหรับการชิงชัยจำนวนที่นั่งแค่ 164 ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติ ที่ชี้ขาดโดยการหย่อนบัตรของผู้มีสิทธิออกเสียง 4.3 ล้านคน ที่คูหาเลือกตั้งมากกว่า 7,200 คูหาทั่วประเทศก็ตามที

ผลการนับคะแนนในการเลือกตั้งที่ว่า ยังไม่ปรากฏ เพราะยังไม่แล้วเสร็จ แม้เวลาจะผ่านเลยมานานร่วม 10 วันแล้วก็ตามที

ที่ผมหยิบเอาเรื่องเลือกตั้งในลาวมาเริ่มต้นเอาไว้อย่างนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องการวิเคราะห์การเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าวนี้มาเล่าสู่กันฟัง

เพียงแค่มองเห็นเค้าเงื่อนน่าสนใจบางอย่างในข้อเขียนเรื่องการเลือกตั้งในลาวของมาเรีย เซียว ในบัญชร “ดิส วีก อิน เอเชีย” ของ “เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์” สื่อดังของฮ่องกง ที่เป็นหนึ่งในกิจการในเครือ “อาลีบาบา” ที่ก่อตั้งโดยแจ๊ก หม่า นั่นแหละ

 

มาเรีย เซียว ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า มีนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ทางการลาวชักเป็นกังวลมากขึ้นตามลำดับว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและไทย จะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนไปถึงบรรดายุวชนคนหนุ่ม-สาวที่เป็นพลเมืองลาวเข้าให้สักวัน

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ตอนที่การชุมนุมทางการเมืองในไทย กับแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี กำลังติดอันดับที่บ้านเราอยู่นั้น ได้ก่อให้เกิด “การแสดงออกที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้น” ของ “เน็ตติเซน” ในลาวเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกระแสการรณรงค์ในประเทศไทย ด้วยการรณรงค์ติดแฮชแท็ก “#ถ้าการเมืองลาวดี” ในทวิตเตอร์แอ็กเคาต์ของพลเมืองเน็ตในลาวกับเขาด้วย

“หนุ่ม-สาวลาวอาศัยความเคลื่อนไหวที่น้อยครั้งจะมีหนนี้ ชี้ให้เห็นถึงความกะพร่องกะแพร่งที่ดำรงอยู่ในประเทศของตัวเอง ตั้งแต่การปราศจากประชาธิปไตยไปจนถึงการไร้ซึ่งเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ตลอดจนช่องว่างทางรายได้ที่นับวันจะขยายถ่างกว้างออกไปมากขึ้นทุกที, อัตราการไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนอีกด้วย”

มาเรีย เซียว บอกต่อไว้ว่า บางคนถึงกับร้องขอให้ผนวกลาวเข้าไว้ใน “มิลก์ที อะไลแอนซ์” หรือขบวนการ “พันธมิตรชานม” อันโด่งดัง ซึ่งร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างไทย, ไต้หวัน, ฮ่องกง

และล่าสุดก็คือ เมียนมา ที่บรรดายุวชน-เยาวชนทั้งหลายกลายเป็นหัวหอกในการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพอย่างเข้มแข็ง เปี่ยมสีสันและมุ่งมั่นเหลือหลาย

 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกียวโต ในญี่ปุ่น คือคนที่บอกกับมาเรีย เซียว ว่า ทางการลาวกำลังเป็นกังวล “อิทธิพลข้ามพรมแดน” จากไทยและเมียนมา ที่ว่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่มาเรีย เซียว ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สัญญาณที่ส่อแสดงถึงการต่อต้านทางการที่ว่านี้ ไม่ได้แพร่กระจายออกไปกว้างขวางมากมายนักใน สปป.ลาว

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการตรวจสอบ เฝ้าระวังที่นั่นมีถี่ยิบกว่าและใกล้ชิดกว่าในประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายมาก

ในขณะเดียวกับที่รัฐบาลลาวเองก็ไม่มีน้ำอดน้ำทนกับการต่อต้านมากมายเท่าใดนัก

บ่อยครั้งที่ผู้ที่ต่อต้านทางการหากไม่ลงเอยด้วยโทษจำคุกยาวเหยียดก็ต้อง “หายตัวไป” เฉยๆ เงียบๆ นั่นเอง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการแผ่อิทธิพลข้ามแดน โดยเฉพาะจากการชุมนุมประท้วงที่เมียนมาและไทยไปสู่ลาว จะเป็นไปไม่ได้

ปวินยืนยันว่า สถานการณ์ทางการเมืองในทั้งสองประเทศ ทำให้ทางการลาววิตกขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะไปกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบขึ้นในประเทศของตนเอง

ปวินเรียกสภาวการณ์ที่ว่านี้ว่า “โดมิโน ออฟ เดโมเครซี” ตามหลักทฤษฎีโดมิโนที่เคยโด่งดังในยุคสงครามเย็น แต่คราวนี้อิทธิพลที่ก่อให้เกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เท่านั้นเอง

 

ที่น่าสนใจก็คือ มาเรีย เซียว บอกว่า มีแหล่งข่าวในลาวที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัว ยอมรับว่า หากการชุมนุมประท้วงในเมียนมายืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ

ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในแง่ของทางการลาวก็คือ สถานการณ์จะบีบบังคับไปในตัวให้รัฐบาลลาวแสดงจุดยืน หรือไม่ก็ต้องแสดงการสนับสนุนภายใต้กรอบการดำเนินการของอาเซียนออกมา

ไม่เช่นนั้นลาวก็อาจต้องแบกรับผลกระทบในทางเศรษฐกิจจากการนี้ไม่มากก็น้อย

ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการค้าหรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ตามที