ลึกแต่ไม่ลับ | นัยยะพิเศษ กสทช.

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

พลันที่ “พระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม” (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดอาฟเตอร์ช็อกสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่ววงการโทรคมนาคม-ทีวี วิทยุ

ผลอย่างแรกที่เห็นเด่นชัด คือกระบวนการคัดเลือก “กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม” หรือ “บอร์ด กสทช.” ที่ค้างคาอยู่ในวุฒิสภา สะดุดปังตอ ดักแด้รับประทาน เป็นอันล้มพับไปโดยปริยาย

การสรรหา “กสทช.” ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เป็นรอบที่ 3

“บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมาทั้ง 14 คนนั้น มาตามกฎหมาย กสทช.ฉบับเก่า ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น กระบวนการของวุฒิสภาต้องยกเลิกไปด้วย” นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา คอนเฟิร์ม การสรรหาที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม “จบข่าว” ต้องยกเลิก

ผลอีกประการหนึ่ง ได้แก่ บอร์ดก สทช.ที่มี “พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร” เป็นประธาน เหมือนถูกหวยตีนบวมอีกรอบ ได้นั่งเก้าอี้ต่อจนกว่าการสรรหาบอร์ดชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนอีกไม่น้อยกว่า 4 เดือน

นับเป็นบอร์ดแห่งแรกของเมืองไทยที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ มีสถิติอยู่ในตำแหน่งยาวนานเกือบ 10 ปี

เท้าความเดิม กลับไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม คณะกรรมการสรรหา กสทช. ประกาศรายชื่อบุคคลผู้ผ่านการสรรหาจากด้านต่างๆ 7 ด้าน ด้านละ 2 คน รวม 14 คน ส่งให้วุฒิสภาเลือกเฟ้น เป็น “กสทช.” เหลือ 7 คน

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมผู้ที่จะมาเป็น กสทช.โดยมี “พล.อ.ทวีป เนตรนิยม” เป็นประธาน

คณะกรรมการขอเวลาตรวจสอบ 15 วัน ก่อนยื่นผลการตรวจสอบให้วุฒิสภาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์

แต่ระหว่างนั้น วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมวุฒิสภาได้นำร่างกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่เข้ามาพิจารณา และ ส.ว. 213 คน ลงมติเห็นชอบ 194 เสียง ไม่เห็นชอบเพียง 3 เสียง งดออกเสียง 15

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ “พล.อ.ทวีป” ยื่นหนังสือไปยังประธานวุฒิสภาของเวลาตรวจสอบอีก 8 วัน เพราะตรวจสอบไม่ทัน มีเอกสารร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้ผ่านกระบวนการสรรหาเป็นจำนวนมาก ที่ประชุม ส.ว.ลงมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ “พล.อ.ทวีป”

ในประเด็นนี้ ผู้คนต่างพากันจับตาว่า การสรรหา กสทช.ส่อแท้งหรือไม่ เพราะการขยายเวลาออกไปอีก 8 วัน นั่นคือจะไปสิ้นสุดในวันที่ 3 มีนาคม แต่วุฒิสภาปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หมายถึงว่า ในห้วง 2 เดือนเศษๆ จะไม่มีการลงมติเลือกบอร์ด กสทช. จนกว่าวุฒิสภาเปิดสมัยประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม

ข้อกังขา “แท้ง-ไม่แท้ง” สะเด็ดน้ำฉับพลันเมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 1 มีนาคม และมีผลในวันที่ 2 มีนาคม

 

ถ้ากางไทม์ไลน์ กฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่นี้ออกมาไล่เรียงจะเห็นจะจะ มีนัยยะพิเศษ ที่น่าบันทึกไว้เป็นอย่างยิ่ง

ประการแรก ร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการเห็นชอบในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เมื่อถึงมือวุฒิสภาในวาระแรก ส.ว.เปิดประเด็นถกเถียงกันมาก ในเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ กสทช. คุณสมบัติของผู้สมัคร และกรรมาธิการได้ยื่นขอแปรญัตติแก้ไข

แต่วันเปิดประชุมวุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมาย กสทช.ในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมกลับไม่เห็นด้วยกับคำแปรญัตติ และที่ปาฏิหาริย์สุดๆ คือ

โหวตเห็นชอบตามแนวทางที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอไว้ และในวันถัดมาคือ 16 กุมภาพันธ์ “นายพรเพชร” นำร่างกฎหมาย กสทช.ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วยื่นให้ “นายชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา อีก 6 วันต่อมา “นายหัวชวน” ส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

“บิ๊กตู่” ปฏิบัติตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า “ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายนั้นจากรัฐสภา ถ้าไม่มีกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว”

พล.อ.ประยุทธ์ยื่นทูลเกล้าฯ ตามกรอบในวันที่ 27 กุมภาพันธ์

 

ตัดฉากกลับไปดูสาระสำคัญของกฎหมาย กสทช.ฉบับใหม่ กำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. 7 คน ด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ด้านละ 1 คน ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้านละ 1 คน ด้านอื่นๆ ที่ยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. 2 คน มีความแตกต่างจากฉบับเดิมที่กำหนดให้มีด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์

ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัคร ปรับใหม่เป็นนายทหารหรือนายตำรวจยศตั้งแต่ พล.ต. พล.ร.ต พล.อ.ต. และ พล.ต.ต.ขึ้นไป ของเดิมนายทหารยศ พ.อ. สมัครได้ การคัดเลือกกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาเลือกผู้สมัครในแต่ละด้าน 7 คน ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 แล้วส่งรายชื่อผลคะแนนและบันทึกเหตุผลในการเลือกให้วุฒิสภาโหวต โดยผู้ที่จะมาเป็น กสทช.ชุดใหม่ ต้องผ่านการเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา

ตามขั้นตอนจากนี้ จะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา กสทช. 7 คน มาจากตัวแทนของ 7 หน่วยงานได้แก่ ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

จากนั้นคณะกรรมการสรรหากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตัดเลือกพร้อมกับให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครผ่านทางสื่อต่างๆ เป็นเวลา 30 วัน หลังสิ้นสุดการรับสมัคร คณะกรรมการสรรหาจะตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติก่อนเปิดให้ผู้สมัครเข้าแสดงวิสัยทัศน์ และคัดเลือกให้เหลือ 7 คน ส่งให้ ส.ว.โหวต กสทช.ชุดใหม่

“ประเด็น” คณะกรรมการสรรหา กสทช.จะเป็นรายชื่อเดิมๆ หรือเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่

“ผู้สมัคร” ซึ่งคนเก่าจากงวดที่แล้ว สามารถสมัครใหม่ได้ และที่ผ่านเข้ารอบล็อตสุดท้าย จะมีคุณสมบัติต้องห้าม มีผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนเดิมอีกหรือไม่

แท้ง…ตายทั้งกลม นับเป็นย่างก้าวสำคัญ

“กฎหมาย กสทช.” มีนัยยะพิเศษ กระบวนการสรรหาที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส กระบวนการเลือกบุคคลที่ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และเข้ามาพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าได้ในทันที

ครั้งนี้ถือว่า เป็นโอกาสทองแล้วครับ