ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
‘ประยุทธ์’ ชูสิทธิ ‘นายกฯ’
คุมเกมปรับ ครม.
สยบ ‘พปชร.-พรรคร่วม’ กระเพื่อม
การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/3 หรือ “ตู่ 2/3” อาจต้องเกิดขึ้นเร็วในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ตามคำยืนยันของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าเป็นสิทธิและอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในการที่จะคัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อให้มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงตัวจริงเข้ามาทำงานให้เกิดความต่อเนื่องในนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งสยบคลื่นลมที่มักเกิดขึ้นในช่วงการปรับ ครม.ทุกครั้ง
ไฟต์บังคับทางการเมืองทำให้ต้องปรับ ครม.เกิดขึ้นเร็ว มาจากกรณีศาลอาญามีคำพิพากษาคดีชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยลงโทษจำคุกแกนนำ กปปส.ทั้ง 8 คน ส่งผลให้ 3 ใน 8 แกนนำที่เป็นรัฐมนตรี ได้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทันที
เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(7) ที่ระบุว่า “ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”
การปรับ ครม.ในรอบนี้ หากยึดตามข้อตกลงและตามโควต้าการเข้าร่วม ครม.ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล เก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลง 3 เก้าอี้ จะแบ่งเป็นโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ตำแหน่ง คือ รมว.ศึกษาธิการ กับ รมว.ดีอีเอส ขณะที่ประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 ตำแหน่ง คือ รมช.คมนาคม
ส่วนโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมจะสลับสับเปลี่ยนกันเองหรือไม่ก็เป็นออปชั่นที่แต่ละพรรคจะต้องไปหาข้อตกลงกัน
จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น โควต้ารัฐมนตรี 2 ตำแหน่งของพรรค พปชร. มีการเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรค พปชร.ที่ร่วมลงชื่อให้อำนาจเด็ดขาด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นผู้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีของพรรค พปชร. นัยยะดังกล่าวเป็นตีกัน ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลภายนอกพรรค พปชร.มาเป็นรัฐมนตรี ยึดโควต้าคนในของพรรค พปชร. เหมือนที่โดนยึดเก้าอี้ รมว.คลัง และ รมว.พลังงาน ไปแล้ว
ตามโผที่มีการเสนอชื่อกันมาผ่านสื่อจะเห็นได้ว่ามีชื่อของ “กลุ่ม 3 ช.” หรือกลุ่ม 3 รัฐมนตรีช่วย ที่กำลังมีเพาเวอร์ในพรรค พปชร.อยู่ในขณะนี้ ตามโผแรกมีการจัดโผให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นชั้นรัฐมนตรีว่าการ ทั้งในส่วนของ รมว.ดีอีเอส หรือ รมว.ศึกษาธิการ
ขณะเดียวกันอาจจะขยับ “อ.แหม่ม” นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ขึ้นเป็น รมว.ศึกษาธิการ หรือตามโผที่สอง ให้ ร.อ.ธรรมนัสเป็น รมว.ดีอีเอส ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ขยับขึ้นเป็น รมว.ศึกษาธิการ และขยับนางนฤมลนั่ง รมช.คลัง ให้มาช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรค พปชร.
อีกทั้งเมื่อ “กลุ่ม 3 ช.” มีการขยับขึ้นชั้น รมว.แล้ว ทำให้ตำแหน่ง รมช.ว่างลง แกนนำ “กลุ่ม 3 ช.” จึงต้องการผลักดัน “นายไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. ที่มีความใกล้ชิดกับ ร.อ.ธรรมนัส ขึ้นมาชิงเก้าอี้ รมช.ด้วย
ขณะเดียวแกนนำพรรค พปชร.อีกกลุ่มมีพยายามผลักดันให้ “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค พปชร. ที่เป็นอีกหนึ่งในแคนดิเดต รอขึ้นชั้นรัฐมนตรีจากรอบการปรับ ครม.บิ๊กตู่ 2/2 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563
รวมทั้งยังมีชื่อของ “นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ส.ส.ชลบุรี และ “นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา” ส.ส.ราชบุรี ที่อยู่ในโควต้าของกลุ่มสามมิตรที่มี “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร พร้อมสนับสนุนให้ทั้ง 2 คนขึ้นชั้นรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องของกลุ่ม 13 ส.ส.ภาคใต้ พรรค พปชร.ที่ขอโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ที่นั่ง เพื่อคืนความชอบธรรมให้กับกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ยังไม่มีตัวแทนของกลุ่ม ส.ส.เป็นรัฐมนตรีมาดูแลพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จัดตั้ง ครม.บิ๊กตู่ 2/1
ขณะเดียวกันยังมีอีกหนึ่งโผด้วยการขยับ “นายอนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร. ขึ้นชั้นเก้าอี้ รมว. ให้สมกับการเป็นเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล ทั้ง รมว.ดีอีเอส และ รมว.ศึกษาธิการ
อีกทั้งยังมีอีกสูตรของการปรับ ครม. โดยการโยกสลับตำแหน่งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยมีโผจะให้ ร.อ.ธรรมนัสขยับจาก รมช.เกษตรฯ ขึ้นเป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในโควต้าของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยับไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ แทน
แต่ต้องอยู่ที่แกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะรับเงื่อนไขการเจรจาครั้งนี้หรือไม่
ส่วนความเคลื่อนไหวอีก 2 พรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของแกนนำพรรค ภท. ยืนยันว่ายังคงยึดในโควต้ารัฐมนตรี คือ 7 เก้าอี้เดิม จะไม่ขอเพิ่มตำแหน่ง หรือสลับกระทรวงกับใคร ขณะที่พรรค ปชป.ยังต้องลุ้นว่า โควต้า รมช.คมนาคมที่แกนนำพรรค ปชป.ภาคใต้ยืนยันว่า เป็นโควต้าของพรรค ปชป.ภาคใต้
โดย “ถาวร เสนเนียม” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมสนับสนุนนายเจือ ราชสีห์ เลขานุการ รมช.คมนาคม ขึ้นเป็น รมช.คมนาคม ขณะเดียวกันแกนนำพรรค ปชป.บางส่วนยังให้การสนับสนุนนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ขึ้นมาชิงเก้าอี้ รมช.คมนาคม ในสัดส่วนโควต้าภาคใต้ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวในพรรค ปชป.ให้มีการปรับ ครม.ในส่วนของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ที่ต้องหมุนเวียนให้ ส.ส.ในส่วนของภาคอื่นๆ ได้เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีบ้าง เนื่องจากคุณหญิงกัลยาดำรงตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการมาตั้งแต่ ครม.บิ๊กตู่ 2/1 แล้ว
แม้ “บิ๊กป้อม” จะออกมายืนยันว่า เรื่องการปรับ ครม.จะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และดูความเหมาะสม ขอให้เชื่อใจกัน แต่โผการปรับ ครม.บิ๊กตู่ 2/3 ที่มีรายชื่อทั้งจากกลุ่มนั้น ภาคนี้
ยังคงอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ ได้แอบลุ้น แอบหวังกันอยู่
ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่ได้นำรายชื่อ ครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ลงมา