แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ส่อ ‘แท้ง’ สูง ลุ้นผลวินิจฉัย ‘ศาล รธน.’ ส.ว.จุดพลุคว่ำ สกัดไม่ถึง 84 เสียง / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3

ส่อ ‘แท้ง’ สูง

ลุ้นผลวินิจฉัย ‘ศาล รธน.’

ส.ว.จุดพลุคว่ำ สกัดไม่ถึง 84 เสียง

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่สอง ผ่านไปเมื่อวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2564

ประเด็นไฮไลต์คือ

1) การแก้ไขมาตรา 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภา ไม่ต้องใช้เสียงพิเศษของ ส.ว.

2) ให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นใหม่มีสมาชิก 200 คนจากการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงเนื้อหา “หมวด 1 หมวด 2”

จากนี้ จะเป็นไปตาม “ไทม์ไลน์” ดังนี้

การลงมติในวาระสาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 256(5) กำหนดว่า เมื่อข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สองแล้ว ให้รอไว้ 15 วันก่อนแล้วให้เริ่มพิจารณาวาระที่สาม

ทั้งนี้ รัฐสภาวางกำหนดการประชุมร่วมกันแล้วเป็นวันที่ 17-18 มีนาคม 2564

จึงคาดหมายได้ว่า ภายในกำหนดสองวันดังกล่าวน่าจะมีการลงมติวาระที่สาม

ทั้งนี้ การลงมติของรัฐสภาที่จะผ่านในวาระที่สามได้ ต้องอาศัยเสียงครึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ส. และ ส.ว. คือ อย่างน้อย 369 จากทั้งหมด 737 คน

แต่ต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คน

และต้องมีเสียงของ ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรีและประธานสภา รวมกันร้อยละ 20

ถ้าหากได้เสียงของสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงตามหลักเกณฑ์นี้

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป

 

หลังจากนั้น ต้องทำประชามติโดยประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(8) กำหนดว่า การแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องจัดทำประชามติ

ซึ่งมีกระบวนการทำประชามติ อาทิ ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดวันออกเสียง

คาดหมายว่า การออกเสียงประชามติอาจมีขึ้นอย่างเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564

หากไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะตกไป

ถ้าผ่าน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(7) กำหนดว่า เมื่อลงมติเห็นชอบแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย

คาดหมายว่า การลงพระปรมาภิไธยอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 หรือต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้

จากนั้นต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน คาดว่าจะได้อย่างเร็วในเดือนกันยายน 2564

แล้วมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน 240 วัน

กว่าจะได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ส.ส.ร.เป็นผู้เขียนขึ้น อย่างเร็วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565

ซึ่งยาวนาน

และไม่รู้ว่าขบวนการนี้จะ “สะดุด” ลงเมื่อใด

 

เพราะอย่างที่ทราบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอ

และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 คน ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 3 มีนาคม 2564 และกำหนดนัดประชุมวันที่ 4 มีนาคม 2564

ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 คนประกอบด้วย

1) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

2) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

3) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

4) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ตอนนี้ กำลังลุ้นกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีขึ้นก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติวาระที่ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคม หรือไม่

และผลจะออกมาอย่างไร

 

ซึ่งหากดูท่าทีฝ่ายค้าน อย่างนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ศาลจะรับฟังความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม 4 คนที่มีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น น่าจะชี้แนวโน้มอะไรบางอย่าง

ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติให้ทำหนังสือส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ให้เปิดกว้างในการนำบุคคลมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา โดยมี 4 หัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมลงชื่อ

โดยระบุในจดหมายว่า

“ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายหนังสือนี้ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่าบุคคลทั้ง 4 คนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ทำความเห็นยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ล้วนเป็นบุคคลที่มีส่วนได้เสียในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง

และเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรเปิดกว้างให้บุคคลที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทำความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เช่น หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตัวแทนประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นักวิชาการผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นต้น

ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงมีมติมอบหมายให้คณะทำงานยกร่างหนังสือส่งไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้ฟังความเห็นผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมายมหาชนให้กว้างขวางกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขื้น”

ซึ่งยังไม่มีท่าทีตอบรับจากศาลรัฐธรรมนูญ

ทำให้มีการประเมินว่า คำวินิจฉัยอาจจะเป็นคุณกับฝ่ายที่ร้อง คือนายไพบูลย์และนายสมชาย

หากเป็นเช่นนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะ “แท้ง” ก่อนลงมติวาระที่ 3 ก็ได้

 

นี่จึงทำให้กลุ่มสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกแถลงการณ์ ดักทางกรณีนี้

โดยระบุว่า การที่รัฐสภาเสียงข้างมากขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเรื่องแปลกประหลาด

และส่อให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสมคบคิดเพื่อทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.เป็นไปไม่ได้

ยิ่งศาลรัฐธรรมนูญขอความเห็นจากบุคคล 4 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต นั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่ามีจุดยืนข้างฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ ยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้น

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญควรที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนการลงมติในวาระที่ 3

และถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ก็จะทำให้ระบบรัฐสภาแข็งแรงขึ้น เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้ไขเป็นรายมาตรา หลายมาตรา หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญเองเป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐสภา หรือมิเช่นนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะยืนยันว่าเป็นอำนาจของรัฐสภา

จึงขอวิงวอนทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน ผ่าทางตันของประเทศเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริง อย่าเอาแพ้ชนะกันในสิ่งที่ในที่สุดแล้วไม่มีใครชนะ แต่ทุกคนและประเทศแพ้หมด

 

ซึ่งไม่รู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นพ้องกับกลุ่มสร้างไทยหรือไม่

และแม้ผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้

แต่ก็ใช่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะฉลุย

ด้วยยังมีแรงเสียดทานอีกมาก

สัญญาณล่าสุดมาจากนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ได้นำร่องประกาศจุดยืนไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3

เนื่องจากกังวลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่ว่าด้วยพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ นายวัลลภอ้างว่า การแสดงจุดยืนนี้ไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวที่มีใบสั่งจากผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

โดยที่ผ่านมาไม่ขัดข้องต่อการกำหนดให้มี ส.ส.ร.เพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขการออกเสียงวาระรับหลักการและวาระเห็นชอบรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อ ส.ว.บางส่วนกังวลต่อการละเมิดพระราชอำนาจและขอให้บัญญัติป้องกันไว้ ไม่ได้รับการตอบรับ

จึงให้คำยืนยันว่าจะไม่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขวาระสาม

“ใครจะด่าก็ช่าง เพราะผมถือว่าได้ทำหน้าที่ หากจะถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ละด้านล้วนมีผลกระทบเกิดขึ้นทั้งหมด สำหรับรายละเอียดในความกังวลต่อสถาบัน ที่ ส.ส.ไม่รับไว้พิจารณานั้น ทราบว่า ส.ว.ที่ขอแปรญัตติไม่สบายใจ แต่ผมไม่ทราบว่าพวกเขาจะลงมติอย่างไร” นายวัลลภกล่าว

สอดคล้องกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ที่โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอถามใจคนไทย 16.8 ล้านเสียง ยอมไหม ล้มรัฐธรรมนูญปราบโกงแล้วร่างใหม่แบบไร้กรอบเช่นนี้

การออกมาโยนหินของ 2 ส.ว.ดังกล่าว อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียง ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 คือ 84 คนสนับสนุน อาจจะไม่ถึงเป้า

ถ้าเป็นเช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องพังพาบลง

ซึ่งก็มีสัญญาณชัดเจนขึ้นทุกที

อย่างที่ น.ส.สกุณา สาระนันท์ ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาแฉโพยว่า ที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการเล่นละครตบตาประชาชนของพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น เพราะทราบดีว่าหนทางข้างหน้าจะออกมาอย่างไร

ดังนั้น แม้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่ออกมา แต่น่าประหลาดใจที่พรรคพลังประชารัฐทราบแล้วว่าผลจะออกมาอย่างไร จึงบอกว่าต้องหารือ 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคพลังประชารัฐทราบได้อย่างไรว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร

 

ตอนนี้ แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในฝั่งฟากฝ่ายค้าน จะอยู่ในลักษณะตีปลาหน้าไซ

ตีปลาหน้าไซว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะ “แท้ง”

ทั้งที่เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลนำไปใช้หาเสียง

แต่เมื่อถึงขั้นตอนเอาจริง กลับมากด้วยแท็กติกและเงื่อนไขที่จะขัดขวางให้เรื่องนี้ “ไม่ผ่าน”

ซึ่งแน่นอน ย่อมจะนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขทางการเมืองทั้งในสภาและนอกสภาที่รุนแรงอยู่แล้ว ให้รุนแรงขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกุมอำนาจก็ดูจะเมินเฉย

ปล่อยให้เป็นปม “วิกฤต” ต่อไป

โดยไม่สนใจว่าเกิดผลกระทบเลวร้ายลงอย่างไรกับสังคมไทยที่ป่วยไข้อย่างหนักอยู่ตอนนี้