‘การเมืองที่ดีกว่า’ ของใคร / เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘การเมืองที่ดีกว่า’ ของใคร

 

การเมืองเข้าสู่โหมดปรับ ครม.แบบภาคบังคับ

มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดว่าไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดต้นเดือนเมษายน จะประกาศรายชื่อรัฐมนตรีใหม่

รายงานข่าวชั้นนี้ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า การปรับอย่างรวดเร็วน่าจะเป็นการปรับเฉพาะตำแหน่งที่จำเป็นมากกว่าจะเป็นการปรับให้เกิดความเหมาะสมกับการบริหารจัดการประเทศให้เจริญรุ่งเรือง

ปรับที่จำเป็นคือ เฉพาะตำแหน่งที่รัฐมนตรีเดิมต้องหลุดไปเนื่องเพราะคำตัดสินของศาลอาญาใน “คดี กปปส.” ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และขัดขวางการเลือกตั้ง

ขณะที่ตามความเหมาะสมคือ พิจารณาจากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยดูจากข้อมูลหลักฐานที่ฝ่ายค้านนำมาเปิดโปง และการชี้แจงของรัฐมนตรีว่าเคลียร์ข้อกล่าวหาได้หรือไม่

ความเหมาะสมของรัฐมนตรีอธิบายง่ายที่สุดอย่างที่ “ประมวล เอมเปีย” หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แถลงเรียกร้องไว้ว่า คือ

“ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อใช้ความรู้ให้ประเทศเดินหน้า แต่เสียดายที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น มีการเอาคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาเป็นรัฐมนตรี อย่างที่สื่อเรียกว่าแย่งชามข้าวกัน เห็นแล้วน่าอาย”

 

หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “ลงโทษผู้โหวตสวนมติพรรคอย่างไรดี” ในนั้นมีคำถามหนึ่งที่ว่า “หลังอภิปรายมีการปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่”

ร้อยละ 49.24 ตอบว่าควรมีการปรับแค่บางตำแหน่ง ร้อยละ 33.66 เห็นว่าควรปรับครั้งใหญ่ มีแค่ร้อยละ 11.68 เท่านั้นที่ตอบว่าไม่ควรปรับ ขณะที่มีคนไม่ตอบร้อยละ 5.24

เป็นการตอบจากผลการอภิปรายโดยไม่รู้ว่าจะมีรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องโทษคดีอาญา

นั่นหมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการปรับคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว

หาก “ผู้นำรัฐบาล” เข้าใจ และแคร์ต่อความรู้สึกประชาชนก็ควรจะต้องปรับอยู่แล้ว

เมื่อมีรัฐมนตรีต้องหลุดออกไป ยิ่งต้องถือโอกาสปรับครั้งใหญ่ เพราะในยามที่ประเทศชาติเผชิญวิกฤตในทุกด้าน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการทำหน้าที่เพื่อฝ่าฟันไปสู่ความสำเร็จ

แต่กระทั่งโอกาสที่จะปรับคณะรัฐมนตรีมาถึง นายกรัฐมนตรียังเลือกท่าจะปรับเล็ก ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่เป็นเช่นนี้ย่อมสะท้อนว่าอำนาจของนายกรัฐมนตรียังไม่เสถียรพอ จำเป็นต้องบริหารอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมจนส่งผลให้รัฐบาลต้องสั่นคลอน

นั่นหมายความว่า แม้จะแสดงถึงความองอาจ โชว์ท่าทีของ “ผู้นำประเภทขุนศึก” โดยถึงกับประกาศว่า “การพิจารณาในภาพรวมอยู่ในอำนาจนายกฯ อยู่แล้ว”

แต่ถึงที่สุดแล้วแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า “หลายคนมีคุณสมบัติด่างพร้อยจนไม่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตรีในยามที่ประเทศต้องการคนมีความรู้ความสามารถมาช่วยคลี่คลายวิกฤตสารพัดด้านที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตประชาชน” เอาเข้าจริงก็ “ไม่กล้าพอ” ที่จะนำคนที่ดีกว่ามาสร้างความหวังให้ประชาชน

 

การปรับคณะรัฐมนตรียังคงเป็นเรื่องการรักษาโควต้า ประนีประนอมกับผู้มีบารมี โดยไม่สนใจความเหมาะสมในด้านความรู้ความสามารถในงานที่ทำ

อาการอาจหาญนั้นเป็นแค่ท่าทีที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า “แข็งแกร่ง” แต่ในการต่อรองกับ “พรรคร่วมรัฐบาล” เพื่อให้ได้คนที่ให้ความรู้สึกดีกว่ากับประชาชน กลับหมดท่า

เรื่องราวที่เป็นไปเช่นทำให้ชวนคิดว่า การทำ “รัฐประหาร” ด้วยข้ออ้างว่า “ต้องปฏิรูปการเมือง” เพราะการเมืองเลวร้ายนั้น

7 ปีกว่าจากวันนั้นถึงวันนี้

การเมืองครั้งนั้น กับครั้งนี้ ยุคสมัยใดเลวร้ายต่อประชาชนมากกว่า