บททดสอบอาเซียน / โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บททดสอบอาเซียน

 

เมื่อพูดถึงอาเซียนกล่าวได้ว่ามีความสำคัญต่อภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม มุมมองอาเซียนมีได้หลายแง่มุม เราไม่อาจมองเพียงมุมเดียว

เราจะจัดวางไทยจะอยู่ตรงไหนได้บ้าง ไม่มีอะไรดีเท่า พินิจอาเซียนในยามเกิดวิกฤตการณ์

อาเซียนที่ผ่านมา

 

อาเซียนเป็นองค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่มีชีวิตยาวนานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว อาเซียนย่อมมีความสำคัญมากต่อภูมิภาคและไทยในหลายๆ ด้าน

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของอาเซียนที่เด่นมากที่สุดคือ การบูรณาการทางเศรษฐกิจ มีชาติมหาอำนาจเป็นผู้เข้าร่วมเจรจา มีกรอบและแผนงานด้านเศรษฐกิจ เช่น กรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาอาเซียนสู่ตลาดโลก การบรรลุ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Cooperation-AEC) 2015 เป้าหมายยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แผนงานด้านเศรษฐกิจดิจิตอล เป็นต้น

ในยุคโลกาภิวัตน์ อาเซียนในฐานะตลาด ฐานการลงทุน ทรัพยากรธรรมชาติ อาเซียนย่อมเป็นเป้าหมายทั้งการค้าและการลงทุนสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

แน่นอนคนที่เชื่อและชื่นชมแนวนี้ไม่ได้ผิด เราอาจเรียกพวกเขาว่า ผู้นิยมอาเซียน ก็ย่อมได้

แต่เมื่อมองลึกในบางประเด็น คำถามมากมายเกิดขึ้นโดยพลัน ยามเมื่อมีสิ่งท้าทายอาเซียน

อาเซียนและสิ่งท้าทายใหม่

 

ตั้งแต่ก่อตั้งอาเซียนมาปี 1967 แล้วสมาชิกอาเซียนยึดหลักการ ไม่แทรกแซงกิจการภายใน บ้างก็ว่า หลักการนี้ อาเซียนอยู่รอดปลอดภัย สมาชิกอาเซียนไม่ทะเลาะขัดแย้งกันรุนแรงเพราะไม่ก้าวก่ายกิจการภายใน ประเทศต่างๆ จึงยังเป็นสมาชิกอาเซียนต่อไป แม้ประเทศส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ผู้นำเผด็จการระบบพรรคเดียว อาเซียนก็ยังอยู่ด้วยกันได้ด้วยหลักการนี้

อย่างไรก็ตาม อาเซียนมีสิ่งท้าทายเป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้น อันก่อชนวนความขัดแย้งระหว่างกันได้ง่ายๆ เช่น ปัญหาเขตแดน โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ แหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ที่เด่นชัดคือ พื้นที่ทับซ้อนมาเลเซียและอินโดนีเซีย พื้นที่ทับซ้อนไทยและกัมพูชาทั้งชายแดนตอนในและพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย

แท้จริง ปัญหาขัดแย้งยังมีอีกมากโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ อคติทางเชื้อชาติต่อกัน

นอกจากนี้ อาเซียนเป็นพื้นที่การแข่งขันของชาติมหาอำนาจอีก เห็นได้ว่า ปัญหาทะเลจีนใต้จึงเป็นบททดสอบอาเซียนที่สำคัญ ในประเด็น ฐานะตรงกลางหรือ Centrality คือไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด

การทดสอบสำคัญเรื่องนี้คือ ปี 2012 ปีที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ปีนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่หลังประชุมสุดยอด (Summit) ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ด้วยเกรงว่า ในแถลงการณ์ร่วมนั้นจะกล่าวถึงบทบาทของจีนที่สร้างปัญหาทะเลจีนใต้อยู่ในขณะนั้น

ความจริง อาเซียนเป็นฐานะตรงกลาง นี่เป็นภาษาทางการทูตที่ฟังดูดี แต่หนีความจริงไม่พ้นว่า อาเซียนนิยมตะวันตก หรือโปรจีนกันแน่

 

รัฐประหารเมียนมา

เรื่องเก่าในบริบทใหม่

ที่เมียนมา มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทหารกับออง ซาน ซูจี และพันธมิตรมานาน อย่างน้อย 5 ปี ตั้งแต่ปี 2015 พรรค NLD และนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป

แกนกลางของความขัดแย้งคือ การแข่งขันทางอำนาจระหว่างออง ซาน ซูจี พันธมิตรกับผู้นำทหาร ทั้งในรัฐสภา การแบ่งเขตอำนาจบริหารในกระทรวง การบริหารท้องถิ่น อันนำไปสู่ผลประโยชน์ทางการเมืองสู่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะความนิยมทางการเมือง ที่นับวันพรรคและออง ซาน ซูจี มีเพิ่มขึ้น แต่นายพลและกองทัพมีน้อยลง แล้วเวทีขัดแย้งก็มาปรากฏที่รัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญให้ทหารมีบทบาทน้อยลง

ในที่สุด พฤศจิกายน 2020 พรรค NLD และออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอีก ผู้นำทหารเจรจาต่อรองขอตำแหน่งมุขมนตรี แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงเกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อันเป็นวันเปิดประชุมรัฐสภา

แล้วผู้นำทหารก็คาดการณ์ผิด ประชาชนทั่วประเทศลุกฮือต่อต้านทันทีที่เกิดรัฐประหาร ประท้วงทุกวันนานกว่า 1 เดือนแล้ว ไม่มีทีท่าหยุด ประท้วงทั่วประเทศ คนทั่วไปทุกสาขาอาชีพรวมทั้งข้าราชการก็ประท้วง มีการหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อให้บริหารประเทศไม่ได้

นานาชาติประกาศคว่ำบาตร ขึ้นบัญชีดำและยึดทรัพย์สินนายพลในต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติและองค์การพันธมิตรให้ทหารคืนอำนาจและเตือนการปราบปรามประชาชน

 

อาเซียนสั่นสะเทือน

ธาตุแท้อาเซียนปรากฏ บรูไนเสนอให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี

มาเลเซียส่งแรงงานเมียนมากลับประเทศ ท่ามกลางการโจมตีของนานาชาติว่าแรงงานเมียนมาอาจได้รับอันตรายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สิงคโปร์เห็นว่าไม่ควรแทรกแซงเมียนมา

ฟิลิปปินส์สนับสนุนรัฐบาลรัฐประหาร เป็นไปได้ว่า ฟิลิปปินส์คำนึงถึงปัญหาชาวโรฮิงญาในเมียนมาจึงสนับสนุนรัฐบาลทหาร

อินโดนีเซียเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหาการเมืองและความขัดแย้งในเมียนมา

ไทยงงในตอนแรก ผู้นำไทยยังงง มัวอยู่ แล้วไทยก็สับสนในเรื่องรัฐประหารในเมียนมา เช้าบอกสนับสนุนประชาธิปไตย บ่ายต้อนรับผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมา อันมีผลต่อบทบาทของตนในอาเซียนไปด้วย

จะทำอย่างไรถ้า…

 

ประชาชนเมียนมาไม่พอใจการสนับสนุนรัฐบาลประหารของเมียนมาของอาเซียนและสมาชิก เท่ากับว่า อาเซียนเป็นองค์กรของผู้นำและคนร่ำรวยเท่านั้นหรือ ไหนบอกว่า ศูนย์กลางอาเซียนคือ ประชาชน พูดเล่นหรือคำโกหก

ที่ร้ายแรงและยุ่งยากพอๆ กัน ถ้านางออง ซาน ซูจี และพันธมิตรตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นมา ไทยและอาเซียนจะทำอย่างไร รัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาเคยเกิดขึ้นแล้ว แล้วยังเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางการเมือง ชอบธรรมทางกฎหมายและได้รับการยอมรับจากนานาชาติอีกด้วย

หากไทยจะแย่งเป็น ผู้ไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา ไทยมีศักยภาพเพียงพอจะทำหน้าที่หรือ ศักยภาพนี้ไม่ได้หมายถึง สถานที่จัดประชุม โรงแรมสวยหรู อาหารชั้นเลิศพร้อมไวน์ไม่อั้น ไม่ได้หมายถึง งบประมาณจำนวนมากที่จะใช้ในการดำเนินการ แต่เป็น

ความเข้าใจในสังคมการเมืองเมียนมาที่แท้จริง

การยอมรับจากเมียนมาทั้งจากทหารที่ทำการรัฐประหาร นักการเมืองที่ถูกขับไล่ออกจากตำแหน่งและชาวบ้านผู้ประท้วง แถมอีกก็ได้ แล้วชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่มีความสำคัญและมีบทบาทสูงในสังคมการเมืองเมียนมาด้วย

มีประเทศสมาชิกอาเซียนไหนบ้างที่มอบฉันทานุมัติให้ไทยเป็น ผู้ไกล่เกลี่ย

ทำไมเขาจะให้ไทยมีบทบาทนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ทำเองไม่ดีกว่าหรือ ไทยจะอ้างอะไรได้บ้าง เช่น พรมแดนติดกัน นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ผู้นำทหารไทยกับผู้นำทหารเมียนมาสนิทกันมาก รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้เดินทางมาพบผู้นำไทยทั้งที่ดอนเมืองและทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว ผู้แทนรัฐบาลทหารเดินทางมาคารวะนายกฯ ไทยแล้วด้วย

ความน่าเชื่อถือสำคัญพอๆ กับความชำนาญและเจนจัดในการเมืองระหว่างประเทศ

มหาอำนาจได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรปเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการรัฐประหารเมียนมา โดยเฉพาะความปลอดภัยของคนเมียนมา สิทธิมนุษยชน คุณค่าทางเศรษฐกิจของเมียนมา ฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์เมียนมากับสมดุลระหว่างชาติตะวันตกกับจีน

น่าห่วงไทยมาก ยอมรับรัฐบาลรัฐประหารอย่างไม่ประสีประสา อ้างได้หรือว่าระดับนายกรัฐมนตรีคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา แค่คุยกัน ท่ามกลางการต่อต้านจากนานาชาติ โดยเฉพาะการลุกฮือของคนเมียนมาทั่วประเทศ แล้วใครจะชอบไทย คบกับไทย

ห่วงยิ่งกว่า ถ้าออง ซาน ซูจี และพันธมิตรตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ประเด็นรับรองรัฐบาลจากไทยเรื่องเล็กจิ๋ว แต่เมียนมาจะคบค้ากับเราหรือครับ

รัฐประหารเมียนมาเป็นปัญหาภายใน แต่ท้าทายอาเซียนอย่างสำคัญ