ยุทธศาสตร์มะกันสกัดจีน จากเอกสาร (ที่เคยตีตรา ‘ลับ’) / กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ยุทธศาสตร์มะกันสกัดจีน

จากเอกสาร (ที่เคยตีตรา ‘ลับ’)

 

สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงการกลับมาของ Mr Asia ของรัฐบาลสหรัฐในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน

เขาชื่อ Kurt Campbell อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศดูแลกิจการเอเชียตะวันออกในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

วันนี้ในหมวกใบใหม่ แคมป์เบลได้ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ Indo-Pacific Coordinator ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เป็นตำแหน่ง “ผู้ประสานงานว่าด้วยกิจการอินโด-แปซิฟิก” เพื่อบูรณาการนโยบายของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้

โดยมีเป้าหมายหลักคือการสกัดการเติบใหญ่ของจีนในทุกๆ ด้าน

แต่ขณะเดียวกันก็พยายามวางแนวทางให้วอชิงตันทำงานร่วมกับปักกิ่งในด้านที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ

แนวทาง 3 Cs จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นั่นคือ Cooperation (ความร่วมมือ), Competition (การแข่งขัน)

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด C ตัวที่สาม นั่นคือ Confrontation (การเผชิญหน้า)

การแต่งตั้งแคมป์เบลในตำแหน่งนี้เป็นจังหวะเดียวกับที่มีการ “ลดชั้นความลับ” ของเอกสารสำคัญที่วางเป็นยุทธศาสตร์สำหรับของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2018 ซึ่งนำไปสู่ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีน

เอกสารฉบับนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่าสหรัฐระบุชัดเจนว่าคู่แข่งหมายเลขหนึ่งของสหรัฐคือจีน

และแนวทางการไม่ให้ปักกิ่งสยายปีกออกไปได้ของสหรัฐคือการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้จีนสามารถก้าวขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่อเมริกาเป็นอันขาด

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าไทยเราได้รับการกล่าวถึงในโครงสร้างแห่งยุทธศาสตร์นี้น้อยไป

สมควรจะเป็นข้อเตือนใจผู้วางนโยบายไทยว่ามีประเด็นอะไรที่จะนำไปสู่การปรับแก้นโยบายของไทยต่อมหาอำนาจอย่างไรหรือไม่

หรือการถูกกล่าวถึงน้อยอาจจะเป็นข้อดีในแง่ที่ว่าเราไม่ถูกมองว่าเป็นตัวละครแห่งความขัดแย้ง?

 

เอกสารที่ว่านี้มีชื่อเป็นทางการว่า “เค้าโครงยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก”

เป็นเอกสารที่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018

เพิ่งจะถูกปลดจากชั้น “ลับ” เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 12 มกราคมปีนี้

หากไม่มีการถอดชั้นความลับ เอกสารนี้จะต้องถูกเก็บเป็นความลับไปจนถึงปี 2043 ทีเดียว

ผมอ่านเอกสารทั้ง 10 หน้าแล้วก็จับประเด็นจากข้อความบางส่วนถูกลบออกไปเพื่อรักษาความลับทางการสหรัฐ

แต่ก็พอจะเห็นภาพรวมของ “พิมพ์เขียวยุทธศาสตร์เปิดกว้างและเสรีในอินโด-แปซิฟิก” (Open and Free) ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ทำขึ้นในปี 2017

 

หลักการใหญ่ของนโยบายนี้คือผลประโยชน์ของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกจะต้องหมายถึง

การปกป้องมาตุภูมิและพลเมืองสหรัฐในต่างประเทศ

ป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์แพร่หลาย

คงไว้ซึ่งการเข้าถึงทางเศรษฐกิจ การทูต การทหารของสหรัฐในภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีสัดส่วนเศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3

รักษาความเป็นหนึ่งของสหรัฐในภูมิภาค

ปกป้องค่านิยมอเมริกันและเสรีภาพในประเทศ

อ่านเนื้อหาแล้วจับความว่าสหรัฐไม่ได้มองเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามสหรัฐและพันธมิตรมากนัก

และเห็นอินเดียเป็นชาติที่มีอิทธิพลในเอเชียใต้ที่ควรจะเป็นแกนนำในการรักษาความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดีย

เอกสารนี้วางจุดยืนให้สหรัฐสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อต่อต้านพฤติกรรมบ่อนทำลายอธิปไตยผ่านการบีบบังคับของจีน

ไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐระบุถึงความท้าทายด้านความมั่นคงของสหรัฐจากจีนเป็นหลัก

สหรัฐกลัวจีนเรื่องอะไรบ้าง?

 

เอกสารชุดนี้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิก

วิเคราะห์ว่าจีนมีเป้าหมายจะทำลายพันธมิตรและความร่วมมือของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิก

จีนต้องการฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จาก “สุญญากาศ” ในภูมิภาคนี้หากสหรัฐเอาตัวเองออกห่างไปจากเอเชีย

นักยุทธศาสตร์สหรัฐมองว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การทูต และการทหารของจีนจะเติบใหญ่อย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้

นั่นเท่ากับเป็นการท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้

เป็นที่มาของคำเตือนว่าจีนจะกดดันให้ไต้หวันผนวกรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่หนักขึ้นอย่างแน่นอน

แนวทางของวอชิงตันในการสกัดจีนต้องทำอะไรบ้าง?

 

เอกสารชุดนี้บอกว่าสหรัฐจะจับมือกับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันอย่างใกล้ชิดโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้จีนสร้างแสนยานุภาพทางกองทัพและยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น

ปฏิบัติการด้านทหารอย่างเดียวไม่พอ เอกสารบอกว่าสหรัฐจะต้องตอบโต้จีนทั้งทางด้านการค้าและการทหารไปพร้อมๆ กัน

สหรัฐยกตัวอย่างของจีนที่ใช้วิธีปฏิบัติทางการค้า “ที่ไม่เป็นธรรม” ซึ่งอาจทำลายตลาดโลก

อเมริกายังมองว่าจีนพยายามครอบครองเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ และชีวพันธุศาสตร์

สหรัฐบอกว่าการรุกคืบของจีนด้านต่างๆ เหล่านี้ “เป็นอันตรายต่อสังคมเสรีประชาธิปไตย”

มีหรือที่ผู้นำจีนได้อ่านเอกสารชุดนี้แล้วจะอยู่นิ่งเฉย

 

เกือบจะทันใดนั้นโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนก็ออกหมัดโต้ว่า

เนื้อหาของเอกสารพิสูจน์ให้เห็นว่าวอชิงตันมีความมุ่งร้ายต่อจีนและต้องการจะทำทุกอย่างเพื่อควบคุมจีน

จีนบอกว่าอเมริกาพยายามจะบ่อนทำลายความสงบและมั่นคงของภูมิภาค

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนประกาศว่า “เอเชีย-แปซิฟิกเป็นเวทีสำหรับให้สหรัฐและจีนเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นปะโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่สนามประลองหาคนแพ้ชนะ”

อ่านเอกสารแล้วจะเห็นว่าสหรัฐมองอินเดียเป็นหุ้นส่วนสำคัญของแนวนโยบายนี้

วอชิงตันต้องการจับมือกับอินเดียปกป้องความมั่นคงทางทะเลและตอบโต้อิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

ไม่ต้องสงสัยว่าอเมริกาพร้อมจะเสริมเขี้ยวเล็บทางทหารให้อินเดียเพื่อให้เป็นหุ้นส่วนหลักด้านการป้องกันผลประโยชน์ของสหรัฐ

แน่นอนว่าไต้หวันคือหัวข้อสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐในเอเชีย

เป็นที่มาของยุทธศาสตร์ขัดขวางไม่ให้จีนครอบงำน่านฟ้าและทะเลภายใน “สายโซ่วงล้อมชั้นแรก”

นั่นหมายถึงหมู่เกาะตลอดแนวของญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงเกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่ล้อมรอบชายฝั่งของจีน

เอกสารยังตอกย้ำถึงความจำเป็นที่อเมริกาจะช่วยให้ไต้หวันสามารถพัฒนายุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าไต้หวันจะปลอดภัย ไม่ถูกบีบบังคับ

และที่สำคัญคือ ไต้หวันต้องพร้อมรับมือกับจีนได้ด้วยตัวเอง

 

ต่อเกาหลีเหนือ เอกสารบอกว่าสหรัฐจะใช้วิธีน้าวโน้มให้เปียงยางเห็นว่าหนทางเดียวที่จะรอดจากหายนะคือการล้มเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐยังอยู่ที่การเพิ่มแรงกดดันเกาหลีเหนือทั้งทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร การบังคับใช้กฎหมาย และเครื่องมือด้านข้อมูลข่าวสาร

หนึ่งในมาตรการคือการเสริมแสนยานุภาพทางกองทัพให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

ทะเลจีนใต้ก็เป็นหัวข้อสำคัญในเอกสารชุดนี้

สหรัฐจะส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทความเป็นศูนย์กลาง (centrality) ของอาเซียนในด้านโครงสร้างความมั่นคง

จะช่วยเพิ่มความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน

และส่งเสริมโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิกที่เป็น”ทางเลือกที่น่าเชื่อถือ” แทนโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน

เห็นได้ชัดว่าอเมริกาเห็นโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับสหรัฐ

สหรัฐไม่ลืมที่จะให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน รวมทั้งการบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานทางการค้าและการลงทุนที่กำหนดโดยสหรัฐ เพื่อให้อาเซียนลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ตลอดช่วง 4 ปีของทรัมป์นั้นอาเซียนเห็นว่าสหรัฐ “เอาตัวออกห่าง” จากภูมิภาคนี้ไปอย่างชัดเจน

รัฐบาลโจ ไบเดน จะเขียน “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ใหม่ขึ้นมาทดแทนชุดความคิดของรัฐบาลทรัมป์อย่างไร อีกไม่นานก็ได้รู้กัน