วิเคราะห์ : ความน่าห่วงในการชุมนุมครั้งต่อไป กับคำถามถึง ตร.ไทย – มาตรฐานสากล?

มาตรฐานสากล?

 

กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH” ปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อน ใช้ยุทธวิธีชุมนุมแบบไร้แกนนำ

เปิดตัวกลุ่ม “รีเดม” (REDEM) ซึ่งมาจาก “Restart Democracy – สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้งไปด้วยกัน”

นัดชุมนุมครั้งแรกบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 1 ทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) ซึ่งภายในเป็นที่ตั้งของบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บรรยากาศคุกรุ่นตั้งแต่เริ่ม กลุ่มผู้ชุมนุมต้องทะเลาะกับตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนาม ด่าทอกระทบกระทั่งกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ กระทั่งอุณหภูมิไต่ระดับสู่ความรุนแรงในที่สุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง ตำรวจแถลงยืนยันขั้นตอนการใช้กำลังสกัดกั้นการชุมนุมไม่ว่าด้วยแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง ถล่มใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมนับพันคนจนได้รับบาดเจ็บระนาว ล้วนเป็นปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล

มาตรฐานสากล จริงหรือไม่

หรือเป็นเพียงปฏิบัติการสุมไฟเติมความขัดแย้ง กระตุ้นให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย สร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนฝ่ายเห็นต่าง

ภาพเคลื่อนไหวปรากฏผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์ แพร่กระจายไปทั่วโลก

เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างสิ้นข้อสงสัย

 

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “รีเดม” (REDEM) เป็นที่จับตา

เนื่องจากเป้าหมายอยู่ที่บ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายในกรมทหารราบที่ 1 ทหารมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) หรือที่เรียกกันว่า “ราบ 1”

บ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ อันเป็นเวลานัดหมาย จุดสตาร์ตอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้ชุมนุมมารวมตัวจำนวนมาก

ประเมินกันว่าเป็นการชุมนุมประชาชนจำนวนมากที่สุดหลังสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่บรรเทาเบาบางลง

เวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเดินเท้ามุ่งหน้า “ราบ 1”

แต่เมื่อผ่านดินแดง เลี้ยวเข้าสู่ถนนวิภาวดีฯ ก็ต้องเจอกับด่านแรก เมื่อเจ้าหน้าที่นำตู้คอนเทนเนอร์และลวดหนามมาตั้งขวางเป็นแนวยาวตั้งแต่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ไปจนถึงหน้าราบ 1

ผู้ชุมนุมกระจายตัวเข้าประชิดด้านหน้าราบ 1 ช่วยกันผลักดันเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์และตัดรื้อลวดหนาม

ก่อให้เกิดบรรยากาศเขม็งเกลียว ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวจัดกำลังพร้อมโล่

ระหว่างนั้นมีผู้พบเห็นชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ราว 100 คน ตัดผมสั้นเกรียน ในชุดลำลองเสื้อยืด กางเกงขายาว สวมใส่หมวกนิรภัยสีขาว เดินตรงมายังผู้ชุมนุม ก่อนเลี้ยวเข้าไปปักหลักภายในสโมสรทหารบก

สถานการณ์ยืดเยื้อจนเวลา 18.30 น. ความตึงเครียดที่สั่งสมมาตลอดช่วงบ่ายก็ปะทุเป็นความรุนแรง

ตำรวจควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. เคลื่อนแถวตั้งขบวนกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ล่าถอย จนเกิดการขว้างปาขวดน้ำจากฝั่งผู้ชุมนุมปลิวลอยเข้าใส่เจ้าหน้าที่ มีเสียงคำสั่งดังจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าจับกุมบุคคลที่ใช้อาวุธ

เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ขว้างแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมจนวิ่งหนีแตกกระเจิง ในจังหวะเดียวกันเจ้าหน้าที่อีกชุดก็ระดมยิงกระสุนยางเข้าใส่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมบาดเจ็บหลายราย พร้อมตะโกนตอบโต้ผู้พยายามห้ามปราม ไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

“กระสุนยางเขาใช้กันทั่วโลก”

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากครั้งก่อนๆ เพราะเป็นการใช้กระสุนยางครั้งแรกกับผู้ชุมนุมประท้วง ที่จำนวนไม่น้อยเป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษา

เจ้าหน้าที่ตำรวจขอคืนพื้นที่หน้า “ราบ 1” เป็นผลสำเร็จช่วงค่ำ

ปรากฏว่าผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังติดค้างอยู่ในอารมณ์โกรธแค้น จากการโดนถล่มด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ได้ย้ายมารวมตัวชุมนุมที่ สน.ดินแดง เนื่องจากมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนมาไว้ที่นี่

มีการขว้างปาขวดน้ำเข้าใส่โรงพักจนกระจกแตก มีการจุดไฟเผารถสายตรวจ

หลังการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ ตรวจสอบพบมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย เป็นเจ้าหน้าที่ 23 นาย ประชาชน 10 ราย

ผู้ชุมนุมถูกจับกุมทั้งสิ้น 23 ราย ถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี 19 ราย ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าว 1 ราย และ 4 รายเป็นเยาวชนอายุ 15-16 ปี

ทั้งหมดถูกดำเนินคดี 6 ข้อหา คือ 1.ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2.พ.ร.บ.โรคติดต่อ 3.มาตรา 215 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานร่วมกันมั่วสุมใช้กำลังให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

4.มาตรา 216 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก 5.มาตรา 140 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และ 6.มาตรา 296 ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทําการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว 18 ราย วงเงินคนละ 35,000 บาท รายที่เป็นผู้สื่อข่าวได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนของตำรวจ ส่วน 4 เยาวชน ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง ตำรวจออกมาชี้แจงถึงมาตรการสลายการชุมนุม ระบุเป็นไปตามมาตรฐานสากลทุกขั้นตอน

ไม่ว่าการใช้แก๊สน้ำตา หรือกระสุนยาง

“เจ้าหน้าที่ใช้ทุกอย่างตามมาตรฐานสากลในการควบคุมฝูงชน โดยจะเลือกใช้เมื่อจำเป็น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปยิงใคร ต้องดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไรถึงต้องใช้” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ระบุ

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ชี้แจงว่า กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนโยนก้อนหิน ประทัดยักษ์ ขว้างระเบิดปิงปอง มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ประกาศแจ้งเตือนแล้วก่อนเข้าปฏิบัติการ

“อุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงตาย พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน ถือเป็นครั้งแรกที่ใช้กระสุนยาง ซึ่งไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ต้องใช้ตามสถานการณ์ตามความจำเป็นเพื่อหยุดยั้งเหตุรุนแรง”

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ชี้แจงถึงกลุ่มชายผมสั้นเกรียน ใส่หมวกนิรภัยสีขาว ที่พบในพื้นที่การชุมนุม โดยยอมรับว่าเป็นกลุ่มตำรวจและทหารช่าง มีหน้าที่จัดเก็บและวางสิ่งกีดขวาง อาทิ ตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนามหีบเพลงเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความเห็นถึงมาตรการควบคุมสถานการณ์ของตำรวจว่า ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง รุกเข้ามาในพื้นที่ของตำรวจและรุกเข้ามาในพื้นที่หวงห้าม เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตามหลักสากล

“ถ้าไม่ทำแบบนี้จะอยู่กันอย่างไร ผมบังคับใครไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ทำอย่างไรบ้านเมืองจะมีความสงบ ก็แค่นั้นเอง”

เกี่ยวกับกระสุนยาง มีผลการวิจัยต่างประเทศ โดยสำนักข่าวบีบีซีเคยสัมภาษณ์ พญ.โรหิณี ฮาร์ ผู้นำทีมวิจัยและสมาชิกขององค์การแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถึงความรุนแรงของมันว่า

กระสุนยางมีแกนเหล็กห่อหุ้มด้วยยางด้านนอก หากยิงในระยะประชิด แม้จะเล็งเป้าหมายได้ดีกว่า แต่จะมีพลังรุนแรงเท่ากับกระสุนจริง เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถ้าเล็งยิงในระยะห่างออกไป ความแม่นยำจะลดลง พลาดเป้าได้ง่าย

ทำให้บ่อยครั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตคือคนรอบข้างที่ถูกลูกหลง

ฟังอีกด้านจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

“ผมได้ดูคลิป มีคนที่เมื่อขว้างปาระเบิดหรือวัตถุแล้วก็หลบไปอยู่หลังแนวตำรวจ หรือแนวประชาชน เหมือนมีความพยายามต้องการจุดชนวน เหตุใดตำรวจจึงปล่อยคนลักษณะนี้ไว้ไม่ดำเนินการ หรือเพื่อเป็นข้ออ้างใช้ความรุนแรงจัดการกับประชาชน”

ประชาชนไปร่วมชุมนุมอย่างสันติ หากเจอใครที่ใช้ความรุนแรงหรืออาวุธ ตำรวจก็สามารถมาควบคุมตัวไปดำเนินคดีได้อยู่แล้ว

นพ.ทศพร ซึ่งเปิดแถลงกรณีมีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม 28 กุมภาพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่อยู่ในเหตุการณ์ เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงกันหลายครั้ง แม้กระทั่งตอนประชาชนกำลังทยอยเดินกลับ ตนเองพยายามทำให้เหตุการณ์สงบหลายครั้ง แต่กลับมีความรุนแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ

“คุณเก่งที่มาร่วมแถลง เป็นคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้ความรุนแรงในวันดังกล่าว โดนยิงที่ศีรษะ ผมก็โดนแก๊สน้ำตาเข้าไปเต็มๆ”

เหตุการณ์วันที่ 28 กุมภาพันธ์ จึงเป็นสัญญาณอันตราย ส่อให้เห็นแนวโน้มการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุม อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในการชุมนุมครั้งต่อๆ ไป

การยืนกรานถึงขั้นตอนการใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ชิงลงมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมปราศจากอาวุธ ว่าเป็นปฏิบัติการตามมาตรฐานสากลด้วยแล้ว จึงเสมือนการเติมฟืนสุมไฟความโกรธแค้นให้ลุกโชน

การชุมนุมครั้งต่อไปมีความเป็นไปได้ที่ผู้ชุมนุมจะอยู่ในอารมณ์ “พร้อมบวก” หากฝ่ายรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ปฏิบัติการที่พูดเองเออเองว่าเป็น “มาตรฐานสากล” กับผู้ชุมนุมเหมือนวันที่ 28 กุมภาพันธ์

ผลที่ตามมาอาจรุนแรงเกินกว่าที่ทั้งสองฝ่ายคาดการณ์

เสี่ยงต่อการเกิดความสูญเสียเป็นอย่างยิ่ง