รัฐประหารพม่า เครื่องสะท้อนท่าที-เจตนา ‘ความเป็นเจ้าอำนาจ’ ของจีน / บทความพิเศษ

สถานการณ์การเมืองในพม่าได้บรรจบครบ 1 เดือน นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารโดยกองทัพพม่าโค่นรัฐบาลพลเรือนและตามด้วยการต่อต้านขนาดใหญ่จากชาวพม่าทั่วประเทศ จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างหนักจากอุปกรณ์ปราบจลาจลปกติสู่การใช้อาวุธสงครามยิงใส่ประชาชน จนตอนนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 ราย บาดเจ็บหลายสิบและถูกจับกุมแล้วกว่าพันคน

ความรุนแรงทางการเมืองในพม่า กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ฟากหนึ่งประณามการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าอย่างชัดเจนคือชาติกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐ โดยเฉพาะสหรัฐมีท่าทีชัดเจนและดำเนินแล้วผ่านประกาศคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่าและขึ้นบัญชีดำคณะรัฐประหาร

ส่วนไทยและอาเซียน ก็กลายเป็นประเด็นที่มีต่อจุดยืน หลังปรากฏภาพการพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับ รมว.ต่างประเทศชุดรัฐบาลทหารพม่าจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนของไทยและขยายความไม่พอใจทั้งฝ่ายประชาธิปไตยในไทยและชาวพม่า

อย่างไรก็ตาม มีฝ่ายที่วางตัวเชิงสนับสนุนแม้ไม่ออกตัวเต็มที่แต่ออกมาป้องปรามไม่ให้ชาติใดแทรกแซงการเมืองภายในนั้นคือ รัสเซีย และ “จีน”

โดยเฉพาะจีน มีมิติความสัมพันธ์กับพม่ามาทั้งรัฐบาลทหารจนถึงรัฐบาลพลเรือน

แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้น กำลังแสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดขึ้นของจีนต่อพม่า

 

ย้อนก่อนการรัฐประหารไปช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนพม่า เข้าพบนายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในห้วงกระแสข่าวโหมโจมตีรัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายเหนือพรรคยูเอสดีพีของกองทัพพม่าเมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้วว่า จัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใส

ตามรายงานของนิกเคอิ เอเชีย ระบุนายพลมิน อ่อง ลาย กล่าวถึงเลือกตั้งไม่โปรงใส นายหวังตอบกลับว่ากองทัพพม่าควรแสดงบทบาทที่ถูกต้องและเป็นผลบวกต่อประเทศ ซึ่งมีการตีความว่า จีนได้ไฟเขียวกับกองทัพพม่า และนายหวังยังกล่าวว่าจีนหวังอย่างยิ่งที่กองทัพพม่าจะสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์พม่า-จีนให้ดีขึ้น

พอกองทัพพม่าทำการรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จีนได้ยืนยันจุดยืนสนับสนุนพม่าผ่านพาดหัวในสื่อหัวสีของทางการจีน ด้วยการนิยามการใช้กำลังทหารโค่นรัฐบาลพลเรือนในพม่าว่าเป็น “การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่” ไม่ใช้คำว่า “รัฐประหาร” เหมือนสื่อชาติอื่น

ไม่นับการแสดงท่าทีขัดขวางในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นที่จะออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในพม่า

หากตีความท่าทีของจีนต่อเรื่องนี้ จีนรับรู้ว่าจะเกิดการรัฐประหารในพม่าและออกมาสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าอย่างเปิดเผย

 

การออกมาสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใจ เพราะจีนมีเป้าหมายแน่นอนบนฐานผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาตร์ของตัวเอง โดยรื้อฟื้นแนวทางให้พม่าหันมาพึ่งพิงจีน ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าจะช่วยเรื่องสัมปทานธุรกิจด้านเหมืองแร่และพลังงานที่บริษัทจีนไปลงทุนไว้นานแล้ว รวมถึงการผลักดันระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปมละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมโรฮิงญา เพราะพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอาศัย เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และพื้นที่เหล่านี้จะถูกใช้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ความสัมพันธ์ของจีนเองก็เป็นไปด้วยดีในสมัยรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี แต่การเปิดโลกกว้างที่รับการลงทุนจากชาติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐ และอินเดีย เมื่อมีหลายชาติมาลงทุนในพม่า จึงไม่ใช่เรื่องดีสำหรับจีนที่มีคู่แข่งจากที่อื่นมาแย่งสัดส่วนในพม่า

เมื่อเกิดการรัฐประหาร หลายชาติออกมาประณามและตัดความร่วมมือกับทางธุรกิจหลายส่วนที่ควบคุมแบบเบ็ดเสร็จโดยกองทัพพม่า กลายเป็นโอกาสให้จีนเข้ามาเสียบแทนนักลงทุนชาติอื่นที่ถอนตัวเพราะเรื่องการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

 

อย่างไรก็ตาม การประท้วงจากชาวพม่าขยายตัวและเป็นเอกภาพมากขึ้น ทำให้กองทัพพม่าต้องใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก แต่เรื่องการปราบปรามประชาชนพม่า จีนเองมีส่วนกับเรื่องนี้หรือไม่?

มีรายงานแหล่งข่าวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ระบุถึงสายการบินจากจีนมาพม่ากว่า 3 เที่ยว โดยเครื่องบินลำดังกล่าว บรรทุกอุปกรณ์ปราบจลาจลจำนวนมาก คาดว่าจะนำมาให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่าใช้เพื่อสลายการชุมนุม

หรืออีกกรณีที่เว็บไซต์ เดอะ แอตแลนติก รายงานว่า ชาวพม่าได้รวมตัวประท้วงหน้าสถานทูตจีนในนครย่างกุ้ง ทั้งจากการออกมาสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่า และยังมีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดว่า จีนกำลังช่วยรัฐบาลพม่าพัฒนาระบบไฟน์วอลล์ แนวเซ็นเซอร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ แบบเดียวกับระบบเซ็นเซอร์ของจีนที่ใช้ควบคุมข่าวสารในประเทศ

ทั้งนี้ แม้จีนจะแสดงตัวในฐานะผู้รับรองความชอบธรรมในทางพฤตินัยให้กับรัฐบาลทหารพม่า แต่กองทัพพม่าก็ไม่อาจวางใจจีนเพราะท่าทีในการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยในรัฐที่ติดกับจีน เพราะจีนก็มีธุรกิจด้านพลังงานอย่างแนวท่อส่งก๊าซจากอ่าวเบงกอลมายังคุนหมิง และแนวท่อพาดผ่านรัฐชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มด้วย จึงต้องสร้างหลักประกันรักษาผลประโยชน์

ไม่ว่ากองทัพหรือฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าจะพยายามมีระยะห่างกับจีนยังไง จีนยังคงมุ่งสร้างฐานอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองเพื่อเป้าหมายใหญ่เหนือกว่าใส่ใจว่า พม่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการทหาร