ปรับ ครม.อีกบททดสอบใหม่ หรือแค่เรื่องวุ่นๆ ใน รบ.ประยุทธ์ สุดท้าย ไทยชนะ หรือใครชนะ…รู้กัน / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ปรับ ครม.อีกบททดสอบใหม่

หรือแค่เรื่องวุ่นๆ ใน รบ.ประยุทธ์

สุดท้าย ไทยชนะ หรือใครชนะ…รู้กัน

 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมองว่าเป็นความหละหลวมของรัฐบาลอันเนื่องมาจากปัญหาคอร์รัปชั่นของคนภาครัฐเอง ที่ปล่อยให้เกิดการลักลอบนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้มีการรวมตัวของคนหมู่มากแอบเล่นการพนักในบ่อนที่ผิดกฎหมาย

ส่งผลกระทบให้คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า!

วนกลับมาเหมือนฉายหนังซ้ำ หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก เกิดการเลิกจ้างงาน รัฐบาลจึงต้องเร่งออกมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือ และดูแล ประเดิมด้วยโครงการ “เราชนะ” ที่ทุ่มงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อดูแลเป้าหมาย 31.1 ล้านคน โดยโอนเงินเข้ากระเป๋าประชาชน รายละ 7,000 บาท

ซึ่งยังไม่รวมการเยียวกลุ่มแรงงานในระบบ ประกันสังคม มาตรา 33 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เตรียมคลอดโครงการตามออกมา

 

โครงการเยียวยา เราชนะ รัฐบาลคิดการใหญ่ ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้าช่วย เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 และให้ประชาชนปรับตัวใช้เทคโนโลยี รองรับสังคมไร้เงินสดในอนาคต ตั้งแต่การลงทะเบียน การคัดกรองสิทธิโดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ในระบบ ทั้งข้อมูลโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และข้อมูลผู้ที่ใช้ระบบชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ (g-wallet) ในแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ แต่ข้อมูลไม่ได้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ จึงยังต้องมีการลงทะเบียนสำหรับผู้ไม่มีฐานข้อมูลใดๆ

ส่วนรูปแบบการใช้จ่าย คือ การสแกนจ่ายผ่านแอพพ์เป๋าตัง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจำเป็นจะต้องมีสมาร์ตโฟนที่ใช้งานแอพพ์ได้และมีแพ็กเกจอินเตอร์เน็ต

ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวทำให้ประชาชนบางส่วนเรียกร้องว่ากลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะทำอย่างไร

แต่รัฐกลับมองว่า คนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนนั้นน่าจะหมายถึงคนมีรายได้น้อย รัฐบาลมีโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายผู้มีรายได้น้อยอยู่และได้รับสิทธิในโครงการเราชนะอัตโนมัติ

ดังนั้น ผู้ไม่มีสมาร์ตโฟนน่าจะมีเพียงไม่กี่แสนคน

แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่กลุ่มไม่ใช้สมาร์ตโฟน ไม่ได้หมายความจะอยู่ในระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเสมอไป!

เมื่อเปิดลงทะเบียนให้กลุ่มนี้ ภาพที่ไม่เคยอยู่ในหัวของรัฐบาลมาก่อน ก็เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มไม่ใช้สมาร์ตโฟนมีมากมายกว่าที่คาด จนเห็นภาพแห่ไปต่อคิวรอลงทะเบียนสาขาธนาคารกรุงไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ แบบไม่กลัวโควิด

เพราะกลัวอดตายมากกว่า

 

ภาพที่เห็น สะท้อนว่ายังมีคนเข้าไม่ถึงโครงการของรัฐอีกมาก

เดือดร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงสั่งการด้วยตัวเอง ให้กระทรวงการคลังหาวิธีขยายและเพิ่มจุดรับลงทะเบียนเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมที่สุดด้วย

การลงทะเบียนในช่วงวันที่ 15-21 กุมภาพันธ์ 2564 รวมเป็น 7 วัน ตัวเลขยอดเพิ่มขึ้นเรื่อย จนอยู่ที่ 5 แสนกว่าคน ซึ่งดูไม่สอดคล้องกับความคิดของรัฐบาลว่ากลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟนมีเพียงไม่กี่แสนคน จนต้องขยายจุดลงทะเบียน โดยดึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคลังจังหวัด สรรพสามิตพื้นที่ และสรรพากรพื้นที่ เปิดจุดบริการรับลงทะเบียน รวมแล้วมากกว่า 3,500 แห่งทั่วประเทศ

จาก 7 วันแรกเปิดลงทะเบียน มียอดคนขอใช้สิทธิร่วมครึ่งล้าน จนล่าสุด 1 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนถึง 1.8 ล้านคน มากกว่าจำนวนที่รัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ มีกลุ่มที่ตกหล่น และยังไม่เข้าถึงการใช้สมาร์ตโฟนจำนวนมาก

กลายเป็นงานชิ้นใหญ่ที่รัฐบาลต้องทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกครั้ง หลังจากทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 เพราะยังมีกลุ่มตกหล่นที่ยังไม่ได้รับการดูแล

 

นอกจากเป็นโครงการที่ผลักภาระให้ทุกคนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีแล้ว โครงการยังมีช่องโหว่อีกมากมาย เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือที่เป็นดาบสองคม เมื่อไม่ให้เงินสด ก็มีคนคิดกลโกง รับแลกเงินสดกันสนุกมือ จนรัฐบาลต้องตามแก้ วิ่งไล่จับคนโกง เพิ่มงาน เพิ่มภาระ เพิ่มงบประมาณ รวมทั้งปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก เรื่องแอพพ์ล่มที่เกิดขึ้นทุกวัน วนเวียนซ้ำซาก เพราะระบบยังพัฒนาไม่ถึงจุดที่จะรองรับคนทีเดียวพร้อมๆ กันนับสิบล้านคน

แม้ปัญหาจะรุมเร้าเข้ามา แต่ก็ยังมีความหวัง เมื่อทั่วโลกกำลังมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการเริ่มแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งไทยเองการนำเข้าวัคซีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ล็อตแรกแล้วจาก 2 แบรนด์ คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า มีแผนแจกจ่ายให้ประชาชนตลอดกลางปีนี้ คาดว่าจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รายได้ส่วนสำคัญของประเทศให้เริ่มฟื้นตัว

กระทรวงการคลังประเมินว่า การที่นำเข้าวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มขึ้น และกลับมาใช้จ่ายเงินมากขึ้น

รวมทั้งรัฐบาลได้เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่ในช่วงเดือนเมษายนนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยรัฐบาลยังคงต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองก็กำลังร้อนแรง หลังศาลมีคำพิพากษาคดีการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ทำให้ 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม พ้นจากตำแหน่งทันที

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องปรับ ครม. หาคนมาทำหน้าที่รัฐมนตรีในตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งคาดกันว่างานนี้มีเก้าอี้ดนตรีแน่นอน

โควิดก็สาหัส เศรษฐกิจก็บอบช้ำ แถมการเมืองเข้ามาซ้ำอีก เป็นงานหนักให้รัฐบาลตามแก้ไข หาทางออกให้ประเทศไทยที่กำลังฟื้นตัว ให้สมกับไทยชนะ ได้หรือไม่

สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะชนะไปด้วยกันไหม คงต้องติดตามกันต่อไป