สองเสือแดนเถื่อน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

สองเสือแดนเถื่อน

 

เรามักจะลืมไปว่า อาชีพที่เก่าแก่กว่าโสเภณีคือปล้นสะดม

ถ้าดูจากร่องรอยที่นักมานุษยวิทยาสำรวจ แม้ในสังคมล่าสัตว์-เก็บเกี่ยว ก่อนที่จะเพาะปลูกอาหาร ก็มีการปล้นสะดมแล้ว เพื่อปกป้องหวงแหนหรือแย่งชิงอาณาเขตล่าสัตว์ หรือแก้แค้นแทนญาติที่ถูกฆ่าตายไป เมื่อชนะแล้วก็สามารถยึดครองแหล่งอาหารไว้เป็นของตนได้

แหล่งอาหารนั่นแหละครับคือทรัพย์สินของสังคมแบบนั้น เพราะในชุมชนที่ต้องเดินทางเพื่อหากินอยู่เสมอ ทรัพย์สินทุกชนิดคือความรุงรังที่เป็นภาระต้องขนย้ายทุกครั้งที่อพยพหาอาหารแหล่งใหม่ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นให้ปล้น

และเพราะการสะสมทรัพย์สินเป็นไปได้ยาก ผมจึงอยากเดาว่าอาหารน่าจะถูกกระจายไปในชุมชนอย่างทั่วถึงกว่าในสังคมที่หากินแบบอื่น (เพราะสะสมไม่ได้ เราก็พร้อมจะแบ่งปันมากขึ้น) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากระจายไปอย่างเท่าเทียม ในสังคมกึ่งบรรพการทั้งหลายที่เหลือตกทอดมาให้ได้ศึกษานั้น เราพบเสมอว่า อาหารไม่ได้ถูกกระจายไปอย่างเท่าเทียมกัน แต่ผู้มี “สถานะ” สูงทางการเมือง เช่น หัวหน้าหรือนักบวชมักได้ส่วนแบ่งที่ดีกว่า (เช่น ตะโพกขาสัตว์) และมากกว่า หรือผู้ล่ามักได้สิทธิพิเศษในเนื้อสัตว์ที่ล่าได้

แม้กระนั้น คนอ่อนแอเช่นเด็ก หรือคนแก่ ก็ไม่อด มีเศษมีเลยแจกจ่ายมาถึงบ้าง นอกจากนี้ อาหารโปรตีนซึ่งแม้แต่เด็กก็อาจหาได้ย่อมมีในเขตใกล้ชุมชนนั้นเอง เช่น หอย, แมลง, หนอน ฯลฯ เป็นต้น

 

ความเก่าแก่ของอาชีพโสเภณี มักถูกใช้เป็นข้ออ้างว่ามันดำรงอยู่คู่กับมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ จนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะ จะยกเลิกหรือขจัดออกไปไม่ได้เป็นอันขาด ผมก็อยากพูดอย่างเดียวกันนี่แหละครับว่า การปล้นสะดมซึ่งเก่าแก่กว่าอาชีพโสเภณีเสียอีก ก็อยู่คู่เคียงกับมนุษย์มานาน และขจัดได้ยากไม่ต่างจากกัน

ปล้นสะดมคือทำอะไร ผมขอนิยามว่าคือการเรียกเอาหรือถือเอาซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยกำลัง เรื่องใช้กำลังหรือขู่จะใช้กำลัง ย่อมแยกการปล้นสะดมออกจากการลักขโมย ซึ่งก็น่าจะเป็นอาชีพที่เก่าแก่กว่าโสเภณีอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น คนที่จะทำการปล้นสะดมได้จึงต้องมีกำลัง และคนที่มีกำลังเหนือคนทั่วไปที่สุดคือรัฐและพ่อค้า การปล้นสะดมจึงสัมพันธ์กับรัฐและพ่อค้าสืบมาอีกนาน ทั้งปล้นเขาและโดนเขาปล้น

พ่อค้าที่จะมีกำลังมากไม่ใช่พ่อค้าท้องถิ่น เช่น แคะขนมครกขายในเมืองเล็กๆ จะหากำลังที่ไหนไปปล้นสะดมเขาได้ แต่คือพ่อค้าทางไกล ซึ่งต้องรวบรวมกำลังมาก (ด้วยการร่วมมือกันหรือการจ้าง) เพื่อป้องกันความปลอดภัยของตนเอง แล้วเลยใช้กำลังนั้นไปสร้างความไม่ปลอดภัยให้คนอื่น

แต่กำลังอย่างเดียวยังเป็นเงื่อนไขไม่เพียงพอให้ปล้นสะดมได้ ต้องอาศัยเงื่อนไขอื่นอีกหลายอย่าง เช่น การปล้นสะดมบนเส้นทางการค้าประจำของตนเอง ย่อมไม่ปลอดภัยในระยะยาว เพราะปีหน้าก็ต้องใช้เส้นทางนั้นอีก ทรัพย์สินที่เหมาะแก่การปล้นสะดมต้องเป็นทรัพย์สินที่แลกเปลี่ยนได้ง่าย ต้องไม่เป็นสินค้าที่กินระวางสูง และดาษดื่นซึ่งทำให้มีมูลค่าไม่มาก (เช่น ปล้นข้าวจากชุมชนพื้นราบไปขายชุมชนบนที่สูง ไม่น่าจะทำรายได้ดีนัก เพราะต้องใช้กำลังคนในการขนมาก ซ้ำยังต้องกินข้าวไปเสียอีก) มีที่เปลี่ยวในป่าดงซึ่งเหมาะสำหรับทำการปล้นสะดม มีแหล่งปลอดภัยของตนเองเพื่อใช้ชีวิตตามปรกติได้ หรือที่เรียกว่าชุมโจร

ฉะนั้น เหยื่อที่เหมาะที่สุดสำหรับการปล้นสะดมคือพ่อค้าด้วยกันเองนี่แหละ เพราะมักมีทรัพย์สินที่ตรงสเป๊กกว่าใครอื่น เดินสวนกับกองคาราวานที่ไม่คุ้นหน้าคุ้นตา เพราะไม่ได้มาจากชุมชนพ่อค้าเดียวกัน พึงเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อระวังไม่ให้เขาปล้น หรือเพื่อปล้นเขา

 

รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปล้นสะดมตรงนี้ในนามของการรักษาป้องกันมิให้เกิดการปล้นสะดม แต่ไม่ได้ทำฟรี รัฐมักเรียกค่าบริการจากพ่อค้าในนามของภาษีหรือสิทธิพิเศษต่างๆ (เช่น บังคับซื้อสินค้าในราคาถูกเพื่อเอาไปขายต่อในราคาแพง ในหลักฐานของล้านช้าง พ่อค้าลาวเคยใช้อยุธยาเพื่อส่งออกสินค้าของตนทางทะเล แต่โดนกรมพระคลังบังคับซื้อในราคาถูกเสียจนในที่สุดต้องย้ายเมืองท่าส่งออกของตนจากอยุธยาไปยังละแวกในกัมพูชาแทน)

ในชุมชนคะฉิ่นที่อยู่ตอนเหนือของพม่าปัจจุบัน หัวหน้าเผ่าเรียกเก็บค่าผ่านทางกับพ่อค้า หากไม่จ่ายก็พาพรรคพวกปล้นสะดมเสียเองเลย ถ้าเราเรียกชุมชนเหล่านี้ว่าเป็น “รัฐ” ก็นับว่ารัฐคะฉิ่นทำงานอย่างตรงไปตรงมาดีกว่าอยุธยาหรืออังวะเสียอีก

รัฐจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปล้นสะดม ทั้งป้องกันการปล้นสะดมและปล้นสะดมเอง

 

หันกลับมาสู่การค้าทางทะเลบ้าง การค้ากับการปล้นแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ ทะเลปลดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะแก่การปล้นสะดมไปหลายเรื่อง เรือลำใดไม่มีทรัพย์สินอันเหมาะสมให้ปล้น ก็อาจจับคนไปขายเป็นทาสหรือเรียกค่าไถ่ได้ แน่นอนว่าโจรสลัดมักมีชุมของตนเองซึ่งปลอดภัยจากการรังควาญของรัฐหรือโจรสลัดก๊กอื่น

แต่เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่ของโจรสลัดไม่ได้ทำอาชีพโจรสลัดเพียงอย่างเดียว อาชีพหลักคือพ่อค้าทางไกลนี่แหละ สบโอกาสจะปล้นเรือลำอื่นได้ก็มักปล้น เพื่อเพิ่มกำไรในการค้า ในโลกตะวันออก รัฐมักไม่อนุญาตให้เรือพ่อค้าติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเองได้มากนัก เพราะเกรงว่าจะใช้อาวุธนั้นมาบุกรุกทำร้ายไพร่บ้านพลเมืองของตนเอง (ดังประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุง-สงขลาที่ถูกโจรสลัดเข้ามาปล้นสะดมชุมชนตามชายฝั่งจนอยู่ไม่ได้ แต่โจรสลัดเหล่านั้นก็เป็นพ่อค้าชายฝั่งอยู่ด้วย) มีหลักฐานว่าสำเภาหลวงในสมัยอยุธยาและบางกอก ที่ไปค้าเมืองจีน ขากลับมาถูกปล้นระหว่างทางจนไม่เหลือเงินเข้าท้องพระคลังเลยก็มี (ถูกปล้นจริงหรือเป็นวิธีเบี้ยวเงินหลวงไม่ทราบได้)

แต่ก็มีเหมือนกันที่รัฐบางแห่ง เช่น รัฐที่เคยตั้งอยู่บนเกาะสุลาเวสีและกาลิมันตัน (เซเลเบสและบอร์เนียว) แข่งขันทางการค้ากับเมืองท่าอื่น โดยการส่งเรือออกปล้นสะดมสำเภาและกำปั่นที่จะไปจอดแวะยังเมืองท่าคู่แข่ง จนกลายเป็นโจรสลัดลือชื่อของทะเลแถบนั้น

 

ทั้งหมดเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้รัฐในโลกตะวันตกติดอาวุธให้กำปั่นค้าขายของตนเอง แต่เพื่อให้สามารถควบคุมได้ ก็มักตั้งเป็นบริษัทการค้าที่รัฐให้ตราตั้งหรือหนุนหลัง มีกำลังของตนเองพร้อมสรรพ เพื่อเดินเรือค้าขายในระยะไกลได้อย่างปลอดภัยจากโจรสลัด

ยิ่งไปกว่านั้น ในยามสงคราม รัฐก็อาจอุดหนุนโจรสลัดของตนให้ปล้นสะดมเรือของศัตรู เซอร์โน่นเซอร์นี่ของอังกฤษหลายคนคือโจรสลัดดีๆ นี่เอง งานหลักคือปล้นสะดมเรือสเปนจากอเมริกาใต้ที่บรรทุกเหรียญเงินมาส่งให้แก่ราชสำนักสเปน แต่โจรสลัดเหล่านี้ปล้นแล้วก็นำเอาเหรียญเงินส่วนที่ไม่ได้เอาเข้ากระเป๋าตัวเองมาถวายแก่กษัตริย์อังกฤษ กลายเป็นวีรบุรุษที่ทำความดีความชอบไปเสียอีก

โดยสรุปก็คือ ใครแผ่อำนาจรัฐลงไปในท้องทะเลได้กว้างไกล ก็สามารถขจัดโจรสลัดเอกชนลงได้หมด เหลือแต่โจรสลัดของรัฐเท่านั้น ประวัติของยุคอาณานิคมในเอเชีย, แอฟริกา และละตินอเมริกาก็คือการปล้นสะดมโดยโจรสลัดของรัฐ หรือที่เรียกในภาษาสเปนว่า Conquistadores หรือผู้ยึดครอง ฟังดูเหมือน “อัศวิน” แต่ทำงานอย่างโจรสลัดแทนที่จะเป็นผู้ปกป้องผู้หญิงน่ารักๆ อย่างเคยในสมัยกลาง

 

การปล้นสะดมของรัฐอีกอย่างหนึ่งที่ผมควรกล่าวไว้ด้วยก็คือสงคราม เพิ่งมาถึงสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง ที่ฝ่ายแพ้ไม่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม แม้จะถูกยึดครอง แต่ก็เป็นการยึดครองที่ประกาศไว้แต่ต้นว่าจะปลดปล่อยในเวลาต่อมา แต่ก่อนหน้านั้นขึ้นไป สงครามคือการปล้นสะดม ช่วงชิงเอาดินแดนของผู้แพ้ (ซึ่งรวมผู้คนบนดินแดนนั้นด้วย) จนกระทั่งประเทศทั้งประเทศอาจหายไปจากแผนที่เลย เช่น โปแลนด์ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร ลัทธิล่าเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกก็คือการปล้นทั้งดินแดน, ทรัพยากร, แรงงาน และตลาดนั่นเอง

สงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่ใช่การปล้นสะดมดินแดนอย่างชัดเจนเช่นนั้น แต่ “ริบทรัพย์จับเชลย” คือเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการทำสงคราม จะว่าไปเป็นลักษณะเด่นของสงครามด้วยซ้ำ

ผมขอพูดถึงการปล้นอย่างหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ในสงครามที่ทำกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งในแถบบ้านเราและในยุโรป นั่นคืออาหาร กองทัพขนอาหารไปได้ไม่มากนัก และระบบการขนส่งไม่ดีพอจะส่งอาหารไปเลี้ยงกองทัพได้ตลอด อาหารคือสิ่งที่ต้องปล้นสะดมเอาจากชาวบ้านข้างหน้า ในพม่า มีกฎว่าทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพต้องขนเสบียงไปให้พอกินเป็นเวลา 15 วัน หลังจากนั้นกองทัพก็น่าจะเดินทางเข้าเขตของข้าศึกแล้ว อาหารพึงหาได้จากชาวบ้านในแดนข้าศึกด้วยการปล้นสะดม

ผมไม่ทราบว่าไทยมีกฎเช่นนั้นหรือไม่ แต่แน่ใจว่ากองทัพไทยก็ต้องปล้นสะดมอาหารเหมือนกัน กองทัพฝรั่งในยุโรปก็ทำอย่างเดียวกัน นโปเลียนนั้นรบกับใครในยุโรปตะวันตกและยุโรปกลาง ก็เอาชนะได้ทุกทีไป แต่พอรบกับรัสเซียซึ่งอยู่ในยุโรปตะวันออกก็แพ้ และหนึ่งในเหตุผลที่ต้องแพ้ก็เพราะรัสเซียกว้างใหญ่ไพศาลมาก หมู่บ้านและเมืองอยู่ห่างกันไกล เมื่อเริ่มเคลื่อนเข้าสู่รัสเซีย กองทัพนโปเลียนจึงอดอยากเพราะหิวเสียก่อนจะได้ปล้นอาหารมากิน ยิ่งในภายหลังแม่ทัพรัสเซียใช้ยุทธวิธีเผาทำลายทุกอย่างลงก่อนอพยพชาวบ้านหนี แม้แต่ม้าของกองทัพนโปเลียนก็ผอมโกร๊ก ต้องกินหลังคาบ้านที่เหลือจากเพลิง (ซึ่งมักทำด้วยหญ้าแห้ง)

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่ทหารของกองทัพที่ชนะมักจะกวาดเก็บเอากลับบ้าน คนอยุธยารู้เรื่องนี้ดี จึงพากันเอาทรัพย์สมบัติของตนฝังดินไว้ตั้งแต่ก่อนกรุงแตก

 

สงครามของกษัตริย์อาจหมายถึงพระบรมเดชานุภาพ แต่ของชาวนาที่ถูกเกณฑ์ไปรบ คือโอกาสของการปล้นสะดมได้อย่างเสรี

สองเสือนักปล้นผู้ยิ่งใหญ่ คือรัฐและพ่อค้า ซึ่งอยู่คู่เคียงในสังคมมนุษย์มานานนี้ ต่างเรียกเอาหรือยึดเอาซึ่งทรัพย์สินของผู้คนตลอดมา แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ความคาดหวังของผู้คนที่มีต่อรัฐเปลี่ยนไป จากรัฐซึ่งมีคนจำนวนน้อยเป็นเจ้าของ กลายเป็นรัฐซึ่งทุกคนเป็นเจ้าของเสมอกันหมด หรือเป็นรัฐชาติ รัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชนจากไอ้เสือพ่อค้า เช่น รักษาให้ตลาดมีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่มีไอ้เสือตัวใดมีอำนาจเหนือตลาดเพราะสินบาทคาดสินบนที่กระจายให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรผู้บริโภคได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เพื่อตรวจสอบและรักษาความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค และ ฯลฯ

แต่รัฐที่หยุดการปล้นสะดม และกลายเป็นกลไกปกป้องประชาชนจากไอ้เสือพ่อค้าได้จริง ต้องเป็นรัฐประชาธิปไตย ที่อำนาจของผู้ปกครองได้รับความยินยอมพร้อมใจของประชาชน มีวาระที่ต้องกลับไปหาการตัดสินใจของประชาชนอยู่เสมอ เพราะในรัฐประเภทอื่น ผู้ปกครองมักโอนอ่อนให้แก่ไอ้เสือพ่อค้ามากกว่าประชาชน เพราะไอ้เสือพ่อค้าย่อมทำประโยชน์ในหลายๆ ทางให้แก่ผู้ปกครองมากกว่าประชาชน ซึ่งไม่มีอำนาจที่จะให้ความยินยอมพร้อมใจแก่ผู้ปกครองได้

ไอ้เสือรัฐและไอ้เสือพ่อค้าจะหยุดปล้นสะดมได้ก็แต่ในรัฐชาติที่แท้จริงเท่านั้น คือรัฐที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยนั่นเอง