วัคซีนโควิด-19 กับแนวคิด เรื่องพาสปอร์ตวัคซีน : ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

วัคซีนโควิด-19

กับแนวคิด

เรื่องพาสปอร์ตวัคซีน

 

ถึงวันนี้ มีผู้คนได้รับวัคซีนกันไปแล้วกว่า 200 ล้านโดส!

การแข่งขันที่ดุเดือดในสมรภูมิวัคซีน ทำให้มีการทดลองในระดับคลินิกกระจายเกิดขึ้นไปสารพัดที่ทั่วโลก

แต่ละที่ก็จะให้ตัวเลขบ่งชี้ประสิทธิภาพของแต่ละวัคซีนนั้นที่แตกต่างกัน

มีตั้งแต่ที่ดีเลิศประเสริฐศรีระดับ 94-95 เปอร์เซ็นต์ อย่างของ Pfizer ไปจนถึงราวๆ 70 เปอร์เซ็นต์ของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) หรือดิ่งลงมาราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของบางยี่ห้อ

ถ้าให้ตัดสินแบบไม่คิดอะไรมากว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน เราคงเลือกดูแค่ประสิทธิภาพแล้วบอกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ต้องดีกว่า 70 และต้องดีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอนตามลำดับ

แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่ทำให้ผลของการทดสอบนั้นแกว่งแบบสุดๆ และเทียบกันไม่ได้ ทั้งอายุของกลุ่มตัวอย่าง เชื้อชาติ พื้นฐานทางพันธุกรรม พื้นที่ที่ฉีด มาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่ และสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาดอยู่ในเวลานั้น เป็นต้น

ดังนั้น การเอารายงานประสิทธิภาพของวัคซีนว่ายับยั้งโรคได้กี่เปอร์เซ็นต์มาวางเรียงเทียบกันแบบตัวต่อตัว จึงไม่สามารถบอกได้เลยว่าวัคซีนไหนจะดีกว่าตัวไหน!

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณถามว่าวัคซีนยี่ห้อใดที่ดีและน่าใช้ที่สุด? คำตอบที่นักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่เข้าใจในกระบวนการทดสอบวัคซีนจะตอบ ก็คือ “ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้”

แต่ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ เราอาจจะต้องมองต่างไป

 

“ถ้าคุณต้องการจะควบคุมการติดเชื้อให้ได้ คุณจะต้องยึดโยงกับบริบทที่คุณทำได้จริงๆ กับพื้นที่ของคุณ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพ” ชาฟิอุน ชิมัล (Shafiun Shimul) นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพจากมหาวิทยาลัยดากา (University of Dhaka) ในบังกลาเทศกล่าว

“ก็ถ้าเราจะรอให้ทุกอย่างมันเพอร์เฟ็กต์ เราก็คงต้องรออีกยาว”

ซึ่งเรารอไม่ได้ เพราะปากท้องยังต้องกิน และเศรษฐกิจต้องเดินต่อ

ดังนั้น ในมุมของนักบริหาร วัคซีนที่ดีที่สุดจึงต้องขึ้นกับบริบทของการนำไปใช้ และมีปัจจัยมากมายที่ต้องคำนึงถึง เช่น ราคา (ดุแค่ไหน) ประสิทธิภาพ (พอรับได้หรือเปล่า) โลจิสติกส์ (การเก็บรักษา การขนส่งและอายุขัยของวัคซีน) แนวทางการกระจายและความง่ายในการฉีด (วัคซีนดีเอ็นเอของอิโนวิโอ (inovio) ต้องใช้ปืนยิงสายดีเอ็นเอที่เรียกว่าเซลเลคตรา (cellectra) เข้าไปในเซลล์ ซึ่งถ้าจะซื้อวัคซีน ก็อาจจะต้องซื้อปืนยิงมาด้วย ซึ่งอาจจะไม่คุ้มในการลงทุน)

ดังนั้น การเลือกวัคซีนที่เหมาะกับแต่ละภูมิภาคของแต่ละประเทศจึงต้องการการเลือกสรรอย่างชาญฉลาด

และแล้ว ในที่สุด วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ล็อตแรกก็เข้ามาแล้วในอาณาเขตประเทศไทย ที่เราได้มาคือวัคซีนเชื้อตายสัญชาติจีน ซิโนแวค (sinovac) ที่ในตอนนี้ได้รับการอนุญาตให้ฉีดได้ในภาวะฉุกเฉินกับผู้มีอายุ 18 ถึง 59 ปี

เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนเชื้อตายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว เช่น วัคซีนโรคโปลิโอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

แพทย์จึงคาดว่าผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนคงไม่น่าเป็นที่กังวลมากนัก เมื่อเทียบกับวัคซีนแนวทดลองที่ใช้เทคโนโลยีที่ใหม่และไม่ค่อยจะเคยมีใครใช้มาก่อน

อย่างวัคซีน mRNA ที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่ในเรื่องผลข้างเคียงยังคงเป็นคำถาม

ส่วนอีกตัวที่เข้าไทยมาพร้อมๆ กันนั้นเป็นแบรนด์ยุโรป แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสอะดิโนของชิมแพนซี (ChAdOx1) มาเป็นพาหะนำสารพันธุกรรมของโปรตีนหนามของไวรัสโรคโควิด-19 เข้าไปในร่างกายมนุษย์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน

วัคซีนชนิดนี้จึงเรียกว่าเป็นวัคซีนไวรัสพาหะ หรือบางคนก็ทับศัพท์เป็นวัคซีนไวรัสเวคเตอร์

ซึ่งก็ดูจะได้ผลค่อนข้างดี (ราวๆ 75-85 เปอร์เซ็นต์) แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงอยู่บ้าง แต่ด้วยมาจากแบรนด์ยุโรป และมีการเปิดเผยผลงานวิจัยที่ค่อนข้างชัดเจน วัคซีนตัวนี้จึงยังเป็นอีกตัวหนึ่งที่หลายคนยอมรับและเชื่อถือ

การนำเข้าวัคซีนครั้งนี้จึงอาจจะเป็นความหวังครั้งใหม่ที่จะได้เห็นเศรษฐกิจ ร้านรวงต่างๆ ในประเทศมีโอกาสได้กลับมาลืมตาอ้าปากกันอีกครั้ง

ภาพ Smart Yellow Card จาก https://www.who.int/groups/smart-vaccination-certificate-working-group

เพื่อกระตุ้นธุรกิจ ให้สามารถเปิดประเทศได้ ประเทศต่างๆ จึงเริ่มสนใจที่พัฒนาเอกสารยืนยันรับรองสถานะของบุคคลว่า “น่าจะ” มีภูมิต้านทานโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นจากการฉีดวัคซีน หรือเพราะฟื้นตัวแล้วจากการติดเชื้อ ที่เรียกว่า “พาสปอร์ตวัคซีน” ซึ่งในตอนนี้ก็มีหลายรูปแบบ ทั้ง Smart Yellow Card ที่พัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) และประเทศเอสโทเนีย (Estonia) และแอพพลิเคชั่น Green Pass ของประเทศอิสราเอล

บางประเทศก็เริ่มเปิดกว้างและอาจจะอะลุ่มอล่วยให้นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่มีพาสปอร์ตวัคซีนสามารถเข้าประเทศได้เลยโดยไม่ต้องกักตัว

ทว่าวัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ แม้ว่าอัตราการติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรจะการันตีได้ว่าคนที่ฉีดวัคซีนนั้นจะไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เพราะการที่อัตราการติดน้อยลงนั้นอาจจะเกิดมาจากมาตรการป้องกันที่ดี เช่น การใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่างในสังคม อาจจะเกิดจากวัคซีน หรืออาจจะเกิดจากทุกปัจจัยทั้งหมดมารวมกัน ก็เป็นได้ทั้งหมด

แต่ถ้ามองว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะไม่ต่างกันมากนักในแต่ละที่ แน่นอน เป็นไปได้ว่าอัตราการติดเชื้อที่ลดลงอาจจะเกิดจากการที่วัคซีนช่วยป้องกันไม่ให้ติดโรค

แต่อย่าลืมว่าก็เป็นไปได้เช่นกันว่าการติดโรคนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้แต่แค่อาการไม่หนัก หรืออาจจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลยก็เป็นได้ (asymptomatic) และเพราะร่างกายมีภูมิมากำจัดไวรัสไปได้บางส่วน

เมื่อจำนวนไวรัสในร่างกายลดลง การกระจายไวรัสก็จะน้อยลงตามไปด้วย

 

ถ้ามองว่าวัคซีนป้องกันไม่ให้ติดโรคได้จริง พาสปอร์ตวัคซีนจะเป็นสิ่งที่จะช่วยในการฟื้นตัวของภาคธุรกิจได้อย่างดีเยี่ยม และถ้าเราสามารถฉีดวัคซีนให้คนได้มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ชีวิตของเราอาจจะกลับไปสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน

ซึ่งถ้าดูจากผลจากการติดตามผู้ได้รับวัคซีน mRNA ของ Pfizer หรือ BioNTech กว่าหนึ่งล้านสองแสนคนในประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศที่มีการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ดูดีมากๆ เสียจนหลายๆ คนคิดว่าการฉีดวัคซีนอาจจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การปิดฉากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปเลยได้จริงๆ

วัคซีนทั้ง 2 โดสของ Pfizer หากได้รับครบถ้วน จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้มากถึง 94 เปอร์เซ็นต์จากกรณีศึกษาราวๆ หกแสนเคส ที่ได้รับวัคซีนกันไประหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2020 ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2021

ที่เด็ดกว่านั้นคือวัคซีนได้ผลดีกับทั้งคนชราและคนหนุ่ม-สาว

“นี่คือวัคซีนแบบที่ให้ความหวังว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นได้” เรนา แม็กอินไทร์ (Raina McIntyre) ศาสตราจารย์ทางด้านความปลอดภัยทางชีวภาพจากมหาวิทยาลัยนิวส์เซาธ์เวล (University of New South Wales) กล่าว

“ถ้าเราฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ราวๆ 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะพอแล้วที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาช่วยป้องกันการติดเชื้อ อาการป่วยและตายจากการติดเชื้อในชุมชน”

“นี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้ย้อนคืนไปมีชีวิตปกติเหมือนกับที่เคยเป็นมา และได้เปิดสังคมเสียที”

แต่ทว่าถ้าเป็นกรณีที่วัคซีนทำได้แค่ช่วยบรรเทา คนที่ฉีดแล้วยังติดเชื้อได้อยู่ แต่แค่แพร่เชื้อน้อยลง และไม่แสดงอาการอะไรชัดเจน ไวรัสอาจจะออกมาทีละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แพร่เชื้อ ถ้าเป็นแบบที่สองนี้ การ์ดห้ามตก ถ้าตกเมื่อไร โอกาสเจอคลัสเตอร์ใหม่ก็ยังจะเกิดขึ้นได้เสมอ

และถ้าเป็นแบบนี้ พาสปอร์ตวัคซีนจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องระวังในทันที เพราะแม้จะฉีดแล้วแต่อาจจะไม่ปลอดโรคอย่างที่คิด ถ้าปล่อยออกมาเดินเพ่นพ่านไปปาร์ตี้ตามผับตามบาร์ต่างๆ ก็อาจจะก่อคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกเช่นกัน

 

การฉีดวัคซีน mRNA ทั้งสองตัว (Pfizer & Moderna) จะทำให้เกิดการสร้างภูมิในเลือดที่เรียกว่า systemic immunity แต่โควิดไม่ได้ติดผ่านเข้าเลือดแต่ผ่านเยื่อบุจมูกและหลอดลมซึ่งกรุไปด้วยชั้นเมือก (mucosal layer) ซึ่งมักจะไม่ได้ถูกปกป้องโดยภูมิคุ้มกันในระบบ

แต่จะมีภูมิคุ้มกันอีกแบบที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันที่เยื่อเมือก (mucosal immunity) มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนป่วยที่ฟื้นตัวจากอาการโควิด-19 จะมีการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อปกป้องชั้นเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ แต่สำหรับวัคซีนที่ฉีดเข้าไปเฉยๆ อันนี้ต้องรอลุ้นอีกที

แต่ตราบใดที่เรายังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี้เพื่อยับยั้งการติดเชื้อในชั้นเยื่อเมือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่คนที่แม้จะฉีดวัคซีนเข้าไปแล้ว ก็ยังอาจจะติดเชื้อไวรัส SARS-CoV2 ได้บ้างอยู่ดีในชั้นเยื่อเมือก แค่อาจจะน้อยและไม่ค่อยมีอาการออกมาให้เห็น

ซึ่งในกรณีแบบนี้ การจะออกพาสปอร์ตวัคซีนอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะถ้าออกพาสปอร์ตวัคซีนให้ไปตามใจ ก็อาจจะเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยง

 

ยิ่งในตอนนี้ มีข่าวเรื่องไวรัสกลายพันธุ์แสบๆ ที่อาจจะทำให้วัคซีนสิ้นท่าไปเลยก็ได้ออกมาให้ใจหายเล่นอยู่เรื่อยๆ และหนึ่งในตัวที่ฟังดูน่าสยองที่สุดในเวลานี้ก็น่าจะเป็นไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 ที่ดูเหมือนจะสามารถหลบหลีกวัคซีนได้หลายชนิด ทำให้ประสิทธิภาพการตอบสนองของวัคซีนนั้นลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ก็มาถึงไทยแล้วด้วยเช่นกัน ที่จริง เข้าประเดิมในประเทศเรากันก่อนหน้าที่วัคซีนล็อตแรกจะมาถึงแค่ไม่กี่วัน

ซึ่งน่ากังวลครับ มีงานวิจัยโดย ดร.เพ่ย-ยง ฉี (Pei-Yong Shi) จากมหาวิทยาสาขาการแพทย์เท็กซัส (University of Texas Medical Branch) ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์กลายของไวรัส เลียนแบบ B.1.351 และ P.1 โดยใช้ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดั้งเดิม USA-WA1/2020 เป็นต้นแบบ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการตอบสนองภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer จนครบ 2 โดสแล้ว ผลปรากฏว่าแอนติบอดี้ที่ร่างกายผลิตขึ้นมาจากการได้รับวัคซีน นั้นยังต้านไวรัสได้อยู่ แต่ประสิทธิภาพในการตอบสนองนั้นแย่ลงถึงหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม

ซึ่งตรงนี้ก็ยังต้องศึกษาต่อไปว่าผลประสิทธิภาพเพียงเท่านี้จะพอหรือไม่ในการยับยั้งการระบาดได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไวรัสสายพันธุ์กลายพวกนี้

นอกจากสายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบราซิลแล้ว ในตอนนี้ยังมีสายพันธุ์แคลิฟอร์เนียที่เพิ่งจะเริ่มเป็นที่จับตามองว่าอาจจะเป็นอีกสายพันธุ์ที่เข้าข่ายน่ากังวล (variant of concern) ซึ่งสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์แอฟริกาใต้และสายพันธุ์บราซิลอย่างสิ้นเชิง

นั่นหมายความว่าวัคซีนสำรับใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่องัดกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และบราซิลอาจจะใช้ไม่ได้กับสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย ซึ่งนั่นก็คือความท้าทายต่อไปของนักวิจัยวัคซีน

สายพันธุ์นี้ถูกเรียกว่า 20C/L452R ซึ่งมีสองสายพันธุ์ย่อยคือ B.1.427 และ B.1.429

 

ท้ายที่สุดได้วัคซีนแล้ว อย่าลืมว่าวัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษที่ฉีดปุ๊บจะป้องกันหรือบรรเทาโรคได้ในทันที มันมีเวลาของมันในการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่แน่นอนที่สุด มีให้ฉีดก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะถ้ามี อย่างน้อย วัคซีนก็ยังช่วยตระเตรียมให้ร่างกายพร้อมจะต่อสู้กับไวรัสได้ ถ้าหากเกิดการติดเชื้อขึ้นมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาไม่ให้อาการทรุดหนักลงจนถึงขนาดต้องล้มหมอนนอนเสื่อหามส่งไอซียู

และตราบใดที่เตียงและอุปกรณ์ในโรงพยาบาลนั้นมีอย่างเพียงพอ โควิดก็ยังเป็นโรคที่พอจะรักษาได้ แม้จะหนักแต่ก็มักจะไม่ถึงตาย

ไวรัสยังคงวิวัฒน์เพื่อต่อสู้กับเทคโนโลยีวัคซีนและยาที่เราพยายามพัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการมัน แม้ว่าในตอนนี้ ผลการทดลองทดสอบหลายอย่างกับวัคซีนยังอาจไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่เคลียร์ที่สุด ก็คือแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากเข้าหากัน ก็ยังคงต้องอยู่ต่อไปอีกสักพักใหญ่ อย่างน้อยก็จนกว่าเราจะหาวิธีกำราบการระบาดครั้งนี้ลงได้

สู้ต่อไปนะครับ เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน…