E-DUANG : เมื่อตำรวจ และสื่อ เป็นจำเลย ในสถานการณ์#28กุมภาพันธ์

เงาสะท้อนจากสถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์อันปรากฏผ่านช่อง ทางของเทรนด์ทวิตเตอร์ ไทยแลนด์ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

หากถือเกณฑ์เมื่อเวลา 07.13 ของวันที่ 1 มีนาคม

เทรนด์อันดับ 1 คือ #ม็อบ28กุมภาพันธ์ มีจำนวนการทวีดสูงถึง 6.12 ล้าน

แต่ที่สำคัญมากยิ่งกว่านั้นก็คือ บริบทอันเป็นความสัมพันธ์จากสถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์ ทั้งในแง่ผลสะเทือนและความรู้สึกของสังคมทวิตเตอร์อย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ เทรนด์อันดับ 2 เป็น #แบนช่อง3  อันดับ 4 เป็น#WhatHappeningInThailand ขณะที่อันดับ 5 เป็น #แบนสื่อช่องหลัก

ยิ่งกว่านั้นภายใน 30 อันดับยังประกอบด้วย #ตำรวจทำร้ายประชาชน #ไม่ขายให้ตำรวจทหาร และยังมี #อีกไม่น้อยกว่า 2 #ที่เกี่ยวกับตำรวจและสื่อ

หากมองผ่าน#ของทวิตเตอร์ประสานกับความสนใจของประชาชนจะเห็นได้ถึง”เทรนด์”อันเป็นกระแสหลักได้

 

ทุกอย่างล้วนมีจุดเริ่มต้นอันเหมือนกับเป็นรากฐานในทางสังคมจาก สถานการณ์#ม็อบ28กุมภาพันธ์ อันสะท้อนไปยังบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อเผชิญกับม็อบ

การเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจกับการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย ไม่มีรถห้องน้ำนี่แหละที่เข้าไปสัมพันธ์กับสื่อ

เพราะเมื่อผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่า REDEM เคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

ไม่เพียงแต่จะต้องปะทะกับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นเหมือนป้อมปราการ หากแต่ยังมีหน่วยควบคุมฝูงชน(คฝ.)จำนวนมากรออยู่เพื่อจะควบคุมการเคลื่อนไหว

ปฏิบัติการทั้งหมดนี้แหละคือภาพและข่าวอันเกี่ยวกับ”สื่อ”

#ทั้งหมดในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์และเช้าวันที่ 1 มีนาคมจึงพุ่งความสนใจไปยังตำรวจและสื่ออย่างอึกทึกครึกโครม

 

ปรากฏการณ์อันอ่านได้จากแต่ละ#ยืนยันให้เห็นสภาพความเป็นจริงของสังคมว่า ทุกภาพและการเคลื่อนไหวมิได้เป็นความลับและมิได้อยู่ในความยึดกุมของใครคนใดคนหนึ่ง

ตรงกันข้าม เมื่อภาพและข่าวเหล่านี้ปรากฏต่อสังคม คนในสังคมนั่นแหละจะเป็นผู้เลือกสรรและสรุปว่าอะไรจริง อะไรเท็จ