28 ก.พ. 51 ทักษิณกลับไทย กราบแผ่นดิน กับปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อค” ทางการเมือง

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

การทรุดตัวก้มลงกราบ “แผ่นดินแม่” ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทย เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2551 กลายเป็น “ช็อตกระชากใจ” กลุ่มคนรักทักษิณแบบเต็มร้อย

ก่อนจะตามด้วย “วาทะกระชากใจ” เมื่อเปิดใจครั้งแรกที่โรงแรมเพนนินซูล่า ด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า “…วันนี้ผมขออาศัยเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เพราะต้องการจะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ผมไประเหเร่ร่อนมาทั่วโลก ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีแผ่นดินไหนที่จะให้ความอบอุ่นแก่ผมและครอบครัวเท่ากับแผ่นดินไทย เพราะฉะนั้น ผมจะขอกลับมาอาศัยอยู่อย่างมีความสุข อย่างมีความอบอุ่น และขอตายในผืนแผ่นดินไทยนี้…”

เหล่านี้คือปรากฏการณ์กระชากใจ ในการเดินทางกลับประเทศไทยในรอบ 1 ปี 5 เดือนของ พ.ต.ท.ทักษิณ นับจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

(Photo by SAEED KHAN / AFP)

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ถูกมองจาก “ศาสตรา โตอ่อน” อาจารย์นิติศาสตร์ ม.รังสิต ว่า หากมองในแง่ประชาชนธรรมดา ว่าเป็นการจากบ้านเมืองไปนานก็ซาบซึ้งใจแล้วกราบ แต่ถ้ามองแบบการตลาด มองได้ด้านเดียวคือ การเป็นนักการตลาดชั้นเยี่ยม อะไรก็ตามที่จะติดตาตรึงใจคนได้ก็จะหยิบขึ้นมาใช้หมด

ขณะที่ “พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” อาจารย์ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เล่นกับสื่อ เล่นกับความรู้สึกของคนจำนวนมาก ว่ากลับมาถึงบ้านเกิดแล้ว ที่สำคัญนี่คือความรู้สึกชาตินิยม

จะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถูกมองได้ใน 2 มุม

มุมหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่เกิดจากภายในจริงๆ ของคนจากบ้านจากเมืองไปนานนับปี

อีกมุมหนึ่ง เป็นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเรียกคะแนนสงสาร

แต่ไม่ว่าจะมองมุมใด การเดินทางกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้ปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อค” ทั้งทางการเมือง และความรู้สึกของประชาชนมากพอสมควร

09.45 น. เครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินทีจี 603 ที่เดินทางจากฮ่องกง แตะพื้นรันเวย์สนามบินสุวรรรภูมิ

ประชาชนจากชมรมคนรักทักษิณ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและกลุ่มฅนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ รวมถึงประชาชนทั่วไป กว่า 3,000 คน มารอให้การต้อนรับ ท่ามกลางการวางกำลังตำรวจ 300 นาย ในการรักษาพื้นที่ และเตรียมพร้อมไว้ 200 นาย เพื่อการดูแลรักษาความปลอดภัย

(Photo by AFP / AFP)

นอกจากนี้ ยังมีกำลังชุดต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยอรินทราช 26 ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 21 นาย กระจายกำลังอยู่ตามจุดแผนเป้าหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปตลอดเส้นทาง เนื่องจากก่อนหน้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางกลับแค่วันสองวัน ปรากฏข่าวว่าปืนยิงระยะไกล 2,000 เมตร อานุภาพสูง ยี่ห้อ Sig Sauer SSG 3000 หายไปจากคลังอาวุธของทหารบกหน่วยหนึ่ง ใน จ.ลพบุรี 3 กระบอก

แต่ทุกอย่างก็ราบรื่น…!!

ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตรงเข้าสวมกอดคุณหญิงพจมาน ภริยา น.ส.พิณทองทา และ น.ส.แพทองธาร บุตรสาว ที่ตั้งแถวรอรับอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีน้ำตาคลออยู่ตลอดเวลา ก่อนจะหันไปทักทายเครือญาติ และบรรดาอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย และรัฐมนตรีในรัฐบาล “สมัคร สุนทรเวช” ที่มารอให้การต้อนรับกันอย่างเนืองเแน่น

AFP PHOTO/Pornchai KITTIWONGSAKUL / AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

พ.ต.ท.ทักษิณใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัวในห้องวีไอพี นาน 10 นาที ก่อนจะเดินออกมาจากห้องรับรองเพื่อทักทายประชาชนที่มารอให้การต้อนรับ ก่อนจะก้มกราบพื้นดินเรียกน้ำตาจากประชาชนที่รักและศรัทธา

จากนั้นได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามหมายจับในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ก่อนจะเข้ามอบตัวในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก

คดีแรก พ.ต.ท.ทักษิณวางหลักทรัพย์ 8 ล้านบาท ประกันตัวออกมา ขณะที่คดีที่สอง วางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 1 ล้านบาท

AFP PHOTO / Saeed KHAN (Photo by SAEED KHAN / AFP)

จากนั้นช่วงบ่าย พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้โรงแรมเพนนินซูล่า เปิดใจเป็นครั้งแรก

“…วันออกไปก็เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ออกไปประชุม เพื่อช่วยหาเสียงให้ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย แต่วันนี้กลับมาถูกกล่าวหา ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เปรียบเหมือนเป็นผู้ต้องหาสำคัญ ก็รู้สึกเสียใจ สิ่งที่เกิดกับผมและครอบครัว เป็นสิ่งที่น่าเสียใจ แต่ก็ขอแสดงความเสียใจกับประชาชนกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา คนที่เหนื่อยที่สุดคือประชาชน เหตุที่กลับมา เพราะหลังจากประชาชนไปใช้สิทธิ เหตุการณ์คลี่คลาย ประชาธิปไตยกลับคืนมา ผมจำเป็นต้องมาพิสูจน์และรักษาชื่อเสียงของผมที่ถูกทำลายอย่างไม่เป็นธรรม และการกลับมาวันนี้ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง…”

พ.ต.ท.ทักษิณใช้เวลาเปิดใจไม่ถึง 30 นาที ก่อนจะขอตัวพักผ่อน เพราะได้จองห้องพักของโรงแรมเพนนินซูล่าแบบยกชั้น บนชั้น 33, 34 และ 35 รวม 11 ห้อง เพื่อเป็นที่พักของครอบครัวและผู้ติดตาม ในราคาห้องคืนละ 106,000 บาท

จะเห็นว่าทุกอย่างเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ชั่วโมง นับจากเที่ยวบินที่ ทีจี 603 แตะรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ

แต่เป็น 5 ชั่วโมง ที่สั่นสะเทือนและเกิด “อาฟเตอร์ช็อค” ทางความรู้สึกกับคนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในทางการเมือง

เพราะต้องไม่ลืมว่า การเดินทางกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ เป้าหมายหลักไม่ใช่การมอบตัวเพื่อ “สู้คดี” หากแต่เป็นการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายในพรรคพลังประชาชน

ไม่แปลกที่ “สมัคร สุนทรเวช” จะฉุนเมื่อถูกสื่อตั้งคำถามถึงการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เสมือนว่า “นายกฯ ตัวจริง” กลับมาสะสางปัญหาที่ “นายกฯ นอมินี” แก้ไขไม่ได้

“…พวกคุณเขียนกันเองน่ะสิ หนังสือพิมพ์ไปเขียนนั่งเก้าอี้ซ้อนกัน มันเป็นความคิดของคนระดับพวกคุณเท่านั้นแหละ ต้องกระแทกแดกดัน พูดจาเสียดสีให้เสียให้หาย เสี้ยมเขาควายให้ชนกัน ทำไมสติปัญญาในการแสดงความคิด มีได้เพียงแค่นี้เหรอ… ทำไมคิดว่าต้องมีนายกฯ 2 คน นายกฯ มาแล้ว นายกฯ สมัครเหมือนไอ้คนแก่หง่อมๆ ไปเดินหง่อมๆ ไม่มีคนมาหา พวกคุณคิดกันเอง ทำกันเอง สติปัญญาพวกคุณมันมีแค่นี้ น่าสงสารนะ…”

แต่ก่อนที่ภาพของ “ผู้นำซ้อน” จะถูกขยายและกลายเป็นความบาดหมาง และแรงกระเพื่อมใหญ่ทางการเมือง ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ทักษิณได้ “ยกเลิก” ภารกิจในการเป็นประธานเปิดคลีนิคอบรมสอนเทคนิคการเล่นฟุตบอลแก่เยาวชน ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน

มีกระแสออกมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะอยู่ในที่โล่ง

หากแต่คนใกล้ชิดยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องการตกเป็นเป้าหมายของสื่อมวลชนที่ตามรุมล้อม และจะต้องถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งหวั่นว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง โดยเฉพาะกับ “สมัคร สุนทรเวช” และอดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.

ซึ่งก็เป็น “ความจริง”…??

เพราะจากนั้นอีกแค่ 1 วัน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เช็คเอาท์ ออกจากโรงแรม หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เพื่อไม่ต้องการให้เป็น “เป้าของสื่อ” และ “เป้าในทางการเมือง”

ทั้งที่จองโรงแรมเอาไว้นานถึง 2 สัปดาห์

ว่ากันว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้หลบไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านของ “อนุทิน ชาญวีรกุล” ย่านบางนา

ทั้งหมดคือปรากฏการณ์ “อาฟเตอร์ช็อค” ที่เกิดจากการเดินทางกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี…?


หมายเหตุ : บทความ ปรากฏการณ์”อาฟเตอร์ช็อค” “ทักษิณ”…โก โฮม เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2551 (ปีที่ 28 ฉบับที่ 1438 คอลัมน์ ในประเทศหน้า 10)