หลังเลนส์ในดงลึก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - ควายป่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ มีประชากรเหลือไม่มาก ในถิ่นอาศัยสุดท้ายของพวกมันได้รับการปกป้อง ดูแลอย่างเอาจริงตั้งแต่ "เมื่อวาน" จนถึงวันนี้ ช่วยให้พวกมันได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

 

‘เมื่อวาน’

 

โดยปกติ บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าค่อนข้างเงียบเหงา เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะประจำอยู่ตามหน่วยพิทักษ์ป่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการไม่กี่คน และหากชุดลาดตระเวนของเขตออกลาดตระเวนในป่าด้วย สำนักงานเขตก็จะยิ่งเงียบ

ที่สำนักงานเขตป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกก็มีสภาพเดียวกัน

แต่ความเงียบเหงาจะหายไปในวันที่ชุดลาดตระเวนต้องเข้ามาประชุมเพื่อรายงานผลการลาดตระเวน

การลาดตระเวนในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพนั้น หน่วยพิทักษ์ป่าจะส่งตัวแทนมารายงาน แจ้งปัจจัยคุกคามที่พวกเขาพบ มีรูปถ่ายประกอบ บางชุดพบเจอสัตว์ป่าอย่างสมเสร็จ เลียงผา

“เจอใกล้ๆ เลยครับ ยืนให้ถ่าย ไม่หนี” บางคนเห็นผมนั่งฟังอยู่ด้วย พูดดังๆ เพราะรู้ดีว่าผมตามหาสัตว์พวกนี้ และไม่ค่อยพบ

 

วันประชุมวันหนึ่ง ดูเหมือนจะคึกคักกว่าวันประชุมตามปกติ

ตั้งแต่เช้า ผู้หญิง ผู้ชายในชุดลายพรางป่าไม้ หลายคนเดินไป-มาแถวๆ โรงครัว ยิ่งดูวุ่นวาย

แม่ครัวใหญ่อย่างป้าบัว มะลิ และกุ้ง ที่ออกมาจากหน่วยพิทักษ์ป่าตั้งแต่เมื่อวาน สั่งการให้หนุ่มๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่เพิ่งเข้าใหม่ หั่นผัก ล้างภาชนะ และยกอาหารที่ทำเสร็จแล้วไปที่จัดเตรียมไว้เลี้ยงพระ

วันนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงจะประชุมรายงานผลลาดตระเวนตามปกติ แต่เป็นวันไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรประจำปี

อีกทั้งตอนเย็นจะมีงานเลี้ยงเกษียณอีกด้วย

 

ไม่ไกลจากครัว เป็นศาลาหลังคาทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกประกบกัน ที่นี่ปกติจะมีกองไฟซึ่งไม่ค่อยดับ เพราะเป็นที่ยามผลัดกลางคืนใช้เป็นที่พัก

ในศาลามีคนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เดินทางมาจากหน่วยไกลๆ ที่อยู่ด้านใน ช่วงฤดูฝน อย่างวันนั้น พวกเขาใช้การเดินเท้าที่สะดวกและรวดเร็วกว่าใช้พาหนะอื่นๆ

มานะใช้เวลาสี่วันจากหน่วยทิไล่ป้า หน่วยของเขาใช้รหัสว่า “ชนแดน” เพราะอยู่ติดชายแดนพม่า ชนิดเดินไม่กี่ก้าวก็ออกนอกประเทศแล้ว

ผมไปหาเขาหลายครั้งในช่วงฤดูแล้ง ภูมิประเทศซึ่งเป็นทิวเขาซับซ้อน ทำให้การเดินแถวๆ นั้นไม่ง่ายเลย

ชุมพลมาจากหน่วยเดอลู่ เขาเดินมาสามวัน เดอลู่เป็นหน่วยชั่วคราว มีแค่อาคารไม้ไผ่เล็กๆ อยู่ไม่ไกลจากชายแดนเช่นกัน ที่นี่คนที่จะเดินไปหมู่บ้านแถบอำเภออุ้มผางต้องผ่าน

ส่วนพิทักษ์กับสมานนั่นอยู่หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ซึ่งใกล้หน่อย มีระยะทาง 80 กิโลเมตร

พิทักษ์ขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยแทนเจริญที่ขอไปอยู่หน่วยด้านนอก เขาเป็นช่างฝีมือดี ได้รับฉายาว่า “ทักษ์ ตีนระเบิด”

หัวหน้าส่ายหน้าบ่อยๆ กับความ “ตีนระเบิด” ของทักษ์และลูกทีม

รถหน่วยเขาดูสมบุกสมบันกว่าใคร

 

ทุกคนดูทะมัดทะแมงในชุดเครื่องแบบ เสียงเฮฮาดังเป็นระยะ คงมีใครสักคนแอบเปิดเหล้าขาวรินแจกตั้งแต่เช้าแล้ว

เสียงสมานดังกว่าเพื่อน เขามีเรื่องเล่าเยอะ เมื่อมาพบกับนนท์ เพื่อนที่ประจำอยู่เขต การเกทับกันด้วยเรื่องโน้นเรื่องนี้คือสิ่งปกติ

พวกคนในศาลานี้เป็นพวกคอยสแตนด์บายพร้อมช่วยแม่ครัวตามแต่จะเรียกใช้

ถัดจากศาลา คืออู่ซ่อมรถ เป็นอาณาเขตของบุญชัยช่างใหญ่ ที่นี่ก็คึกคักไม่เบา รถจอดเรียงราย สภาพแต่ละคันคล้ายเพิ่งผ่านสมรภูมิ ทุกคันมีรายการซ่อมยาวเหยียด

บุญชัยมีชินวรรณเป็นมือขวา เขาอยู่กับรถขับเคลื่อนสี่ล้อรุ่นคานแข็งอายุร่วม 30 ปีเหล่านี้มาตั้งแต่แรก รู้จักรถทุกคัน มีความเชี่ยวชาญในการซ่อม ชนิดผมคิดว่า เอาผ้าผูกตา บุญชัยก็ซ่อมรถเหล่านี้ได้

ความกังวลใจของเขามีอย่างหนึ่ง

“เด็กๆ เข้าใหม่ไม่มีใครชอบเรื่องรถครับ ใจไม่สู้ กลัวมือเปื้อน เอาแต่เล่นโทรศัพท์ นี่ยังหาพวกมีแววมาช่วยไม่ได้เลย”

 

อยู่ในป่านี้ แม้ว่าซ่อมหรือขับรถไม่เป็น ต้องเริ่มจากลากสายวินช์ ขุดดิน เข็นรถ

ขณะโดยสารรถต้องตื่นตัวตลอด เห็นไม้ล้มขวางกระโดดผลุงลงไปจัดการ

รถทำท่าลื่นไถล ขึ้นเนินไม่ไหว ต้องรีบเอาไม้หนุนล้อและเข็น

“พวกใหม่ๆ ไม่ทำหรอกครับ นั่งฟังเพลงจากหูฟังเฉย ต้องบอก” บุญชัยบ่นบ่อยๆ

 

ผมเดินเข้าไปในส่วนที่ใช้เป็นที่กินข้าว ติดกับครัว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ “รุ่นใหญ่” นั่งอยู่เต็ม

วันนั้น จิตติหัวหน้าหน่วยมหาราช ยังไม่ถึงเวลาเกษียณ เจริญ ลุงก้อ โกตึ๋ง โกเยาว์ รวมทั้งลุงประสิทธิ์ และอีกหลายคน

ทุกคนมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ทำงานมายาวนาน เมื่อทำงานครบ 5 ปี ไปสอบบรรจุ ได้รับบรรจุแล้วจะมีสิทธิ์ต่างๆ เกือบเทียบเท่าข้าราชการ พวกเขามีรหัสเรียกขาน ขึ้นต้นด้วยเลข 8

ทุกวันนี้ไม่มีการสอบบรรจุเพื่อเป็นพิทักษ์ป่าแบบคนรุ่นเก่าๆ แล้ว มีแต่การสอบเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งพิทักษ์ป่า ซึ่งรหัสเรียกขาน ขึ้นต้นด้วยเลข 7

ผมยกมือไหว้ทุกคน

และทักทายลุงประสิทธิ์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าเกิงสะดา ครบกำหนดเกษียณปีนี้

 

หน่วยเกิงสะดาอยู่ด้านนอก ริมแม่น้ำรันตี ระหว่างทางไปอำเภอสังขละ หน่วยอยู่ติดถนนลาดยาง

นับเป็นหน่วยที่ “เจริญ” เดินทางเข้าถึงง่าย มีไฟฟ้า, สัญญาณโทรศัพท์

“แต่ไม่สนุกหรอกครับ” ลุงประสิทธิ์บ่นๆ

หลายคนอยู่ในกลุ่มที่เริ่มทำงานตั้งแต่เริ่มแรก พวกเขาทำงานมาพร้อมๆ กัน นั่นคือกว่า 30 ปี

ทุกคนเรียกได้ว่าโชกโชน อย่างโกตึ๋ง ชายรูปร่างผอมบางนั่น สมัยหนุ่ม เผชิญหน้าและปะทะกับคนล่าสัตว์มานับครั้งไม่ถ้วน

ผมแวะไปคุยกับเขาที่บ้านพักบ่อยๆ โกตึ๋งมีเรื่องเล่ามากมาย ความรู้ ทักษะเดินป่าเป็นเลิศ บางเรื่องอยู่ในข่ายความลับ ห้ามเผยแพร่

ถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่เข้าใหม่ พบเห็นเพียงชายชราผอมบาง หมดสภาพ และหลบซ่อนตัวอยู่หลังขวดเหล้าขาว

เมื่อร่วมอยู่ในกลุ่มพวกเขา การได้ฟังเรื่องราวต่างๆ การใช้ชีวิตในป่าที่ผ่านมา นับเป็นประสบการณ์ที่ดี อีกไม่นานทุกคนจะเกษียณตามลุงประสิทธิ์

“จากนี้จะทำอะไรครับ” ผมถามคำถามพื้นๆ เจตนาชวนเขาคุย

“ก็อยู่บ้าน ดูแลต้นไม้ไปตามเรื่อง” ลุงประสิทธิ์ตอบยิ้มๆ

 

ผมนั่งร่วมวง เสียงหัวเราะเฮฮา ดูโกตึ๋งโกรธเมื่อถูกเจริญรุ่นน้องขัดคอ

เวลา 30 ปี หรือร่วมๆ 30 ปี ยาวนานพอสมควร นี่คือเวลาที่คนเหล่านี้ทำงานอยู่ในป่า ปกป้อง ดูแลป่าและสัตว์ป่า

ลุงประสิทธิ์หมดภาระด้วยกติกาของระบบ

นั่งอยู่ร่วมกับพวกเขา หลายคนเราพบกันตั้งแต่ 30 ปีก่อน นั่นบอกได้อย่างหนึ่งว่า ผมทำงานในป่ามานานเช่นกัน

แต่ก็เถอะ หากการเกษียณหมายถึงหลุดพ้นไปจากระบบ ไม่มีเงินเดือน ไม่ต้องรับหรือออกคำสั่ง ไม่มีหัวโขนใดๆ ให้สวมใส่

ดูเหมือนผมจะเกษียณมานานแล้ว

 

นั่งอยู่ในกลุ่มพิทักษ์ป่า “รุ่นใหญ่” ฟังเรื่องราวที่พวกเขาผ่านมา

ผมนึกถึงความจริงข้อหนึ่ง ความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าในป่าทุ่งใหญ่นั้น

เป็นผลมาจาก “เมื่อวาน”…