ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ปรุงในครัวทัวร์นอกบ้าน |
เผยแพร่ |
แพลตฟอร์ม
ที่กลมกล่อม เรียบง่าย
แสงสนธยาหน้าร้อนของเมืองเพิร์ธงดงามไม่เว้นแต่ละวัน วันไหนที่แม่หวานไม่ได้ไปนั่งชมที่ชายทะเลก็จะนำไวน์ late Harvest viognier 2006 ของ Bella Ridge มานั่งจิบตรงระเบียงบ้านท่ามกลางสมุนไพรทั้งเทศและไทยที่ปลูกไว้เป็นแนวยาวพอได้กลิ่นหอมโชยแตะจมูกเมื่อสายลมเย็นพัดผ่าน รสหวานแต่จัดจ้านของไวน์นำพาใจแม่หวานให้ล่องลอยย้อนอดีตไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน
กลิ่นจางๆ ของเหล้าสาเก และเบียร์ลอยคลุ้งไปทั่วตู้รถไฟที่สองเท้าก้าวเหยียบเข้าไป บางคนยืนโซเซไปมา มือหนึ่งพยายามคว้ามือจับของรถไฟที่ห้อยยาวไว้ให้มั่น แต่ก็ยังไม่สามารถทรงตัวได้ บางคนทรุดตัวลงนั่งหลับตาอยู่ตรงประตูทางเข้า
แม่หวานมองภาพเหล่านั้นก่อนขยับเสื้อกันหนาวตัวหนาที่ยังไม่เพียงพอกับความหนาวที่ถาโถมเข้ามาในฤดูหนาวของญี่ปุ่น กระเป๋าใส่หนังสือและคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาถูกโยนขึ้นไปวางไว้บนราววางของ
แม้ในยามค่ำมืด รถไฟทุกตู้ก็ยังแน่นไปด้วยผู้โดยสารหลังเลิกงาน และนักเรียนต่างชาติที่ต้องทำงานเสริมหลังเลิกเรียนด้วยความเหนื่อยล้าทั้งจากการสอนภาษาไทยภาคค่ำที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ทำให้ต้องรีบแย่งที่นั่งเป็นพัลวันก่อนนั่งลงด้วยความเหนื่อยอ่อนแต่สมองกลับตื่นเต้นที่จะได้อ่านนิตยสารประจำสัปดาห์ตรงหน้า
แม่หวานละสายตาออกจากภาพความวุ่นวายตรงหน้าแล้วก้มลงมองตัวอักษรในหนังสือนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ดั่งกำลังมองหาอัญมณีอันมีค่าก็ไม่ปาน และแล้วห้วงเวลาแห่งความสุขก็โลดแล่นอยู่บนตัวอักษรหน้าแล้วหน้าเล่าด้วยความเพลิดเพลิน
โรงเรียนสอนภาษาไทยเป็นสมาชิกนิตยสารฉบับนี้และยินยอมให้ครูมีสิทธิ์ในการหยิบยืมเพื่ออ่านข่าวสารบ้านเมืองก่อนนำข้อมูลนั้นกลับมาสอนนักเรียนอีกครั้ง
ในยุคสมัยที่ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนล้วนรักการอ่าน นักอ่านขยายวงกว้างไปถึงแม่บ้านชาวไทยจนเกิดนิตยสารให้ชุมชนชาวไทยได้อ่านได้แชร์ข้อมูลกันหลายสิบเล่มจนเกิด “นักเขียน” ขึ้นมามากมาย แม้แต่นักเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์เช่นแม่หวานที่หลงใหลในตัวอักษรไม่แพ้ใครๆ ก็ได้รับการไว้วางใจให้เขียนคอลัมน์ “แม่โขง” ใน Nifty เพจออนไลน์ยุคแรกๆ นานกว่าสิบปี
เมื่อความรัก ความหลงใหลในเสน่ห์ของตัวอักษรมาพร้อมกับจังหวะของ “หนังสือ” ที่กำลังรุ่งโรจน์ อาชีพเสริมที่สามารถหารายได้มาเป็นทุนการศึกษาก็คือการเขียนประกวด “เรียงความ” แม่หวานเริ่มเขียนประกวดมาตั้งแต่ยังไม่ชำนาญภาษาญี่ปุ่นมากนัก แต่เนื้อหาการเขียนมักไปสะกิดใจกรรมการชาวญี่ปุ่นทุกครั้ง
–เธอเขียนได้เรียบง่าย และเข้าใจง่าย
–ความเป็นธรรมชาติที่เธอหยิบยกมาในสังคมปัจจุบันมันคือเสน่ห์ของเธอ
–คนญี่ปุ่นสมัยก่อนชอบเขียนคำยากๆ ด้วยอัตตาที่บ่งบอกว่า “ฉันเหนือกว่า” แต่งานของเธอช่างเป็นคำที่ง่ายกินใจ ฉันชอบนะ ขอให้เธอรักษาเสน่ห์การเขียนเช่นนี้ไว้
คำแนะนำจากคณะกรรมการทำให้บทความที่แม่หวานเขียนกวาดรางวัลมานับครั้งไม่ถ้วน
ก่อนที่จะกลายร่างมาทำงานพิเศษอีกอย่างคืองาน “ล่าม”
–มันอาจจะไม่ตรงกับสายที่เธอเรียนมา แต่ถ้าเธอไม่ทำคนไทยอีกมากมายจะลำบากนะ
ตำรวจจากสำนักงานอัยการอ้อนวอนเพื่อให้รับทำงานล่าม ทั้งต้องขึ้นศาลจนถึงการสอบสวนในคดีความต่างๆ ความโหดร้ายที่เห็นคนไทยฆ่ากันเองด้วยเรื่องยาเสพติด ความหวาดกลัวที่เข้าไปล่วงรู้ความลับของนายหน้าค้ากาม แต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อนจะหาคนที่เก่งภาษาค่อนข้างยาก และคนที่ทำงานล่ามประจำสำนักอัยการคือแม่บ้านชาวกัมพูชาที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่นเธอเป็นเจ้าแม่ที่ไม่ยอมสละงานล่ามนี้ให้ใคร แม้จะแปลผิดแปลมั่วจนต้องรื้อคดีใหม่ หรือคนไทยบางคนก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำโดยไม่จำเป็นก็ตาม
–คนมีหลักการ และจิตใจเมตตาอย่างเธอหายาก พวกเราอยากให้เธอทำเป็นหลัก
เมื่อทางตำรวจมั่นใจในตัวแม่หวานถึงขนาดรับ-ส่งและดูแลอย่างดี ถึงสิ้นปีงบประมาณทีไรแม่หวานก็ได้โบนัสงามๆ แทบทุกปี ก็ต้องทำงานตอบแทนประเทศชาติกันหน่อย (ฮา)
นานเข้าประสบการณ์ก็มากจนเป็นที่ต้องการของหลายบริษัทรวมทั้งสมาคม AOTS หรือ The Association for Overseas Technical Scholarship ซึ่งเป็นสมาคมที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม (METI) ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความร่วมมือทางเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ณ สมาคมแห่งนี้แม่หวานได้พบกับอาจารย์อิวากิ ยูจิโร นักเขียน นักกวี และอดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านได้ยื่นหนังสือชื่อ “ผมก็ไปสยาม” มาให้
–งานเขียนของผมยังไม่มีใครแปลได้เลย คุณพอจะทำได้ไหม?
ระหว่างที่แม่หวานยังลังเล ลูกศิษย์ญี่ปุ่น คุณอิชิ มิเอโกะ ที่แปลเรื่อง “ดิฉันไม่ใช่โสเภณี” ของคุณผกามาศ ปรีชา บอกแม่หวานซึ่งเป็นอาจารย์ของเธอว่า
–แปลเถอะค่ะ จะได้กินค่าลิขสิทธิ์ยาวๆ เหมือนดิฉัน
–ก็ดีนะ
แม่หวานยิ้มรับเมื่อคิดถึงรายได้ในอนาคต
–มาขนไวน์ไปสิ
คุณสุขเจ้าของร้านหนังสือดวงกมลบอกกับแม่หวาน เมื่อครั้งที่มีการพูดถึงลิขสิทธิ์หนังสือที่ถูกตีพิมพ์ไปแล้วถึงสองครั้งสองครา แต่นักเรียนอย่างแม่หวานจะไปทำเช่นนั้นได้อย่างไร? นอกจากปล่อยผ่าน อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีเมื่ออาจารย์อิวากิบอกว่า
-มติชนสุดสัปดาห์ยินดีตีพิมพ์เรื่องแปลให้นะ ค่าเรื่องเธอเอาไปเลย ถือว่าเป็นค่าจ้างจากฉันก็แล้วกัน
อาจารย์อิวากิดีใจเป็นอย่างยิ่งที่เรื่องของตัวเองได้แปลเป็นภาษาไทยเสร็จสมบูรณ์ด้วยความรวดเร็ว จนถึงกับชวนแม่หวานมาเที่ยวเมืองไทย เพื่อแนะนำแม่หวานให้รู้จักกับ “มติชน” และนำเรื่องแปลเสนอให้กับคุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) ประธานที่ปรึกษาในเครือมติชน
จากความตั้งใจที่จะมาปลดปล่อยคลายเครียดกับการเรียนและงานหนักในเมืองไทย กลายเป็นต้องมานั่งกินข้าวกับผู้บริหารในเครือมติชน ถึงแม้แม่หวานจะเป็นแฟนคลับมติชนสุดสัปดาห์อ่านทุกคอลัมน์ แต่ก็ไม่ทราบว่าใครคือใครบนโต๊ะยาวที่มีผู้คนมากมาย นอกจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคุณเสนีย์ เสาวพงศ์ อาจารย์อิวากิก็แยกตัวไปนั่งเสียไกลจนแม่หวานต้องนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่แสนอร่อยอย่างเงียบๆ
จนมีชายรูปร่างสูงใหญ่คนหนึ่งท่าทางสุภาพเรียบร้อยมานั่งตรงหน้าแม่หวาน
เขานิ่งเฉยและตั้งใจรับฟังผู้คนรอบข้าง
–หรือเขาคงไม่มีเพื่อนเหมือนเช่นเรา เขาคงเหงา เราน่าจะชวนเขาคุย
แม่หวานคิดพร้อมส่งยิ้มให้และชวนคุย ชวนกินก๋วยเตี๋ยว หลังจากอิ่มหนำสำราญแล้วท่านประธานกรรมการได้เชิญอาจารย์อิวากิไปที่ห้องของท่านเพื่อมอบพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นที่ระลึก และทำให้แม่หวานต้องอ้าปากค้าง!
–โอ้ โน เราทำอะไรลงไปนี่ ชายที่เราคิดว่าเขาคงไม่มีเพื่อนชวนคุยเสียยกใหญ่คือประธานบริษัทมติชน!
แม่หวานพูดไม่ออกบอกไม่ถูก นอกจากยิ้มเจื่อนๆ เมื่อท่านเชิญให้เข้าไปร่วมเฟรมด้วย แม่หวานตกใจมากด้วยเป็นนักเรียนกะโปโล แต่งตัวก็ไม่สุภาพ จึงคิดว่าการเข้าไปแอบอยู่ด้านหลังพระบรมฉายาลักษณ์น่าจะดีที่สุด (ฮา)
จากวันนั้นถึงวันนี้สามสิบกว่าปีที่คุณขรรค์ชัย บุนปาน หรือ “พี่ช้าง” ให้ความเมตตา และโอกาสแก่แม่หวานให้โลดแล่นกับตัวหนังสือที่แม่หวานชื่นชอบ ทั้งงานแปล รายงานพิเศษ สัมภาษณ์นักเขียน ถึงแม้ว่าระหว่างทางแม่หวานจะทนไม่ได้กับเสียงกระแหนะกระแหน
–นักเรียนวิศวะจะมาเขียนหนังสือได้อย่างไร?
–เด็กเส้น
หรือ
–มีเงินอยู่แล้วจะมาแย่งงานนักเขียนอีกทำไม?
จนแม่หวานต้องถอยหลังปล่อยวางเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์เพื่อไปใช้ชีวิตตามใจปรารถนาอยู่กับธรรมชาติและว่ายน้ำกับปลาโลมาที่บริสเบน ออสเตรเลีย
แม่หวานห่างหายจากวงการไปนับสิบปีก็ได้มาพบกับลุงต่วยแห่งหนังสือต่วย’ตูน เมื่อครั้งท่านพักผ่อนอยู่ที่หัวหินด้วยความบังเอิญที่หลานของลุงเป็นเพื่อนเล่นกับอายากะ
–หวานอ่านต่วย’ตูนนะคะ ได้รับมาจากพี่ช้างอีกที
–จริงเหรอ? ถ้าอย่างนั้นหวานควรจะเขียนหนังสืออีกนะ เขียนอย่างที่หวานเล่ามานี่แหละ ไม่ต้องไปสนใจเรื่องเรียนสายวิทย์แล้วเขียนหนังสือไม่ได้ หมอหลายคนเขียนหนังสือเก่งๆ ถมไป ไอ้ช้างมันต้องเห็นว่าหวานเขียนได้ละจึงให้โอกาส
ถึงแม้ลุงต่วยจะป่วยหนักแต่ก็เมตตาคุยกับแม่หวานยาวนานด้วยความสนุกสนานจนทำให้แม่หวานเกิดความมั่นใจขึ้นมาอีกครั้ง และประเดิมด้วยการเขียนหนังสือ “อาหารญี่ปุ่นรสมือแม่” ต่อเนื่องด้วยคอลัมน์ “ปรุงในครัวทัวร์นอกบ้าน” นานนับสิบปีจนถึงวันนี้
วันที่แม่หวานได้ทำงานชิ้นที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่และจบสิ้นสมบูรณ์ ขอขอบพระคุณพี่ช้างที่ให้โอกาส ขอบคุณอาจารย์อิวากิ ขอบคุณผู้บริหารในเครือมติชนทุกท่าน และสุดท้ายขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่เมตตาและเป็นกำลังใจให้แม่หวานและอายากะเสมอมา
ศิลปะแห่งงานเขียนไม่แตกต่างจากศิลปะแห่งการปรุง แม่หวานชอบปรุงอาหารที่เรียบง่าย เน้นวัตถุดิบและสุขภาพเป็นหลัก ไม่มีการปรุงรสให้ผิดแผกไปจากเดิม เช่นเดียวกันกับงานเขียนที่แม่หวานเสิร์ฟทุกท่านด้วยความเรียบง่าย จริงใจ ใสซื่อ ไม่เป็นพิษเป็นภัยเมื่อได้ลิ้มชิมรส
ท่านผู้อ่านท่านใดที่ติดรสกลมกล่อม เรียบง่ายเช่นนี้สามารถติดตามแม่หวานได้ทางแพลตฟอร์มนี้ค่ะ
Facebook : แม่หวาน ละมุนมัม
YouTube : แม่หวาน ละมุนมัม
IG : suyada_waan
Clubhouse : Suyada Waan