ยังยึดติดอยู่กับความเพ้อฝันเดิมๆ วันสำคัญของชาว “ศิลปากร”

ไม่เคยย่างเหยียบไปบนถนนมหาราช บริเวณติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกท่ามหาราช ซึ่งติดต่อกับท่าช้างวังหลวง ยาวไปจนถึงท่าพระจันทร์ ติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแน่นอนตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยศิลปากรทางด้านทิศตะวันตก นานเกินจนขี้เกียจจะมานั่งนับจำนวนปี

ท่ามหาราชเดิมซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ มองดูเลอะเทอะ เปลี่ยนแปลงไปชนิดไม่เห็นภาพเก่ากับการปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาจนมีสภาพสวยงาม มีร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ มองข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามเห็นโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ อันโด่งดัง ไม่ห่างกันกับวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร อันเก่าแก่มีตำนาน ตลอดชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งก็เต็มไปด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ และ ฯลฯ

ขณะที่เป็นเด็กหนุ่มได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเล่าเรียนฝึกวิทยายุทธ์ยังมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้ ยังจำภาพที่เดินเหินอยู่แถวท่าช้างวังหลวง บนถนนมหาราชเพื่อซื้อหาอุปกรณ์การเรียน

ขณะนั้นมีร้านจำหน่ายอยู่เพียงร้านเดียว ตรงข้ามกับวัดมหาธาตุฯ ค่อนไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอ่ยชื่อสักหน่อยก็ไม่เป็นอะไรกระมัง ชื่อร้าน ศุภสาส์น ก่อนที่จะมีเกิดติดตามมาอีกร้านหนึ่งซื่อ นานาภัณฑ์ ใกล้กับมหาวิทยาลัยเข้ามาอีก

ทุกวันนี้ทั้งสองร้านยังเปิดกิจการอยู่

เติบโตขึ้นตามวันเวลาสะสมประสบการณ์จนสามารถพูดคุยกับเพื่อนต่างคณะวิชา รุ่นพี่ๆ ทั้งหลายตลอดจนอาจารย์ ซึ่งเห็นหน้าค่าตากันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเนื่องจากมหาวิทยาลัยเล็กๆ อันคับแคบ แต่เปิดการเรียนการสอนถึง 4 คณะวิชา คือจิตรกรรมฯ สถาปัตย์ โบราณคดี และ มัณฑนศิลป์ อาศัยพื้นที่ของทางราชการ คือ กรมศิลปากร รวมทั้งวังท่าพระ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีความเป็นมาอย่างน่าทึ่งน่าศึกษา และเป็นพื้นที่อนุรักษ์อย่างมิต้องสงสัย

เคยคิดเคยฝันกันในวงสนทนาตามประสามานานปีว่ามหาวิทยาลัยศิลปากร ควรเป็น “มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง” คือ “เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะ” เท่านั้น ไม่ใช่ใหญ่โตครบวงจรอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าจะต้องขยับขยายพื้นที่ไปต่างจังหวัด อย่างเช่นจังหวัดนครปฐมทุกวันนี้

ซึ่งก็ไม่ใช่เพียงแค่บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เพียงเท่านั้น ยังกระจัดกระจายไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น ราชบุรี เพชรบุรี ไม่รวมกระจุกกระจิกอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเช่นสำนักอธิการบดี อยู่ตลิ่งชัน อะไรประมาณนั้นด้วย

กลุ่มพวกเราแอบเพ้อกันว่าถ้ามีนโยบายชัดเจนดั่งที่แอบคิดฝันและจะทำกันจริงๆ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าหากมีการพูดคุยประสานงานกับสถานที่ต่างๆ ริมถนนมหาราชอันเป็นของรัฐด้วยกันก็สามารถเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ถึงจะเป็นที่ดินของเอกชนก็สามารถที่จะจัดหางบประมาณมาซื้อหาเวนคืนที่ดินเพื่อขยับขยายก่อสร้างมหาวิทยาลัยไปจนติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเขตมหาวิทยาลัยติดต่อกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เอาเป็นว่าบริเวณท่าช้างไปจนถึงท่าพระจันทร์เชื่อมต่อกับวังท่าพระจะกลายเป็น “เมืองมหาวิทยาลัย” ทั้งหมด โดยที่ถนนหน้าพระลาน หน้าพระธาตุ มหาราช พระจันทร์ ยังคงอยู่กันครบถ้วนรวมทั้งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่านั่นมันเป็นเพียงความฝันอันเพ้อเจ้อซึ่งไม่ตรงต้องกับนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยขณะนั้นที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีการเรียนการสอนแบบครบวงจร และมีวิทยาเขตมากๆ หลายที่รวมทั้งออกนอกระบบราชการเหมือนอย่างเช่นมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งได้ออกนอกระบบมาเมื่อไม่กี่วันมานี้

ถึงแม้ว่าจะมีวิทยาเขตที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และที่อื่นๆ แต่มหาวิทยาลัยศิลปากรแห่งแรกยังคงดำรงอยู่ที่วังท่าพระ อันเป็นสถานที่อนุรักษ์ และต้องมีการควบคุมการก่อสร้างอาคารอันเหมาะสม เพราะใกล้เคียงกับพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ดังกล่าวแล้วแต่ต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยม นักศึกษาทั้งหลายก็จะต้องเปลี่ยนไปเรียนยังวิทยาเขตจังหวัดนครปฐมกันทุกคณะวิชา หรือบางคณะยังคงมีความจำเป็นปักหลักอยู่ที่วังท่าพระดังเดิม เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ดี

บางคณะก็ย้ายไปเป็นบางส่วน อย่างเช่นนักศึกษาปีแรกยังคงปักหลักอยู่ที่อันขลังแห่งนี้ ย้ายไปเฉพาะตั้งแต่ปีที่ 2 ไปถึงปีที่ 5 และปริญญาโท-เอก หรือบางทีก็ไปๆ กลับๆ สลับกันไปมาหลายปีกว่าจะลงตัว

แต่ถึงวันนี้ทุกคณะวิชาย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป อาจเหลือเพียงความจำเป็นเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจเหลือพื้นที่นิดหน่อยที่ยังคงต้องปักหลักเรียนอยู่ที่วังท่าพระ กรุงเทพฯ

อย่างเช่นนักศึกษาใหม่ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งกำลังจะเปิดเทอมประมาณเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

มหาวิทยาลัยศิลปากรกำลังทำการซ่อมแซม ปฏิสังขรณ์ (Renovate) ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ กับงบประมาณราว 80 ล้านบาท ซึ่งได้เคยบอกกล่าวกันไปบ้างพอสมควรแล้ว ระยะนี้มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ จึงทำการเรียนการสอน และกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เต็มรูปแบบเหมือนเดิม

มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เลยเปลี่ยนสถานที่จัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” อันเป็นวันสำคัญของคนศิลปากร ซึ่งได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่องนานแล้วในวันที่ 15 กันยายน ของทุกๆ ปี ณ บริเวณสนามหญ้าเล็กๆ ของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของท่าน ไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

เมื่อปรากฏเป็นข่าวเผยแพร่ออกมาย่อมเกิดการไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะกับศิษย์เก่าทั้งหลาย ซึ่งได้เคยเรียนกับท่านจนมีความผูกพันกับ (อาจารย์ฝรั่ง) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) ซึ่งก็มีเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ทั้งหลายทั้งมวลล้วนได้รับการปลูกฝังสืบทอดกันมาจนทราบและซาบซึ้งในคุณูปการของท่านในฐานะเป็นผู้วางรากฐานศิลปะสมัยใหม่-ศิลปะร่วมสมัยของไทย และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อกว่า 70 ปีก่อน (พ.ศ.2486)

ศิษย์ทั้งหลายต่างมีความรู้สึกว่าอาจารย์ฝรั่งท่านยังอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ชาวศิลปากรทั้งหลายก็มีความรู้สึกว่า “จิตวิญญาณของพวกเขายังอยู่ที่นี่เช่นเดิม” จึงช่วยกันหาทางคงงานสำคัญปีละครั้งไว้ที่เดิมด้วย

แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไป “คัดค้าน” การจัดงานของมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่อย่างใด?

แปลว่าวันที่ 15 กันยายน 2559 (ท่านเกิดวันที่ 15 กันยายน 2435) จะมีงานนี้ขึ้นพร้อมกันสองแห่ง เพราะ ณ บริเวณวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ก็มีอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่นเดียวกัน

สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งแม้จะก่อตั้งมานานปีพอสมควรแล้ว แต่ไม่มีสถานที่ทำงานอย่างเป็นที่เป็นทาง ต้องอาศัยคณะจิตรกรรมฯ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เป็นที่พบปะจัดประชุม ฯลฯ เพราะมีคณบดีเป็นรองประธานสมาคมโดยตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ต้องดำเนินงานร่วมกันไป ซึ่งแน่นอนที่สุดระยะนี้ก็ต้องวิ่งหาสถานที่ทำงานใหม่ชั่วคราว เพราะมหาวิทยาลัยและคณะจิตรกรรมฯ กำลังได้รับการปรับปรุง

คณะจิตรกรรมฯ สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ มีความเห็นว่าจะยังจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” ขึ้น ณ วังท่าพระ โดยจะเอาบริเวณหน้า “พิพิธภัณฑ์ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” เป็นหลัก แต่ก็จะยังมีพิธีวางดอกไม้ต่างๆ อย่างเรียบง่าย บริเวณอนุสาวรีย์ของท่านเช่นทุกปี

จะมีการพบปะพูดคุยกันของศิษย์เก่าด้วยบรรยากาศวันวาน มีการแสดงดนตรีคลาสสิก (Classic) อาจเป็นวง Orchestra ก่อนจะมีการสังสรรค์กันบ้างตามสมควรเหมือนเดิมในบริเวณ “โรงหล่อ” ของกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร

คาดว่าสโมสรนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร+สมาคมนักศึกษาเก่าของทุกคณะ ทั้งสถาปัตย์+โบราณคดี+มัณฑนศิลป์ (ไม่น่ามีปัญหา) จะร่วมกับคณะจิตรกรรมฯ สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตกรรมฯ และศิษย์เก่าซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานในมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ ท่านร่วมกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” อย่างเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยบรรยากาศเก่าๆ เหมือนๆ เดิมขึ้น ณ บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ดังที่เคยปฏิบัติจัดกันเป็นประจำตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เพื่อให้ศิษย์เก่าได้พบปะกันดั่งเช่นทุกๆ ปี

อะไรที่เป็นเรื่องการเติบโตเจริญก้าวหน้าก็ไม่ควรไปปิดกั้น ขณะเดียวกัน สิ่งไหนซึ่งควรดำรงรักษา สืบทอดอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ด้วยบรรยากาศอันสวยสดงดงามเก่าๆ เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ ก็ไม่สมควรไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงให้สับสน

ควรจะต้อง “ปลูกฝังจิตวิญญาณ” นั้นแก่คนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาสู่สถานที่ศึกษาที่เขาปรารถนาแห่งนี้สืบไป