สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มรอยหยักในสมอง : ฐากูร บุนปาน

ขออนุญาตเกาะกระแส “สามก๊ก” กับเขาด้วยอีกคน

เครือมติชน-ข่าวสด จับมือกับช่อง 3-บีอีซีเทโร

จัดเสวนา (แหะแหะ-ขายบัตร) หัวข้อ “สามก๊ก ปลุกชีวิต คิดการใหญ่” ในวันที่ 25 มิถุนายน 15.00-17.00 น. ที่โชว์ดีซี พระรามเก้า

เริ่มขายบัตร 2 มิถุนายน 10.00 น. ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์

งานนี้ระดมผู้รู้และผู้รักสามก๊กมานำเสนอด้วยกัน 7 ท่านครับ

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซีอีโอซีพีออลล์

พลเอกนิพัทธ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม

อาจารย์สง พงศ์ศุภนิมิต กบฏฮวงจุ้ย

ดร.ศานติ ภักดีคำ นักประวัติศาสตร์

ดร.ป๋วย อุ่นใจ นักชีวฟิสิกส์

คุณนิธิพันธ์ วิประวิทย์ แฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน

และ

คุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone

องค์กรดิจิตอลที่เขาว่ากันว่า “แน่น” ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนี้

เอาแค่ความต่างของแต่ละท่านว่ามีมุมมองต่อสามก๊กอย่างไรก็สนุกแล้ว

ยิ่งถ้าคิดว่า “เซียน” แต่ละท่านที่คัดสรรมา อ่านสามก๊กมาแล้วคนละนับครั้งไม่ถ้วน

ความคิด การวิเคราะห์ของแต่ละท่านยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่

ต่างรุ่น ต่างอาชีพ ต่างประสบการณ์

แต่มีจุดร่วมเดียวกันคือรักชอบวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้

นี่ถึงไม่ได้จัดเอง แต่คนอื่นจัด-ขายบัตร

ก็จะไปซื้อบัตรดูนะครับ

ฮ่าฮ่าฮ่า

ขายของกันดื้อๆ อย่างนี้แหละ

คราวนี้มาถึงเรื่องส่วนตัวของตัวกับสามก๊ก

จำได้เลาๆ ว่าประมาณ ป.3 หรือ ป.4 นี่แหละ

ค้นเจอหนังสือเก่าเล่มหนึ่งจากตู้หนังสือที่บ้านย่า

ปกก็ไม่มี เริ่มอ่านก็ปาเข้าไปกลางเรื่องแล้ว

แต่สนุกแฮะ

อ่านไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ม้าเฉียว-หันซุยรบกับโจโฉ ไปจนถึงตระกูลสุมารวมแผ่นดินตอนจบ

นั่นคือหนแรกที่รู้จักสามก๊ก

โชคดีที่ตอนนั้นเรียนโรงเรียนดี

ห้องสมุดของประถมสาธิตประสานมิตร (ยุคที่ยังไม่ต้องเอาทหารเข้าไปอบรม-555) มีสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ด้วย

เหมือนกับที่มีนิยายของดอกไม้สดครบชุด

อ่านเล่มหลังแล้วค่อยตามไปหาเล่มแรกมาอ่านให้ครบสมบูรณ์

และเพราะสามก๊กนี่เองที่ทำให้

1. คุ้นกับเรื่องที่ตัวละครเยอะๆ ชื่อจำยากๆ

2. คุ้นกับเรื่องจีน

3. ไม่กลัวการอ่านไม่รู้เรื่อง

หลังจากจบฉบับเจ้าพระยาพระคลังไปแล้ว

เพื่อนนักเรียนซึ่งเป็น “หนอน” เหมือนกัน (คุณวรินทร์ สุขเจริญ เดี๋ยวนี้เป็นข้าราชการใหญ่ใน ก.พ.) แนะนำให้อ่านพิชัยสงครามสามก๊ก ของคุณสังข์-คุณวรรณไว พัธโนทัย

ที่น่าตื่นใจสำหรับเด็ก ป.5 ป.6 ก็คือแผนที่สามก๊กยุคนั้น

ทั้งแผนที่ภาพรวม ว่าแต่ละก๊กอยู่ตรงไหน มีดินแดนแค่ไหน

ยังมีแผนที่แต่ละสมรภูมิสำคัญให้ดูด้วย

ไม่ว่าจะผาแดง เกเต๋ง หรือฮั่นตง

พอวิชาแก่กล้าขึ้น คราวนี้ขยับไปอ่านสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบ ที่มีสีสัน มีชีวิตเลือดเนื้อกว่าสามก๊กอื่น

อ่านโจโฉนายกฯ ตลอดกาลของคุณชายคึกฤทธิ์อย่างครื้นเครง

ยิ่งพอรู้ว่าคุณชายเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อ “แดก(ดัน)” จอมพล ป. ด้วยแล้ว

ยิ่งสนุกใหญ่

จากนั้นก็อ่านเรื่องเกร็ด เรื่องคน เรื่องมุมมอง

แม้กระทั่งเบื้องหลัง/แรงบันดาลใจในการเขียนวรรณกรรมเล่มนี้ของหลอกว้านจง (หรือล่อกวนตง ตามสำนวนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง)

แต่ไม่ยักได้ดูซีรี่ส์

มีข้อยกเว้นตอน จอห์น วู สร้างเป็นหนังใหญ่

เพื่อจะจูงใจให้ลูกชายอ่านสามก๊ก เหมือนไปดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วมีแรงบันดาลใจให้กลับมาตะลุยอ่าน

ก็เลยยกโขยงกันไปดูทั้งบ้าน

จนหนล่าสุดที่ช่อง 3 เอามาฉาย

ก็ยังไม่ได้ดูอยู่ดี

แต่ตั้งใจเอาไว้แล้วว่า ถ้าช่อง 3 เขาเอาหนังมาลงเป็นคลิปในเพจข่าวสดหรือเพจเขาเองเมื่อไหร่

และดูตอนไหนก็ได้สามก๊ก

ก็คงได้ฤกษ์ดูกันอย่างเอาจริงเอาจัง

ทั้งหมดนี้กราบเรียนตรงๆ ว่าเขียนมาเพื่อจะขายของครับ

เนื่องจากบัตรมีจำนวนจำกัดคือ 900 ที่นั่ง

แล้วยังต้องเจียดแบ่งให้สปอนเซอร์ไปอีกบางส่วน

ถ้าสนใจก็อย่าพลาดนะครับ

งานนี้ไม่ใช่ “จัดเต็ม” แค่เนื้อหา

แต่ว่า “การนำเสนอ” โดยระบบแสงสีเสียงยังจะช่วยขับเน้นให้มีสีสัน มีมิติ น่าชม น่าสนุกยิ่งขึ้น

ชอบ-ไม่ชอบ อ่าน-ไม่อ่านสามก๊ก ก็ฟัง-ดูได้ทั้งนั้น

รับรองว่าในสมองมีหยักเพิ่มขึ้นอีกเยอะ

ก็ไม่ได้โม้

ฮ่าาาาา