ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 มีนาคม 2564 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ก่อน COVID-19 บุกโลกหลายปี ปรากฏการณ์ซึ่งกลายเป็นกระแสช่วงหนึ่งคือการใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือรับใช้ศาสนา
ไม่ว่าจะเป็นสวดมนต์ออนไลน์ นั่งสมาธิออนไลน์ เวียนเทียนออนไลน์ หล่อเทียนพรรษาออนไลน์ ทอดกฐิน-ผ้าป่าออนไลน์
คล้ายกับว่า มีความพยายามใช้สื่อออนไลน์ในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มห่างไกลวัด และพิธีกรรมทางศาสนามากขึ้น
อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็ตรงกับสถิติที่สำนักวิจัยระดับโลกหลายแห่ง ที่เผยผลสำรวจว่าคนรุ่นใหม่เลิกนับถือศาสนามากขึ้น
The Pew Research Center’s Forum on Religion & Public Life ได้เปิดรายงานการสำรวจอัตราการนับถือศาสนาครั้งล่าสุด
ผลการวิจัยพบว่า เกิดปรากฏการณ์ประชากรจำนวนมากถึงเกือบ 1,200 ล้านคนทั่วโลก ได้ระบุว่า ตนนั้นเป็นผู้ “ไม่นับถือศาสนา”
พุ่งพรวดจากผลสำรวจของ International Social Survey ในปี ค.ศ.2008 ที่พบว่า มีผู้ที่ “ไม่นับถือศาสนา” ประมาณ 35 ล้านคนทั่วโลก
หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรโลกทั้งหมดในตอนนั้น
โดยในปี ค.ศ.2019 ได้มีการสำรวจใหม่โดย The Pew Research Center ดังที่กล่าวไปว่าทุกวันนี้ อัตราการ “ไม่นับถือศาสนา” ของประชากรโลก โดยเฉพาะในหมู่ Generation ใหม่ ได้ก้าวกระโดดไปอยู่ที่กว่า 1,100 ล้านคน
คิดเป็น 16% ของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน โดยจีนนำหน้ามามากถึง 700 ล้านคน รองลงมาคือญี่ปุ่น 70 ล้าน อเมริกา 50 ล้าน
พี่ไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะ The Pew Research Center ชี้ว่า “ไทย” มีผู้ “ไม่นับถือศาสนา” มากถึง 20% จากจำนวนประชากรทั้งหมด!
ส่วนหนึ่ง อาจเป็นผลมาจากกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2554) ออกตามความในพระราชบัญญัติประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526
ข้อ 5 (10) ว่า รายการศาสนา หรือนิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนาของผู้ถือบัตรประจำตัวประชาชนนั้น “จะมีหรือไม่ก็ได้”
สอดคล้องต้องกันกับ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” หรือ Universal Declaration of Human Rights (UDHR) ข้อ 18
ที่กล่าวว่า การนับถือศาสนานั้น เป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เพราะทุกคนย่อมมีเหตุผลของตนเอง ว่าจะเลือกนับถือ หรือไม่นับถือศาสนา
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า หลักใหญ่ใจความที่คน Generation ใหม่ จำนวนมาก กำลังหันหลังให้กับศาสนา นอกจากกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้คน Generation ใหม่ “ไม่นับถือศาสนา” นั้น เกิดขึ้นจากวิกฤตศรัทธาที่มีต่อบุคลากรที่เกี่ยวของกับการนับถือศาสนา
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากค่านิยม มุมมอง ความคิด หรือ “มโนทัศน์” ในระดับ “วัฒนธรรม” ของคน Generation ใหม่มากกว่า
อันที่จริง ไม่เฉพาะคน Generation ใหม่ เพราะคน Generation เก่าจำนวนมากก็นับถือศาสนากันแค่ที่ระบุกันไว้ในบัตรประชาชนใบเก่า
ถามว่า ทุกวันนี้ คนเฒ่าคนแก่ที่ตื่นแต่เช้ามืดมาตักบาตรมีมากน้อยเพียงใด
พุทธมามกะที่ปวารณาตน ถือศีล 5 กันอย่างเคร่งครัดจริงหรือไม่
ไม่ต้องพูดถึงทัศนคติของคน Generation ใหม่ ที่โตมากับข่าวฉาวในวงการผ้าเหลือง เข้าวัดก็เจอแต่พุทธพาณิชย์ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คำถาม” ของคน Generation ใหม่ ถึง “ทางเลือกในการนับถือศาสนา” มากกว่าการที่เกิดมาในครอบครัวศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
เป็นความขัดแย้งในใจคน Generation ใหม่จำนวนมากผู้เติบโตมากับโลกคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มโนทัศน์ที่มองว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งกับที่ ไม่มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป
และที่สำคัญก็คือ ศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังคนต่างศาสนา และถูกใช้เป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจในการปกครองประชาชน
ตรงกับระบบ Clericalism ในศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่สืบทอดว่า บาทหลวงเป็นผู้ที่มีความรู้สึกเหนือกว่าคนทั่วไป ทั้งทางสถานะ และทางศีลธรรม
บาทหลวงรู้ดีที่สุด และจงเชื่อฟังบาทหลวงอย่างสนิทใจ โดยไม่ต้องพิจารณา หรือไตร่ตรองใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่บาทหลวงก็คือมนุษย์เหมือนกับเรา
นำไปสู่การที่คน Generation ใหม่ทั่วทุกมุมโลกต่างกำลังพากันหันหลังให้กับ “การนับถือศาสนา”
เกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ 2 กลุ่มด้วยกัน
หนึ่งคือ Atheist และสองคือ SBNR โดย Atheist เป็นคำที่ผสมขึ้นจากศัพท์ 2 ตัวคือ A หรือ “อะ” แปลว่า “ไม่” กับ Theist (Theo) แปลว่า “เทพเจ้า”
Atheist จึงส่งนัยถึง ผู้ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของเทพเจ้า (พระเจ้า) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเรื่องเหนือธรรมชาติ และหมายรวมถึงการไม่นับถือศาสนาด้วย
จาก Atheist นำมาสู่คำว่า Atheism หรือแนวคิด “อเทวนิยม” คือการ “ไม่เชื่อ” ในศาสนาที่มีพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพยดา
Materialism หรือ “สสารนิยม” คือการ “ไม่เชื่อ” เรื่อง “จิต” และเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์ (ชีวิต) เป็นเพียงการประกอบขึ้นมาของ “สสาร” หรือ “วัตถุ”
Secular Humanism หรือแนวคิดที่เชื่อว่า “มนุษย์” คือผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง หาใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสดาไม่
Skeptics และ Agnostics นั้น คิดคล้ายๆ กัน คือการตั้งข้อสงสัยในศาสนา และพระเจ้า หรือความเชื่อใดๆ หนักข้อที่สุดคือ Irreligion ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย
ส่วน SBNR นั้น ย่อมาจาก Spiritual But Not Religious หรือ “อศาสนิก” ที่เชื่อในเรื่อง “ธรรม” และ “จิตวิญญาณ” แต่ “ไม่นับถือศาสนา”
อย่างไรก็ดี การที่ The Pew Research Center’s Forum on Religion & Public Life ได้เปิดรายงานการสำรวจอัตราการนับถือศาสนาครั้งล่าสุด
ที่ตรงกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งชี้ว่า SBNR มีอัตราเติบโตเร็วที่สุดในโลก และได้กลายเป็น “กลุ่มศาสนา” ขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกไปแล้ว
โดยเรียงลำดับศาสนาหลักของโลก โดยประมาณดังนี้
1. ศาสนาคริสต์ 2,100 ล้านคน
2. ศาสนาอิสลาม 1,500 ล้านคน
3. SBNR 1,100 ล้านคน
อันดับ 4 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 900 ล้านคน
5. ศาสนาพุทธนิกายมหายาน 400 ล้านคน
6. ศาสนาพุทธนิกายหินยาน 375 ล้านคน และศาสนาซิกข์ 23 ล้านคน
ที่น่าสนใจก็คือ มีจำนวนกลุ่มผู้นับถือ “ผี” ของชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลกมากถึง 300 ล้านคน และศาสนาโยรูบาอีก 100 ล้านคน จากนั้นศาสนาอื่นๆ ก็ลดหลั่นกันลงไป
ตัวอย่างสำคัญอันหนึ่งก็คือ สถานการณ์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิก
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ทรงยอมรับว่า โครงสร้างของศาสนจักรในปัจจุบัน คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มถอยห่าง
ศาสนจักรกำลังเผชิญสถานการณ์ยากลำบาก ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตความน่าเชื่อถือ และทัศนคติที่ต่างกันระหว่างคน Generation เก่ากับคน Generation ใหม่
ท่านกล่าวว่า หากศาสนจักรไม่ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ก็แปลว่า ศาสนจักรกำลังปิดกั้นสิ่งใหม่ๆ และจะไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกต่อไปในอนาคต
ศาสนจักรไม่อาจหลีกหนีจากความผิดพลาดทั้งหลายได้ และบาทหลวงก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งอาจมีข้อเสียและข้อบกพร่องต่างๆ ได้
เราต้องกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด และเผชิญหน้ากับความจริง พร้อมที่จะเรียนรู้ และแก้ไขข้อบกพร่องนั้น Pope กล่าว