คุยกับทูต : อูก ซอร์พวน ไทย กัมพูชา พัฒนาสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน (ตอนจบ) “ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม”

“กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผม ครั้งแรกมาเป็นอุปทูตเป็นเวลาสี่ปี และปัจจุบัน นับเป็นครั้งที่สองในตำแหน่งเอกอัครราชทูตซึ่งมีวาระสามหรือสี่ปี ผมและครอบครัวมีความสุขเพราะคนไทยมีความเป็นมิตรมาก และเราก็ชอบอาหารไทย”

ท่านทูตกัมพูชาอูก ซอร์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) ยิ้มแย้มแจ่มใสขณะเล่าว่า

“ผมแต่งงานเมื่ออายุ 24 ปี เรามีลูกชายสามคน คนโตเรียนที่กัมพูชา คนที่สองเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ และคนที่สามเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ เดอะ รีเจ้นท์ กรุงเทพฯ ทุกคนได้รับทุนการศึกษา และสนใจในการเป็นนักการทูตด้วย”

“อยู่ที่นี่เราไม่รู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศด้วยซ้ำ เพราะทุกอย่างเป็นที่คุ้นเคย มีความสะดวกสบาย และมีเพื่อนมากมาย”

“ผมมีงานทำทุกวันไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ และอย่างที่เคยบอก คือไปเยี่ยมเยียนคนกัมพูชาในต่างจังหวัด ซึ่งก็ได้ไปมาแล้วเกือบทั่วประเทศไทย เพื่อดูแลทุกข์สุขและให้การสนับสนุนช่วยเหลือ เพราะผมอุทิศตนรับใช้ประชาชนและประเทศกัมพูชาเพื่อความเจริญก้าวหน้าผาสุกยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา”

“ตั้งแต่มารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2019 เราได้เผชิญกับความท้าทายหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่น้อยกว่า 1,000 กิจกรรมเพื่อชูภาพลักษณ์ของกัมพูชาในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ”

“และแน่นอนที่สุด โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในปีที่ผ่านมาคือ ค.ศ.2020 ก็กลายเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งของผมจนกระทั่งทุกวันนี้ กิจกรรมต่างๆ ของเราจึงเหลือเพียง 400 กิจกรรม ซึ่งเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”

ท่านทูตมองเห็นอนาคตของบ้านเกิดเมืองนอนอย่างไร

“ด้วยความมุ่งมั่นและตระหนักในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากอดีตสู่ปัจจุบัน และในอนาคตข้างหน้า กัมพูชาได้พิสูจน์แล้วว่า ได้ทุ่มเทให้กับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน”

ธนาคารโลกรายงานว่า สถานะของกัมพูชาเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ต่ำมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำเมื่อ ปี ค.ศ.2015 อัตราความยากจนลดลงจาก 53% (ในปี 2004) เหลือ 10% (ในปี 2018)

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวเมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ.2019 ว่า อัตราความยากจนในกัมพูชาลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป

“สันติภาพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายการพัฒนาที่เหมาะสมภายใต้ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม (Rectangular Strategy) ที่เป็นแนวทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ช่วยลดอัตราความยากจนในกัมพูชาอย่างมาก จากร้อยละ 53.2 ในปี 2004 เหลือเพียงรอยละ 10 ในขณะนี้”

รัฐบาลกัมพูชาดําเนินงานตามยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลกัมพูชาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วงที่ผ่านมาโดยมีจุดมุ่งหมายให้กัมพูชาเดินหน้าไปสู่การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยมเป็นยุทธศาสตร์ที่นําจุดเด่นของนโยบาย และยุทธศาสตร์ต่างๆ ของกัมพูชามารวมไว้ด้วยกัน อาทิ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของกัมพูชา (CMDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา (SEDP) และยุทธศาสตร์การลดความยากจนแห่งชาติ (NPRS) เป็นต้น ภายใต้คำขวัญว่า “The Rectangular Strategy for Growth, Employment, Equity and Efficiency in Cambodia” หรือ “ยุทธศาสตร์สี่เหลี่ยมเพื่อการเติบโต การจ้างงาน ความเสมอภาค และความมีประสิทธิภาพในกัมพูชา”

กัมพูชาประสบความสำเร็จด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มาจากการส่งออก เสื้อผ้า การท่องเที่ยว การเกษตร การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

ปัจจุบัน มีประชากรราว 16 ล้านคน เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ แต่กัมพูชาตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี 2030 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2050 ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติและชาวกัมพูชา

ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้จำแนกสถานะประเทศตามลำดับรายได้ไว้ว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ คือมีรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) อยู่ระหว่าง 1,006-3,955 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 30,000-120,000 บาท)

ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงอยู่ที่ 3,956-12,235 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 120,000-370,000 บาท) และประเทศรายได้สูงอยู่ที่ 12,236 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ราว 370,000 บาท)

นอกจากความสามารถทางการทูต ใช้ความชำนาญในภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านทูตอูก ซอร์พวน ยังมีความสามารถในการเล่นกอล์ฟกับเพื่อนทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยหรือนักธุรกิจตามวาระต่างๆ

“ส่วนใหญ่ผมชอบใช้เวลากับครอบครัว แต่หลังเลิกงานตอนเย็นๆ ผมมักออกกำลังกายเป็นประจำที่ยิมเล็กๆ ในทำเนียบ หรือไม่ก็วิ่งรอบๆ สถานทูต นอกจากนี้ ยังชอบเล่นวอลเลย์บอล ปิงปอง อ่านหนังสือ และท่องเที่ยวนอกกรุงเทพฯ เช่น เขาใหญ่ ซึ่งไม่ไกลมาก อากาศดี และมีสเต๊กอร่อยทีเดียว”

“ก่อนหน้านี้ ผมเดินทางไปประชุมอย่างเป็นทางการประมาณ 40 ประเทศ แล้วก็พบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดสำหรับนักการทูตที่มาประจำ เพราะจะได้รับประโยชน์อย่างมากมาย มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หลายด้าน รวมทั้งในด้านพิธีการ (protocol) และการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมในฐานะเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักร”

 

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นนักการทูต

“ผมคิดว่า ควรมีความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพื่อช่วยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับประเทศเจ้าภาพ ตลอดจนมีความสามารถในการปรับตัว ยืดหยุ่นกับเป้าหมาย บนหลักการที่มั่นคง”

“สำหรับผู้สนใจในชีวิตของนักการทูตหรืออยากมีอาชีพเป็นนักการทูต ขณะนี้ ผมกำลังเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า การทูตเชิงเศรษฐกิจ หรือ Economic Diplomacy ทั้งภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานทางการทูตของผมทุกขั้นตอนรวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยจะพิมพ์ 5,000 เล่ม ซึ่งอีกประมาณ 6 เดือนก็จะหาได้ตามร้านหนังสือและมหาวิทยาลัยต่างๆ”

ปัจจุบัน นโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศมักจะให้ความสำคัญกับการทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) หรือการทูตเชิงพาณิชย์ (Commercial Diplomacy) ซึ่งถือเป็นการทูตแนวใหม่ที่ใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือทางการทูตและใช้การทูตส่งเสริมเศรษฐกิจ

ท่านทูตอูก ซอร์พวน กล่าวในตอนท้ายของการให้สัมภาษณ์ว่า

“ปีที่แล้วนับเป็นปีที่ 70 ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชา ถือเป็นมิตรภาพอย่างเป็นทางการด้วยจิตวิญญาณที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ขอให้เราบันทึกไว้ว่า อีก 70 ปีข้างหน้าและในอนาคตต่อไปจะเป็นช่วงเวลาแห่งสันติสุข และความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พี่น้องผองเราใน ประชาคมอาเซียน”