ขบวนการสังคมนิยมนิเวศ / วิกฤติศตวรรษที่21614 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21614

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (14)

 

ขบวนการสังคมนิยมนิเวศ

ขบวนการสังคมนิยมนิเวศมีเครือข่ายในหลายประเทศของยุโรป อเมริกา รวมทั้งเอเชียและแอฟริกา ในอินเดีย นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชื่อดังอย่างเช่น ดร.วันทนา ศิวะ (เกิด 1952 ถึงปัจจุบัน) จัดว่าอยู่ในกลุ่มนักสังคมนิยมนิเวศ เป็นนักสตรีนิยมนิเวศต่อต้านโลกาภิวัตน์

ในแอฟริกาใต้มีนักสังคมนิยมนิเวศอย่างเช่น ศ.วิชวอส แซตการ์ (Vishwas Satgar) บรรณาธิการโครงการหนังสือชุดลัทธิมาร์กซ์แบบประชาธิปไตย (Democratic Marxism ไม่ใช่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ) เผยแพร่งานเล่มที่ 3 ชื่อ “วิกฤติภูมิอากาศ : แอฟริกาใต้กับทางเลือกสังคมนิยมนิเวศโลกแบบประชาธิปไตย” (ปี 2018)

ในขบวนสังคมนิยมนิเวศมีเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่ทัศนะและกิจกรรมหลายแห่ง พอสรุปได้ว่าขบวนการนี้มีลักษณะเปิด ไม่ได้มีความพยายามในการสร้างศูนย์กลางเดียวแบบขบวนการคอมมิวนิสต์เดิม

แต่ก็สร้างเครือข่ายเพื่อเสริมพลังและเรียนรู้บทเรียนระหว่างกัน

เป็นพลวัตพร้อมรับสิ่งอุบัติใหม่ มีความยืดหยุ่นในปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มสิ่งแวดล้อมอื่น

และท้ายสุดเป็นการเคลื่อนไหวจากชั้นล่างสู่ชั้นบน ในประเทศจีนตั้งแต่สมัยสีจิ้นผิง มีการประกาศนโยบายอารธรรมนิเวศ เป็นการเคลื่อนไหวจากบนสู่ล่าง

บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนขบวนการสังคมนิยมนิเวศที่จะกล่าวถึงมี 2 คน ได้แก่ โจเอล โคเวล และไมเคิล โลวี จะได้กล่าวถึงเป็นลำดับไป

ก) โจเอล โคเวล (Joel Kovel 1936-2018)

เป็นนักวิชาการและนักเขียนอเมริกัน เดิมสนใจทางจิตวิเคราะห์ เข้าร่วมขบวนการต่อต้านสงครามตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และเริ่มสนใจงานของมาร์กซ์ ทำให้เขากลายเป็น “นักจิตวิเคราะห์แบบมาร์กซ์”

ในห้วงเวลานั้น เขาเขียนหนังสือชื่อ “ลัทธิเชื้อชาติผิวขาว” (White racism, a psychohistory เผยแพร่ครั้งแรกปี 1970) ชี้ว่าลัทธิชาตินิยมผิวขาวได้ฝังลึกอยู่ในอคติของจิตใต้สำนึกในอารยธรรมของตะวันตก

ดังนั้น เป็นการยากมากที่จะปฏิรูปแก้ไข เป็นการนำเรื่องจิตใต้สำนึกมาใช้ในสังคมและประวัติศาสตร์

ในปี 1985 เขาได้ละทิ้งวิชาชีพจิตวิเคราะห์ หันมาสู่ด้านรัฐศาสตร์ เข้าร่วมขบวนการสิ่งแวดล้อม เริ่มในพรรคกรีนของสหรัฐ และได้เป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครเป็นวุฒิสมาชิก ในการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เขาได้สัมผัสกับแนวคิดทฤษฎีจำนวนมากที่เป็นฝ่ายสังคมนิยม เช่น เจมส์ โอคอนเนอร์ ที่กล่าวแล้ว

เขายังได้เป็นบรรณาธิการของวารสาร “ทุนนิยม ธรรมชาติ สังคมนิยม” ที่โอคอนเนอร์เป็นผู้ก่อตั้ง ระหว่างปี 2002-2012 ที่เป็นฝ่ายทุนนิยม เช่น แนวคิด “ทุนนิยมธรรมชาติ” ของพอล ฮอว์เกน (นักสิ่งแวดล้อมและผู้ประกอบการ) และอมอรี โลวิน (นักฟิสิกส์) ซึ่งจำแนกทุนออกเป็นหลายชนิด รวมทั้งธรรมชาติ

โคเวลมีงานสำคัญชื่อ “ศัตรูของธรรมชาติ” (The Enemy of Nature : The End of Capitalism or the End of the World? เผยแพร่ครั้งแรกปี 2002 แก้ไขพิมพ์ครั้งที่สองปี 2007) ชี้ว่าระบบทุนนิยมและผลพลอยได้ คือ จักรวรรดินิยมสงคราม โลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ ลัทธิเชื้อชาติ ความยากจน และการทำลายล้างชุมชน ทั้งหมดได้ทำลายระบบนิเวศที่เราอาศัยอยู่

เขา “ฟันธง” ว่าระบบทุนไม่อาจปฏิรูปได้ ดังนั้น เหลือแต่ทางเลือกว่า จะเปิดโอกาสให้ระบบทุนปกครอง และทำลายเรา หรือเราทำลายทุนนิยมและรักษาโลกการดำรงชีพของเราไว้ งานเขียนของเขามีลักษณะจูงใจ เร่าร้อน และมีความหวังในการปฏิวัติสังคมนิยมนิเวศ

โจเอล โคเวล เป็นนักวิเคราะห์สังเคราะห์ที่ลุ่มลึก เน้นการรักษาโรคคือการแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างระบบคิดใหม่เรียกว่าสังคมนิยมนิเวศซึ่งเป็นรูปแบบการผลิตใหม่ของการทำงานอย่างเสรีที่รวมตัวกัน เลือกคุณค่าทางนิเวศเป็นแกนกลาง

อธิบายความมั่งคั่งใหม่ ฟื้นฟูความเสียหายทางธรรมชาติแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจศีลธรรม ไม่ใช่ลัทธิบูชาสินค้า สร้างสังคมที่เสมอภาคและเป็นประชาธิปไตย และแบบวิถีชีวิตบนฐานการมีกรรมสิทธิ์ร่วมแบบคอมมูน มีการบริโภคแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

Michael Lowy

ข) ไมเคิล โลวี (Michael Lowy เกิด 1938 ถึงปัจจุบันและยังเคลื่อนไหว)

นักสังคมวิทยาและนักปรัชญาชาวบราซิล-ฝรั่งเศส เขาเกิดและเติบโตที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ไปศึกษาต่อและพำนักในฝรั่งเศสในทศวรรษ 1960 มีแนวคิดแบบสังคมนิยมตั้งแต่อายุ 16 ปี

ได้อิทธิพลจากงานเขียนของโรซา ลักเซมเบิร์ก (1871-1919) นักปฏิวัติสตรีชาวโปแลนด์ ผู้นำความคิดว่า “ถ้าไม่เป็นสังคมนิยม ก็ต้องกลับสู่ความป่าเถื่อน” มาใช้อย่างทรงพลังในการปฏิวัติ จนถึงยุคสังคมนิยมนิเวศ

งานสำคัญของไมเคิล โลวี ได้แก่ ร่วมการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายในยุโรปและละตินอเมริกา และการอธิบายความสำคัญจำเป็นของสังคมนิยมนิเวศ

ในด้านการร่วมกันสร้างขบวนการชาวสังคมนิยมนิเวศ เริ่มจากบุคคลทั้งสองได้พบกัน เห็นพ้องว่า ถึงเวลาที่จะต้องรวมพลังสีแดงคือพลังปฏิวัติสังคมนิยม และสีเขียวคือพลังการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน เป็นขบวนการแดง-เขียว หรือขบวนการแตงโม เรียกว่าสังคมนิยมนิเวศ

โคเวลเป็นผู้ร่าง “แถลงการณ์สากลชาวสังคมนิยมนิเวศ” โลวีเป็นผู้วิจารณ์แถลงการณ์นี้เป็นเหมือนการ “โยนหินถามทาง” ว่าจะได้รับความสนใจจากชาวสังคมนิยมนิเวศเพียงใด

ซึ่งนับว่าได้รับการตอบสนองพอสมควร โดยเฉพาะจากเอียน แองกัส (เกิด 1945) นักเคลื่อนไหวชาวแคนาดา และฮิวโก บลังโก (Hugo Blanco เกิด1934) ผู้นำชนชาติส่วนน้อยในเปรู เข้าร่วมสร้างเครือข่ายสากลนักสังคมนิยมนิเวศในปี 2007

และนำมาสู่การออกแถลงการณ์ชาวสังคมนิยมนิเวศฉบับที่สอง (2008) เขียนร่วมกันโดยโจเอล โคเวล เอียน แองกัส และไมเคิล โลวี

มีจุดเน้นที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เป็นคำประกาศที่ลงนามโดยนักสังคมนิยมนิเวศหลายร้อยคนจาก 40 ประเทศ

นับว่าทฤษฎีและการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมนิยมนิเวศได้ตั้งมั่นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

 

ขบวนการสังคมนิยมนิเวศได้แรงสนับสนุนจากสำนักวารสารแนวมาร์กซิสต์อิสระ “มันธ์ลี่ รีวิว” (ฉบับแรกออกปี 1949) ผ่านการต่อสู้และเหตุการณ์พลิกผันจำนวนมาก ผู้มีแนวคิดสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงจากวงการหลากหลาย ได้มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนี้จำนวนมาก

เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เช กูวารา, เอ็มมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ และเรย์มอนด์ วิลเลียม

ต่อมาได้ตั้งสำนักพิมพ์มันธ์ลี่ รีวิว (1951) พิมพ์เผยแพร่หนังสือด้านสังคมนิเวศ อย่างเช่น “แดงเข้มในความเขียว” ของเอียน แองกัส (A Redder Shade of Green 2017) ชี้ว่าการปฏิวัติทางนิเวศที่แท้จริงต้องเป็นแบบสังคมนิยม และการปฏิวัติสังคมนิยมที่แท้จริงต้องเป็นการปฏิวัติเชิงนิเวศ

บรรณาธิการคนปัจจุบันของมันธ์ลี่ รีวิว ได้แก่ จอห์น เบลลามี ฟอสเตอร์ (John Bellamy Foster เกิด 1953) เข้าร่วมขบวนการต่อต้านสงครามตั้งแต่ยังหนุ่ม ศึกษาด้านรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา ในปลายทศวรรษที่ 1980 จึงได้สนใจด้านสิ่งแวดล้อม เขียนหนังสือด้านนี้เล่มแรกชื่อ “นิเวศวิทยาของมาร์กซ์” (2000) เล่มท้ายชื่อ “การกลับคืนของธรรมชาติ : สังคมนิยมและนิเวศวิทยา” (2020)

สังคมนิยมนิเวศในขณะนี้ยังกระจุกตัวในวงไม่กว้างนัก แต่มีอิทธิพลสูงในทางความคิดทฤษฎีและการเคลื่อนไหว เนื่องจากวิกฤติทุนนิยมและสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น

และสังคมนิยมนิเวศสามารถให้คำอธิบายและทางออกได้อย่างเป็นระบบ แต่อนาคตของสังคมนิเวศไม่ใช่ว่าจะสดใส เนื่องจากการตอบโต้จากระบบทุนนิยม

ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในฉบับหน้า