จีนอพยพใหม่ในไทย (22) ชีวิต ความคิด และความหวัง / เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (22)

 

ชีวิต ความคิด และความหวัง

ชาวจีนอพยพใหม่ในไทยนอกจากจะมีเหตุจูงใจในการอพยพ การปรับตัว และการมีอาชีพดังผู้อพยพชาติอื่นๆ แล้วก็ยังมีความรู้สึกนึกคิดต่อภาวะแวดล้อมใหม่ของพื้นที่ปลายทางอีกด้วย ความรู้สึกนึกคิดนี้คงมีทั้งที่เหมือนและต่างจากผู้อพยพชาติอื่นเป็นธรรมดา และอาจไปด้วยกันได้หรือไม่ได้กับกฎกติกา ระเบียบ หรือกฎหมายของพื้นที่ปลายทางเช่นกัน

กล่าวเฉพาะชาวจีนอพยพที่เข้ามาในไทยโดยแบ่งเป็นสองช่วงด้วยแล้ว (คือช่วงหลังเปิดประเทศไม่นานกับช่วงที่เปิดอย่างเต็มที่) ความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนสองกลุ่มสองช่วงนี้ย่อมมีความแตกต่างกันในรายละเอียด

การศึกษาในที่นี้จึงแยกอธิบายความรู้สึกนึกคิดของชาวจีนเหล่านี้ออกเป็นประเด็นๆ ไป

ดังนี้

 

เรื่องกินเรื่องใหญ่

สิ่งที่ผู้อพยพทุกชาติทุกภาษาต้องเผชิญเป็นสิ่งแรกเมื่อไปถึงดินแดนปลายทางก็คือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ในดินแดนปลายทาง แต่การปรับตัวของชาวจีนในดินแดนไทยที่สำคัญก็คือ อาหาร

สำหรับชาวจีนอพยพแล้วประเด็นเรื่องอาหารมิได้อยู่ตรงว่าเข้าถึงอาหารหรือไม่อย่างไร หากแต่อยู่ตรงพื้นฐานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างไทยกับจีน ประเด็นปัญหานี้มีอยู่สองประการด้วยกัน

ประการแรก ชาวจีนเป็นชนชาติที่บริโภคอาหารค่อนข้างมากในแต่ละมื้อ ในขณะที่ชาวไทยมิได้บริโภคมากเท่าชาวจีน

ประการต่อมา ลักษณะของอาหารไทยที่มีรสชาติจัดจ้านเป็นพื้นไม่เป็นที่คุ้นเคยของชาวจีน จนยากที่จะรับอาหารไทยได้โดยง่าย

ความแตกต่างของวัฒนธรรมอาหารนี้ทำให้ชาวจีนให้ข้อมูลตรงกันว่า เป็นเพียงเรื่องเดียวที่ชาวจีนมิอาจปรับตัวให้เข้ากับอาหารไทยได้ ซึ่งหากเทียบกับเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว เรื่องหลังกลับไม่สู้เป็นปัญหามากนัก ที่สำคัญ ชาวจีนไม่ต้องเผชิญอากาศที่หนาวเย็นแบบที่ต้องเผชิญเป็นปกติในจีน ถึงแม้จะมีเสียงบ่นอยู่บ้างว่าอากาศเมืองไทยร้อน

แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่เป็นอุปสรรคหรือปัญหาในการปรับตัวเท่าเรื่องอาหาร

 

การที่ผู้วิจัยให้ความสำคัญกับการปรับตัวในเรื่องอาหารของชาวจีนนี้ก็เพราะว่า จีนเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารจนเป็นที่กล่าวขานกันว่า สำหรับชาวจีนแล้ว “เรื่องกินเรื่องใหญ่”

แต่การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ของชาวจีนก็มีประเด็นที่พึงแยกอธิบายด้วยว่า การที่ชาวจีนบริโภคอาหารปริมาณค่อนข้างมากนั้นเป็นเพราะภูมิอากาศในจีนค่อนข้างหนาว ทำให้ร่างกายต้องการความอบอุ่นจากอาหารค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความอบอุ่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับการทำงานที่ต้องใช้พลังงาน

แต่การบริโภคอาหารในปริมาณมากนี้ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะในการทำอาหารของชาวจีน ที่อาหารจีนได้รับการยกย่องว่ามีรสชาติเป็นเลิศชาติหนึ่งของโลก

ที่ต้องแยกอธิบายเช่นนี้ก็เพราะว่า การบริโภคอาหารในปริมาณมากไม่จำเป็นจะต้องเป็นอาหารเลิศรสเสมอไป เพราะอาหารในชีวิตประจำวันของชาวจีนมักเป็นอาหารพื้นๆ ที่มิได้พิสดารหรือปรุงอย่างประณีตดุจอาหารชั้นเลิศในภัตตาคาร ส่วนการบริโภคอาหารเลิศรสนั้นย่อมขึ้นอยู่กับโอกาสพิเศษต่างๆ

ซึ่งแน่นอนว่า การบริโภคอาจจะมีปริมาณมากกว่าปกติ (ซึ่งมากอยู่แล้ว) ก็ได้

จากเหตุที่ยากจะปรับตัวให้เข้ากับอาหารไทยดังกล่าว ชาวจีนในไทยจึงจำต้องเลือกซื้ออาหารจีนเท่าที่มีมารับประทานหรือไม่ก็ปรุงอาหารด้วยตนเอง ซึ่งทั้งสองทางเลือกนี้ล้วนมีข้อจำกัดในเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ประกอบหรือปรุงอาหารทั้งสิ้น เพราะมีวัตถุดิบบางชนิดที่ไทยไม่มี หรือมีคุณสมบัติไม่เหมือนกับที่จีนมี

ด้วยเหตุนี้ การปรับตัวในเรื่องอาหารจึงเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุดของชาวจีนอพยพในไทย ซึ่งหากปรับตัวได้จริงคงใช้เวลายาวนานไม่น้อย

 

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้พบกรณีหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ขณะที่ผู้วิจัยกำลังเข้าแถวเพื่อตักอาหารกลางวันในงานสัมมนางานหนึ่ง ผู้วิจัยพบว่า ชายหนุ่มจีนที่อยู่ข้างหน้าผู้วิจัยตักอาหารใส่ภาชนะของตนในปริมาณที่น้อย (หรืออีกนัยหนึ่งเท่ากับที่คนไทยตัก) ผิดกับชาวจีนรายอื่นที่อยู่ในงานเดียวกัน

จึงถามไปว่า เหตุใดจึงรับประทานน้อย ชาวจีนผู้นี้ตอบว่า ตนอยู่เมืองไทยนานนับสิบปีแล้ว จนปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศของไทยที่เป็นเมืองร้อนได้เป็นปกติ จากนั้นก็พบว่า อากาศที่ร้อนทำให้ไม่อาจรับประทานอาหารในปริมาณมากดังที่เคยรับในจีนได้อีกต่อไป

โดยหนุ่มจีนผู้นี้ใช้คำจีนว่า ชือปู๋เซี่ย ที่แปลได้ว่า กินไม่ลง

คำตอบนี้ทำให้เห็นว่า ชาวจีนผู้นี้ได้ปรับตัวในเรื่องปริมาณอาหารจนเท่ากับปริมาณที่คนไทยรับเป็นปกติ แต่กว่าจะปรับตัวหรือรู้ตัวก็ใช้เวลานานหลายปี

จากกรณีนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กล่าวเฉพาะปริมาณอาหารแล้วชาวจีนที่อยู่ในไทยปัจจุบันอาจปรับตัวได้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง แต่ในแง่ของรสชาติอาหารแล้วคงยากที่จะปรับตัวให้รับประทานอาหารไทยได้

 

บ้านเมืองและภูมิอากาศ

กล่าวในแง่เหตุจูงใจแล้ว ชาวจีนที่ตั้งใจอยู่ในไทยอาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่เห็นช่องทางหรือโอกาสในทางธุรกิจ การค้า หรือการลงทุน อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่นิยมชมชอบเมืองไทยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเมือง วัฒนธรรม อัธยาศัยของคนไทย ภูมิอากาศ หรือภูมิประเทศ เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดในสองกลุ่มนี้ก็ตาม เมื่อตัดสินใจมาอยู่ในไทยแล้วต่างย่อมต้องยอมรับสภาพบ้านเมืองหรือภูมิอากาศของไทยในที่สุด การยอมรับเช่นนี้จึงมาพร้อมกับการปรับตัว ซึ่งก็คงปรับตัวได้ในบางเรื่องและไม่ได้ในบางเรื่อง

ในกรณีที่ปรับตัวไม่ได้นั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องอาหารดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เพราะเป็นเรื่องที่ชาวจีนยังมีทางออกด้วยการทำอาหารจีนรับประทานเอง แต่เป็นเรื่องที่มีอยู่แต่เดิมและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (เช่น ภูมิอากาศ) ชาวจีนจำต้องยอมรับสถานเดียวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม

กล่าวในแง่สภาพบ้านเมืองแล้วไทยมีความแตกต่างไปจากจีนในหลายเรื่อง ซึ่งหากเป็นอดีตเมื่อราว 20-30 ปีก่อนไทยจะเจริญกว่าจีน แต่ปัจจุบันจีนมีความเจริญกว่าไทย เหตุดังนั้น ชาวจีนที่เข้ามายังไทยในเมื่ออดีตจึงไม่สู้จะมีปัญหามากเท่าชาวจีนที่อพยพเข้ามาในชั้นหลัง

เช่น ชาวจีนที่เข้ามาในชั้นหลังบางคนบางกลุ่มจะไม่สบอารมณ์กับเทคโนโลยีการสื่อสารของไทย ที่ไม่สะดวกรวดเร็วหรือทันสมัยเท่าจีน แต่ถ้าเป็นเรื่องของกฎระเบียบหรือกฎหมายแล้ว ชาวจีนย่อมต้องปรับตัวให้เข้ากับของไทยให้ได้ ที่เห็นได้ชัดง่ายๆ เรื่องหนึ่งคือ กฎจราจรที่ไทยขับรถชิดซ้าย แต่จีนขับรถชิดขวา ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรชาวจีนจำต้องปรับตัวให้คุ้นเคยกับการขับรถชิดซ้ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นต้น

แต่ความจริงก็คือว่า เรื่องบ้านเมืองนี้ยังมีอะไรที่มากกว่ากฎระเบียบหรือกฎหมาย อย่างเช่น บ้านเรือนที่พักอาศัย ถนนรนแคม วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ฯลฯ ที่ต่างไปจากจีนเช่นกัน แต่โดยมากแล้วชาวจีนจะปรับตัวจนอยู่ในสังคมไทยได้ด้วยดี

ส่วนในเรื่องของภูมิอากาศนั้นชาวจีนยอมรับว่ามีปัญหาเฉพาะฤดูร้อน ซึ่งในไทยจะมีอุณหภูมิที่สูงและยาวนานกว่าจีน ยิ่งเวลาที่มีปัญหาหมอกควัน (ภาคเหนือ) ด้วยแล้วจะมีปัญหาไม่ต่างกับคนไทยเช่นกัน

พ้นไปจากอากาศที่ร้อนในฤดูร้อนแล้วชาวจีนส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ดีกับฤดูอื่น จะดีมากหรือน้อยอย่างไรนั้น ส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับว่าชาวจีนแต่ละคนมีภูมิลำเนาเดิมในจีนอยู่ที่ใด แล้วอยู่ที่ภาคใดในไทย

หากภูมิลำเนาเดิมอยู่ทางภาคเหนือของจีนอย่างปักกิ่งหรือซันตง อันเป็นภาคที่มีฝนน้อยมาก และอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของไทย ชาวจีนกลุ่มนี้จะรู้สึกแปลกที่ได้เห็นฝนตกหนักและยาวนานประมาณครึ่งปีในภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ชาวจีนโดยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าสภาพมลพิษทางอากาศของไทยมีน้อยกว่าจีน เพราะตามเมืองใหญ่ของจีนมักมีค่ามลพิษสูงกว่าปกตินับสิบหรือนับร้อยเท่า มีชาวจีนหลายคนที่ให้เหตุผลว่าที่มาอยู่ในไทยเพราะปัญหามลพิษในจีน ชาวจีนกลุ่มนี้จึงเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ของจีน

และด้วยเหตุแห่งมลพิษนี้เอง ที่ทำให้ชาวจีนในกลุ่มนี้บางคนซื้อที่พักอาศัยอยู่ในไทยอย่างถาวร

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป