เราเกิดมาเหงาไม่เท่ากัน : นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง /นิ้วกลม [email protected]

เราเกิดมาเหงาไม่เท่ากัน

ในชีวิตเราล้วนพบเจอผู้คนสองขั้วโลกอยู่บ่อยๆ

แบบหนึ่งคือคนที่ยิ้มแย้มมาแต่ไกลและพร้อมจะทักทายทุกคนที่เพิ่งเจอหน้าด้วยความสนิทสนมราวกับคบหากันมาตั้งแต่อนุบาล

อีกแบบคือคนที่เก็บตัวอยู่ในมุมเงียบของห้องเรียน งานเลี้ยงสังสรรค์ และมุมเหงาในเมือง

อะไรทำให้คนหนึ่งเปิดตัวและเป็นมิตรเหลือล้น อะไรทำให้อีกคนมีความเหงาแผ่ปกคลุมหุ้มเรือนร่าง

เป็นไปได้ไหมว่า เราเกิดมาเหงาไม่เท่ากัน?

หนังสือ Loneliness โดย จอห์น ที. คาซิอ็อปโป และวิลเลียม แพทริก (แปลไทยโดย โตมร ศุขปรีชา) อธิบายข้อสงสัยนี้ไว้โดยละเอียด

เล่มนี้เริ่มต้นจากการยกตัวอย่าง ‘เคที บิชอป’ ซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยลุง ป้า น้า อา ห้อมล้อม ผู้คนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ

แต่ปรากฏว่าตัวเธอเองไม่ได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนอื่น และอยากหนีออกจากบ้านอยู่ตลอด กระทั่งเรียนจบก็ได้ย้ายออกไปตามตั้งใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ไกลบ้านคืออาการนอนไม่หลับ ป่วยง่าย กินเยอะ อ้วน และรู้สึกแย่กับตัวเอง

เมื่อเข้าทำงาน เคทีก็มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ความเหงากัดกินหัวใจของเธอทุกวี่วัน

ทั้งที่เธอมาจากครอบครัวอบอุ่น

เพราะอะไร?

หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า นี่อาจเป็นปัญหาที่เริ่มมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เธอตั้งมาตรฐานความสัมพันธ์ทางสังคมเอาไว้สูงมาก

หมายความว่าเธอต้องการความรักความห่วงใยอย่างมาก และต้องการ ‘คุณภาพ’ ของความสัมพันธ์อีกด้วย

แต่สิ่งนี้กลับกลายมาเป็นความอ่อนไหวอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ที่ขาดหายไป (คือไม่ได้รับมากเท่าที่ตั้งเกณฑ์ไว้) ทำให้การรับรู้ของเธอค่อยๆ บิดเบี้ยวไป

ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

นั่นหมายความว่า บางคนเกิดมาพร้อมพันธุกรรมที่เอื้อต่อการรู้สึกเหงาง่าย

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความยีนจะเป็นตราประทับให้ใครคนหนึ่งต้องเป็นคนเหงาไปตลอดชีวิต

ยีนเพียงมอบทิศทางของพฤติกรรมให้เรา

แต่ทิศทางที่ว่านี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก ในเล่มนี้ใช้คำว่า ‘พันธุกรรมที่เราได้รับมาสร้างข้อจำกัดบางอย่างให้เรา ทว่าก็มีพื้นที่พอให้เราขยับตัวได้’

สิ่งที่ทำให้ ‘ขยับ’ ได้ก็คือสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู

บางคนอาจอ่อนไหวต่อความสัมพันธ์มากกว่าคนอื่น แต่การที่ใครคนหนึ่งจะรู้สึกเหงาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้วย (อันนี้อาจเรียกว่า ความเหงาเชิงโครงสร้าง)

เมืองบางเมือง รูปแบบชีวิตบางอย่าง ค่านิยมบางแบบอาจก่อให้เกิดความเหงาขึ้นได้มากกว่าอีกแบบหนึ่ง

ฉะนั้น เราจะกลายเป็นคนเหงาหรือไม่ สิ่งแวดล้อมจึงมีผลอย่างมาก

 

ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญคือการเปิดรับสายสัมพันธ์ทางสังคมของเราเอง ในช่วงเวลาที่โดดเดี่ยว เรายินดีที่จะเปิดรับการทักทาย พูดคุย ทำความรู้จักจากคนอื่นมากน้อยแค่ไหน

ถ้าปิดประตูเสียแล้ว สายสัมพันธ์เหล่านี้มิได้ช่วยเราจากอาการเหงาแต่อย่างใด

แต่ถ้าเปิดใจ สิ่งเหล่านี้ก็จะเหมือนยาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้เลยทีเดียว

แน่นอนว่า เราต่างรู้กันดีว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนพ้องน้องพี่นำมาซึ่งความสุขในชีวิต แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคนเหงา

เพราะรากลึกของความเหงานั้นคือความกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในใจ ความกลัวนี้เองทำให้เราตีความการกระทำของคนอื่นผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากความจริง

ความกลัวที่ว่านั้นเกิดจากอะไร

รากของความกลัวมาจากธรรมชาติมนุษย์ที่วิวัฒนาการมาเพื่ออยู่รอด เราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น กับฝูง กับเผ่าของเราจึงจะรอดปลอดภัย เราจึงวิวัฒนาการมาให้รู้สึกดีเมื่อแนบชิดกับคนอื่น แต่ในมุมกลับ วิวัฒนาการก็บอกกับเราด้วยว่า ถ้าต้องอยู่เพียงลำพัง โดนปฏิเสธ หรือโดนขับจากฝูง จะตกอยู่ในอันตราย มันจึงหล่อหลอมให้เรารู้สึกแย่ ไม่มั่นคง และรู้สึกแบบเดียวกับเวลาถูกคุกคามทางร่างกาย

เมื่อรู้สึกเจ็บปวดและหวาดกลัวจากการอยู่ตามลำพัง เราจึงมองเห็นว่าผู้คนรอบตัวล้วนเป็นอันตราย ไม่น่าไว้ใจ รากลึกในใจเช่นนี้ทำให้เราไม่เปิดหัวใจเพื่อรับสายสัมพันธ์ใหม่ๆ

กลายเป็นว่า เหงายิ่งทำให้ปิดตัว พอปิดตัวก็ยิ่งเหงา

ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่หวาดกลัว เมื่ออยู่ในโหมดนั้น เราจะอยู่ในสภาวะที่พร้อมจะจู่โจมผู้คน (เพื่อป้องกันตัวเอง) จึงทำให้กลายเป็นคนที่สูญเสียการควบคุมอารมณ์ อาจทำให้ขี้โมโห เกรี้ยวกราด อยู่ในโหมดป้องกันตัวตลอด ส่งผลให้เข้าใจคนอื่นจากจุดยืนของเขาได้ยาก กลายเป็นไม่มีใครที่จะดีพอให้เราถูกใจหรือผูกมิตรได้เลย

คนรอบตัวกลายเป็นหัวเชื้อที่พร้อมปะทุให้เกิดไฟลุกเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ตลอดเวลา

คนเหงารู้สึกว่าคนอื่นอันตราย จึงตอบโต้ด้วยอารมณ์รุนแรง และนั่นยิ่งทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าไปผูกสัมพันธ์ด้วยได้เลย

 

จอห์น ที. คาซิอ็อปโป และวิลเลียม แพทริก พยายามชี้ให้เห็นว่า พันธุกรรมและประสบการณ์ชีวิตทำให้คนคนหนึ่งมีระดับความต้องการความรักและการห่วงใยไม่เท่ากัน อ่อนไหวต่อพฤติกรรมของคนอื่นไม่เท่ากัน

ฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักก็คือ ไม่ควรตำหนิอีกฝ่ายที่มีความต้องการไม่สอดคล้องกับเรา

เพราะเขาก็ไม่ได้เลือกที่จะเป็นเช่นนั้น

การรับฟังอาจช่วยทำให้ความสัมพันธ์มีพื้นที่ในการสื่อสารกันมากขึ้น เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งเริ่มรู้สึกกับอีกฝ่ายว่าจุกจิกจู้จี้ หรืออารมณ์รุนแรง ก็จะยิ่งผลักตัวเองออกห่างจากกันมากขึ้นไปอีก ทำให้คนที่รู้สึกเหงายิ่งตกลงไปในหลุมของความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนฝั่งของคนเหงาเองก็จำเป็นต้องมองเห็นตัวเอง รู้เท่าทันความกลัวกังวลในใจ เพื่อค่อยๆ ฝึกฝนนิสัยในการควบคุมอารมณ์ด้านลบของตัวเอง และเปิดตัวออกเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนคุ้มค่าที่จะฝึกและลงมือปฏิบัติ เพราะพิษของความเหงานั้นรุนแรงในทุกระดับ มันทำให้เรามองเห็นโลกรอบตัวไม่น่าพิสมัย กระทั่งมีเรื่องราวดีๆ เราก็จะรู้สึกไม่ดีกับมันเท่าที่ควร ส่วนเรื่องร้ายก็จะแย่รุนแรงไปอีกเท่าทวี

ความเครียดจากความเหงาส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ระบบเซลล์และอวัยวะเสื่อมสภาพ ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว มีผลต่อการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ เกิดความกลัวการเข้าสังคม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการงานและความสุขในชีวิต

 

หนังสือเล่มนี้บอกว่า ‘การที่ความเหงาจะคลายลงได้นั้นต้องการความร่วมมือจากคนอื่นอีกอย่างน้อย 1 คน’

คนเหงาจะค่อยๆ คลายเหงาเมื่อสานสัมพันธ์กับคนที่เต็มใจเชื่อมโยงกัน คนที่ไว้วางใจ คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ

คนคนนั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการและการคลี่คลายของคนเหงา

หากเราเป็นคนเหงา เราคงต้องการคนคนนั้น

แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นคนเหงา ผมคิดว่าเราอาจจะสามารถฝึกฝนที่จะเป็น ‘เพื่อนที่ดี’ สำหรับคนข้างๆ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัย รับฟังอย่างไม่ตัดสิน รองรับความรู้สึกที่อ่อนไหว (ซึ่งบางครั้งรุนแรง) แน่นอนว่าไม่ง่ายนัก แต่ถ้าทำได้ เราจะได้ ‘เพื่อนที่ใกล้ชิด’ เพิ่มอีกหนึ่งคนเลยทีเดียวเชียว

เราไม่มีวันรู้เลยว่า ใครคนหนึ่งที่กำลังเหงามีต้นตอมาจากอะไร

ยีน การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ชีวิต?

เมื่อที่มาของความเหงานั้นสลับซับซ้อน การให้อภัยและทำความเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

จะว่าไป มนุษย์บนดาวเคราะห์ดวงนี้อาจไม่ได้แบ่งเป็นคนเหงากับคนไม่เหงาอย่างชัดเจนขนาดนั้น ในตัวคนเดียวกัน บางวันก็เหงา บางคราวก็ไม่ แต่ในภาวะที่รู้สึกเหงา เราล้วนต้องการใครบางคนที่ปลอดภัยเสมอ

ในวันที่จิตใจปกติ คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราได้ทำหน้าที่ ‘คนปลอดภัย’ ของใครบางคน