กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (5) / มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม
มุฮัมมัด อิกบาล (Muhammad Iqbal) ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ.1873

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (5)

 

บทนำของงานภาษาเปอร์เซียของอิกบาลคืออัซรัสเอคูดี (รหัสแห่งอาตมัน)

อิกบาลได้เขียนไว้ว่า “บุคลิกภาพก็คือภาวะแห่งความเครียดและจะดำเนินต่อไปได้ก็เพียงแต่เมื่อภาวะนั้นถูกดำรงรักษาไว้เท่านั้น หากภาวะแห่งความเครียดไม่ถูกรักษาไว้แล้วไซร้ ความผ่อนคลายก็จะตามมาเนื่องจากบุคลิกภาพหรือภาวะแห่งความเครียดนี้เป็นความสำเร็จอันมีคุณค่าที่สุดของมนุษย์ เขาจึงควรจักคอยดูมิให้ตัวเขาเองกลับกลายไปอยู่ในภาวะแห่งความผ่อนคลายได้ สิ่งที่โน้มน้าวที่จะรักษาภาวะแห่งความเครียดไว้ย่อมโน้มน้าวที่จะทำให้เราเป็นอมตะได้”

สิ่งที่เป็นจริงในตัวบุคคลนั้นอิกบาลเชื่อว่าย่อมเป็นจริงในเผ่าพันธุ์และชุมชนด้วยเท่าๆ กัน

สำหรับอิกบาล เครื่องหมายอันแท้จริงแห่งความแข็งแกร่งในชาติเผ่าพันธุ์ ก็คือเมื่อชะตากรรมของมันเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ วัน

ในทุกยุคสมัยสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแห่งเผ่าพันธุ์

อันสั่นไหว

ก็คือทุกเช้าเย็นชะตากรรมของมันเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

เป็นเรื่องแปลกที่ว่าขณะที่อิกบาลเขียนอย่างรุนแรงถึงความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรน เขากลับให้ความสำคัญต่อหัวใจมากกว่าหัวสมอง ให้ความรักมีบทบาทมากกว่าเหตุผลในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในกวีบทหนึ่งหัวใจพูดกับสมองว่า

ความรู้มาจากสู ความซาบซึ้งมาจากตูข้า

สูแสวงหาพระผู้เป็นเจ้า ตูข้าส่องทางให้

สูติดอยู่กับกาลเวลาและสถานที่

ส่วนตูข้านั้นคือวิหคที่โผผินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด

อิกบาลปรารถนาให้มนุษย์สร้างที่อยู่ของตนในอารามแห่งความรัก เขาปรารถนาให้มนุษย์สร้างโลกใหม่ที่มีรุ่งอรุณและอาทิตย์อัสดงดวงใหม่ขึ้นเพราะว่ายังมีโลกต่างๆ อยู่โพ้นดวงดาวทั้งหลายที่แลเห็น

แนวความคิดของอิกบาลในเรื่องมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็คือเขาผู้นั้นต้องเป็นคนที่ซื่อตรง มีเมตตาและปราศจากความกลัว สามารถเผชิญหน้ากับความตายได้โดยสงบ

ท่านถามฉันถึงสัญลักษณ์แห่งคนที่มีศรัทธาหรือ?

เมื่อมรณะมาสู่เขา เขามีรอยยิ้มอยู่บนริมฝีปาก

 

บทกวีของอิกบาลส่วนมากเป็นไปในเชิงสอนและคะยั้นคะยอ เขาแทบจะไม่เคยเขียนบทกวีรักระหว่างชายกับหญิงเลย เขาหลีกเลี่ยงเรื่องรักแบบโรแมนติกเสียโดยสิ้นเชิง

มีผู้กล่าวว่าเขาเคยหมกมุ่นในการเขียนบทกวีโป๊ ถ้าเขาเคยเขียนจริงก็เพื่อไว้อ่านเป็นการส่วนตัวอย่างยิ่งเท่านั้นในวงเพื่อนฝูงสนิทๆ ไม่เคยพิมพ์ออกจำหน่ายเลย

ข้อเท็จจริงในชีวิของอิกบาลาจะบรรยายได้อย่างสั้นๆ ว่าเขาเกิดในเมืองศิลาโกตในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1877 เป็นลูกชายคนเล็กสุดของช่างตัดเสื้อผู้หนึ่งคือชัยค์ นูรมุฮัมมัด กับภรรยาของเขาชื่ออิมามบีบี

ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวพราหมณ์ แคชเมียร์ (แคชมีร) มาก่อน และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามมาสองสามรุ่นก่อนนั้น

มุฮัมมัดอิกบาลน้อยได้รับการเลี้ยงดูมาแบบมุสลิมหัวเก่าและได้เรียนคัมภีร์กุรอานและคำอธิบายมาตั้งแต่เล็กๆ

อิกบาลเรียนภาษาเปอร์เซียด้วยและต่อมาได้เรียนภาษาอังกฤษ ในสมัยยังเด็กนั้นเขาเก่งในด้านกีฬามากกว่าด้านการเรียนและรักนกอย่างรุนแรง

เขาเรียนจบโรงเรียนในปี 1892 โดยได้รับทุนเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยมิชชั่นนารีของชาวสก๊อตเมื่อเขาแต่งงานกับการีมบีบีนั้นเขาเพิ่งมีอายุได้เพียงสิบห้าปีเท่านั้น

ทั้งๆ ที่เป็นการแต่งงานที่ไม่เหมาะสมกัน แต่การีมบีบีก็ได้ให้กำเนิดลูกสามคนแก่อิกบาล ในปี 1895 (เมื่อเขาอายุได้สิบแปดปี) หลังจากผ่านการสอบเข้าแล้วเขาก็ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยของรัฐบาลที่เมืองลาฮอร์เพื่อจะเรียนภาษาอาหารับ ภาษาอังกฤษและปรัชญา

อีกสองปีต่อมาคือในปี 1899 เขาก็ได้รับปริญญาโดยได้รางวัลเหรียญทองเพราะเรียนได้ดีเด่น

 

อิกบาลเริ่มแต่งบทกวีตั้งแต่เรียนอยู่ในโรงเรียนแต่เขาเริ่มท่องบทกวีของเขาเป็นครั้งแรกในที่ชุมนุมอภิปรายปัญหาต่างๆ ในเมืองเก่า เมื่อเขาอยู่วิทยาลัยในลาฮอร์แล้วเท่านั้น

หลังจากเพื่อนของเขาคือชัยค์ (ภายหลังได้เป็นเซอร์) อับดุล กอดิร ได้ชักชวนเกลี้ยกล่อมมากมายแล้วเขาจึงยอมให้นำบทกวีของเขาไปตีพิมพ์ในวารสารวรรณกรรมที่มีชื่อมาคซานได้ ชื่อเสียงของอิกบาลได้ขยายแพร่ไปในโลกที่พูดภาษาอุรดู

เขาเป็นที่จับตามองอย่างสนใจของศาสตราจารย์ (ภายหลังได้เป็นเซอร์) โธมัส อาร์โนลด์ ผู้เขียนเรื่องประทีปแห่งเอเชีย

อิกบาลได้ทำปริญญาโทต่อภายใต้การแนะนำของอาจารย์ผู้นี้

เขาได้เป็นรองศาสตราจารย์ในวิชาภาษาอาหรับอยู่ในวิทยาลัยอิสลามิยะฮฺและวิทยาลัยของรัฐบาลเป็นเวลาสามปี (1901-1904) และได้เรียนวิชากฎหมายไปด้วย

อิกบาลเคยสอบเข้าเป็นข้าราชการประจำจังหวัด แต่โชคดีที่สอบไม่ผ่านเพราะบกพร่องบางอย่างในด้านสุขภาพ

ในปี 1905 อิกบาลได้เดินทางไปยุโรป เขาได้ปริญญาด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และปริญญาเอกจากเมืองมิวนิกด้วย

ภายในเวลาสองสามเดือนเท่านั้น เขาก็เรียนภาษาเยอรมันจนสามารถอ่านเขียนและสนทนาในภาษานั้นได้

เขาเบนทิศไปเขียนเป็นภาษาเปอร์เซียอยู่ระยะหนึ่ง มีผู้อ่านที่เป็นนักวิชาการมากมาย

 

การไปอยู่ในยุโรปเป็นเวลาสามปีได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความคิดของอิกบาลไปมาก

อิกบาลมีความสัมพันธ์กับอติยา ซัยดี หญิงสาวจากครอบครัวมุสลิมที่มีฐานะดีครอบครัวหนึ่งในบอมเบย์หรือมุมไบในปัจจุบัน ความสัมพันธ์นี้จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นแก่อิกบาล (ชายที่แต่งงานแล้วและมีบุตรสามคนแล้ว) ก็ตามที

เขาก็ได้ถอยหนีจากสิ่งที่อาจเรียกว่าการเริ่มต้นของขบวนการปลดปล่อยสตรี

ทัศนะของเขาที่มีต่อตำแหน่งแห่งที่ของสตรีในสังคมยังเป็นทัศนะของมุสลิมผู้เคร่งครัดอยู่ ความขัดแย้งกันในทำนองเดียวกันปรากฏอยู่ในทัศนะเกี่ยวกับชีวิตของเขาเหมือนกัน ในขณะที่เขานิยมยกย่องความมุ่งมาดในโลกอื่นของพวกซูฟีนั้น เขาก็ปฏิเสธความเชื่อของคนเหล่านั้นในเรื่องความไม่ยืนยงถาวรของโลกนี้และความไม่เป็นจริงของชีวิต

ในขณะที่เขาคลื่นเหียนต่อสิทธิมุ่งแต่การค้าและความละโมบของตะวันตก เขาก็คร่ำครวญถึงความสูญเสียของอาณาจักรมุสลิมและเศร้าเสียใจในความตกต่ำของอิสลาม

ในระหว่างเวลาที่เขาอยู่ในยุโรปนี่เองเขาก็ได้มีความเชื่อในความจำเป็นที่จะต้องเสริมพลังใจของตนเอง (คูดี) ให้เข้มแข็งขึ้น

ในขณะเดียวกันมันจะต้องมีทั้งอารมณ์รุนแรงและความเมตตาปรานี ต้องมั่นคงแต่ไม่ละโมบ

เขาเชื่อว่าอำนาจและความมั่นคั่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีก็เฉพาะแต่เมื่อได้มาจากความมานะพยายามเท่านั้น

แต่จะไม่ดีถ้ามีขึ้นโดยการได้มรดกหรือด้วยความบังเอิญที่ปราศจากความมานะพยายาม

 

ถึงแม้ว่าไม่ต้องสงสัยเลยก็ตามว่า เขาได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญายุโรป อย่างเช่น นิทเช่และเบอร์กสัน และมีทัศนคติแบบนิทเช่ในเรื่องโลกที่ควรอยู่ใต้ความคิดเรื่องนิชะกามะกรรมของฮินดูเสียมากกว่า คือการกระทำหน้าที่ของตนโดยไม่หวังรางวัลตอบแทนมากกว่าจะเหมือนกับแนวความคิดแบบยุโรป ซึ่งภายหลังได้พบการแสดงออกในทฤษฎีเรื่องความวิเศษสูงสุดของเผ่าพันธุ์อารยันของพวกนาซี

เมื่ออยู่ในยุโรป อิกบาลได้มีความมั่นใจว่าชีวิตที่มีการกระทำนั้นดีกว่าแนวทางด้านการใช้สติปัญญา หรือแนวทางด้านกวีมากนักจนเขาจะคิดเลิกเขียนหนังสือเสียแล้ว แต่ได้มีผู้เกลี้ยกล่อมเขาไว้ไม่ให้ทำเช่นนั้น

เขาจึงกลับมายังลาฮอร์และเขียนบทกวีอันมีพลังที่สุดบางบทของเขา รวมทั้งบทชักวา (คำร้องทุกข์) และต่อมาอีกสองสามปีก็เขียนบทญาวาบิชักวา (คำตอบต่อคำร้องทุกข์)

ความสุขในครอบครัวยังคงตามมาล่อใจอิกบาลอยู่ต่อไป ในปี 1909 เขาจึงได้แต่งงานเป็นครั้งที่สองกับซาดาร์ เบกัม และยังมิทันที่การแต่งงานจะยึดยาวแค่ไหนเลย เขาก็ได้ภรรยาคนที่สามคือมุคตาร เบกัม อีก

เมื่อมุคตาร เบกัม สิ้นชีวิตลงในปี 1924 เขาก็ได้หวนมาแต่งงานใหม่กับซาดาร์ เบกัม อีกครั้งหนึ่ง เธอได้ให้บุตรชายแก่เขาคนหนึ่งชื่อญาเว็ด (เกิดปี 1924) และบุตรีคนหนึ่งชื่อว่ามูเนาวะเราะฮฺ (เกิดปี 1930) หลังจากให้กำเนิดบุตรีได้ห้าปี ซาดาร์ เบกัม ก็สิ้นชีวิตลง ทิ้งอิกบาลไว้กับภาระครอบครัวสองบ้าน รวมทั้งบุตรทั้งสองด้วย

อิกบาลไม่ได้ชื่อเสียงนักในเรื่องอาชีพกฎหมาย แต่ชื่อเสียงของเขาในฐานะกวีได้พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาอัศวินเป็นทางการในปี 1924

อีกสองปีต่อมา เซอร์มุฮัมมัด อิกบาล ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกในสภานิติบัญญัติของปัญจาบ และในปี 1931 เขาก็ได้เป็นสมาชิกของคณะผู้แทนมุสลิมไประชุมโต๊ะกลมครั้งแรกในกรุงลอนดอน

 

นับจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็เข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้นทุกที เขาได้เข้าเกี่ยวข้องกับการแยกรัฐอิสลามออกจากประเทศอินเดีย สุขภาพของเขาก็ทรุดโทรมลงด้วยไตของเขาปฏิบัติงานได้ไม่ดี ติดตามมาด้วยต้อกระจกในดวงตาทั้งสองข้าง และคอหอยเป็นพิษซึ่งทำให้เขาพูดไม่ได้

เขาทราบดีว่าเวลาของเขาเหลือจำกัดแล้ว เพียงไม่กี่วันก่อนจะถึงจุดจบแห่งชีวิตก็ได้ประพันธ์บทกวีคร่ำครวญถึงการจากไปของเขาเอง

เขาสิ้นชีวิตลงในระหว่างเวลากลางคืนของวันที่ 24 เมษายน ปี 1938

วันต่อมาศพของเขาได้ถูกฝังอยู่ข้างกำแพงด้านเหนือของมัสญิดบัดซาชี

นับแต่นั้นมาสุสานของเขาก็ได้กลายเป็นสถานเยี่ยมเยียนของบรรดาผู้รักภาษาอุรดูทั้งหลาย