2503 สงครามลับ สงครามลาว (18) อินเดียเสนอทางออก / บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (18)

 

อินเดียเสนอทางออก

อังกฤษต้องการหลีกเลี่ยงการทำสงครามในแผ่นดินเอเชีย

ส่วนฝรั่งเศสให้ความสนใจต่อปัญหาในฐานะที่ตนเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีนมาก่อน

แม้แต่อินเดียก็ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะตัวแทนประเทศกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

แต่ได้ให้ความเห็นใจพิเศษต่อฝ่ายเป็นกลางในลาว และขณะเดียวกันก็ยังคงความสัมพันธ์อันดีกับโซเวียต

ความพยายามของอินเดียมีผลเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับความต้องการของอเมริกาและโซเวียต

คือมีการรื้อฟื้นการประชุมระดับนานาชาติเพื่อสันติภาพขึ้นในกรุงเจนีวา

อันเป็นวิธีที่เคยมีการเจรจาการถอนตัวออกจากอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2497

 

ความล้มเหลวที่อ่าวหมู

กลางปี พ.ศ.2504 ช่วงเวลาถวายพิธีศพเจ้ามหาชีวิต ทหารฝ่ายขวาต้องประสบกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง

กองกำลังฝ่ายซ้ายที่มีโซเวียตและเวียดนามเหนือหนุนหลังอยู่ห่างไปเพียง 30 กิโลเมตร ปิดกั้นเส้นทางระหว่างหลวงพระบางและเวียงจันทน์

ดินแดนลาวกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ อเมริกามีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้อยู่ด้วย

แต่เหตุการณ์ในการบุกขึ้นฝั่งที่ Bay of Pig-อ่าวหมู ในคิวบาที่มีซีไอเอและเพนตากอนให้การสนับสนุนได้มาบดบังสถานการณ์ในลาวเสียก่อน

ลาวอยู่ห่างไกลจากอเมริกามากจริงอย่างที่เคนเนดี้ว่าไว้ แต่ในความคิดของเขานั้น เรื่องที่เกิดขึ้นในลาว คิวบา และอเมริกาต่างสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

หลังความล้มเหลวที่อ่าวหมู เคนเนดี้ก็จะเลิกไว้วางใจในซีไอเอและเพนตากอนที่ได้รับไฟเขียวให้ทำอะไรได้โดยลำพังต่อไปอีก

หากก่อนหน้านี้เคนเนดี้เคยมีความคิดที่จะส่งทหารอเมริกันเข้าไปยังลาว แต่ถึงขณะนี้เชื่อได้ว่าความคิดดังกล่าวได้หมดสิ้นไปจากสมองของเขาแล้ว จะไม่มีการส่งกำลังทหารอเมริกันขนาดใหญ่เข้ายังลาว

ทางออกของปัญหาจะต้องมาจากการเจรจาทางการทูต เคนเนดี้บอกให้ทุกฝ่ายคิดหาทางสะสางเรื่องวุ่นๆ ในลาว

 

อ่าวหมู

ความเป็นมาของการบุกคิวบาที่อ่าวหมู เป็นดังนี้…

เดือนมีนาคม พ.ศ.2503 ก่อนกองแลยึดอำนาจในลาว ก่อนพ้นหน้าที่ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวสั่งการให้ซีไอเอจัดการฝึกอาวุธให้กับชาวคิวบาที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐเพื่อกลับไปโค่นล้มรัฐบาลของคาสโตร ซึ่งที่ผ่านมาซีไอเอเคยประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลกัวเตมาลาที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ.2497 จึงเป็นที่คาดหวังกันว่าคงจะประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลคาสโตรเช่นกัน

เพราะชาวคิวบาที่ลี้ภัยประมาณ 1,500 คนได้รับการฝึกยุทธวิธีในการบุกอ่าวหมูทางตอนใต้ของคิวบาจากซีไอเอมาก่อนหน้านี้แล้ว

ประธานาธิบดีเคนเนดี้ผู้รับสืบทอดงานนี้จากประธานาธิบดีไอเซนฮาวเมื่อมกราคม พ.ศ.2504 ได้รับคำยืนยันจากซีไอเอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารว่า การบุกอ่าวหมูจะเป็นผลสำเร็จถ้าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศอเมริกันระหว่างการยกพลขึ้นฝั่งจนกระทั่งสามารถยึดหัวหาดและไปรวมกับพวกกองโจรใต้ดินในเทือกเขาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กิโลเมตรได้

ประธานาธิบดีเคนเนดี้เห็นชอบด้วย แต่แล้วในวินาทีสุดท้ายเขากลับสั่งยกเลิกมิให้ใช้เครื่องบินเข้าร่วมปฏิบัติการด้วยเกรงว่าจะเป็นการกระทำที่ละเมิดข้อตกลงขององค์การรัฐอเมริกันว่าจะไม่รุกรานต่อกันอย่างโจ่งแจ้ง อันเป็นการเสี่ยงกับชื่อเสียงและคะแนนนิยมในสหรัฐอเมริกาเอง

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2504 กองกำลังชาวคิวบาอพยพราว 1,400 คน ภายใต้การนำของด๊อกเตอร์โฮเซ คอร์ตัน ซึ่งได้สัญญาว่าหากพวกตนได้รับชัยชนะจะคืนทรัพย์สินที่รัฐบาลคาสโตรยึดไว้ให้ โดยเฉพาะทรัพย์สินของคนอเมริกันที่คาสโตรยึดไว้อีกด้วย อีกทั้งจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนของชาวต่างประเทศ (ซึ่งมีอเมริกาเป็นหลัก) ในคิวบา

แต่ปรากฏว่าคาสโตรรู้ตัวอยู่ก่อนแล้ว เมื่อกองทัพผู้ลี้ภัยขึ้นฝั่งที่อ่าวหมูจึงถูกกองทัพของคาสโตรซึ่งมีกำลังถึง 250,000 คนและเครื่องบินครบครันบดขยี้จนราบคาบภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

ความล้มเหลวครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน

คือการที่สหรัฐอเมริกาใช้เครื่องบินโจมตีกรุงฮาวานานครหลวงของคิวบาล่วงหน้าเมื่อวันที่ 15 เมษายน เพียง 2 วันก่อนการบุกอ่าวหมู

ทำให้คาสโตรสั่งจับกุมกลุ่มพลพรรคของชาวคิวบาที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในสหรัฐอเมริกาเสียก่อน

กองทัพผู้ลี้ภัยของชาวคิวบาจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือเมื่อบุกขึ้นอ่าวหมูดังที่คาดไว้

ทั้งกองทัพผู้ลี้ภัยนี้ก็ยังมิได้มีความชำนาญพอที่จะทำศึก และยังถูกกองทัพอากาศคิวบาโจมตีโดยมิได้มีเครื่องบินกองทัพอเมริกันเข้าช่วยป้องกันให้ดังที่เคยตกลงกันไว้

เมื่อถูกไล่ต้อนจนมุมจึงต้องปราชัยอย่างราบคาบเนื่องจากเทือกเขาเป้าหมายที่จะใช้เป็นฐานที่มั่นอยู่ห่างจากอ่าวหมูไปไกลถึงเกือบ 100 กิโลเมตร…

 

สถานการณ์พลิกกลับที่ลาว

การรุกคืบหน้าของฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งในพื้นที่ลาวตอนกลางโดยเฉพาะที่ทุ่งไหหิน และลาวตอนใต้แถบสุวรรณเขตคืบหน้าตามลำดับ ความสำเร็จทั้งหมดนี้เกิดจากการที่กองกำลังของทหารเวียดนามเหนือได้ยาตราทัพเข้าสู่สมรภูมิลาวเพื่อสนับสนุนฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัวแล้ว ดังที่บิลล์ แลร์ วิตกกังวลแต่แรก

สถานการณ์เข้าขั้นคับขัน

ขณะที่ความล้มเหลวในการบุกอ่าวหมูที่คิวบาได้บั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อซีไอเอของประธานาธิบดีเคนเนดี้ลง

นโยบายของสหรัฐในลาวกำลังจะพลิกผัน

 

เคนเนดี้ : “ให้ลาวเป็นกลาง”

ความล้มเหลวในการบุกคิวบา รวมทั้งวิกฤตการณ์ที่กำลังเข้มข้นขึ้นที่เบอร์ลิน ประธานาธิบดีเคนเนดี้ซึ่งเริ่มเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่หลังการรับตำแหน่งเมื่อต้นปี พ.ศ.2504 สำรวจสถานการณ์โลกอย่างรอบด้านแล้วรู้สึกว่าสหรัฐอเมริกากำลังถลำตัวมากเกินไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขาคิดว่าการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตในลาวด้วยกำลังมิใช่วิธีที่จะแก้ปัญหา

จึงล้มเลิกความเชื่อตามคำแนะนำของอดีตประธานาธิบดีไอเซนฮาวที่ให้ส่งกองทัพอเมริกันเข้าปฏิบัติการในลาวโดยตรง

แต่เคนเนดี้ก็ยังมีความเชื่อถือในทฤษฎีโดมิโนเช่นเดียวกับประธานาธิบดีทรูแมนและประธานาธิบดีไอเซนฮาว

คือหากลาวต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของคอมมิวนิสต์ ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วยทั้งสิ้น

เคนเนดี้เชื่อว่า แทนที่จะส่งทหารเข้าปฏิบัติการโดยตรง การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เพียงพอแล้วที่จะเอาชนะการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ได้

เมื่อประธานาธิบดีเคนเนดี้เข้ารับหน้าที่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2504 นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสหภาพโซเวียตได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีนอย่างยากที่จะผลักไสให้ออกไป

เคนเนดี้จึงพยายามดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ

ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกหนทางให้ลาววางตัว “เป็นกลาง” เพื่อเป็นรัฐกันชนระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์

ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือการเจรจา