เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท/KEF Uni-Core Technology

เครื่องเสียง/พิพัฒน์ คคะนาท [email protected]

KEF Uni-Core Technology

 

ปลายเดือนที่แล้ว KEF ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบและผลิตลำโพงชั้นนำของสหราชอาณาจักร และได้นำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ด้วย ได้ปล่อย Active Sub-Woofer ลำโพงให้เสียงในย่านความถี่ต่ำลึก (LFE : Low Frequency Effect) ที่ผนวกภาคขยายเสียงไว้ในตัวด้วย ออกสู่ตลาดโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่ได้ประกาศแนะนำไปตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปี พร้อมบอกในเวลานั้นว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ทว่า สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นเดือนมกราคม ผลิตภัณฑ์รุ่นแรกที่ว่าก็โผล่โฉมหน้าออกมาพร้อมบอกราคาไว้เสร็จสรรพ

เทคโนโลยีใหม่ (ซึ่ง KEF บอกว่ากำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตร) ก็ดังที่จ่าหัวไว้นั่นแหละครับ ส่วนแอ็กทีฟ สับ-วูฟเฟอร์ รุ่นแรกที่เปิดตัวมาพร้อมกับเทคโนโลยีนี้ คือ Model KC62 โดยมีราคาค่าตัวอยู่ที่ 1,400 ปอนด์

หรือประมาณ US$1,500 ครับ

 

หลังจากได้นำเสนอนวัตกรรม MAT : Meta-material Absorption Technology ผ่านลำโพงรุ่นใหม่ๆ ไปได้ไม่นาน KEF ก็ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Uni-Core ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับลำโพงตลอดจนสับ-วูฟเฟอร์แบบแยกชิ้น เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของทีมวิศวรกรเสียง ที่ต้องการออกแบบลำโพงสมรรถนะสูงภายใต้โครงสร้างที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ซึ่งสามารถลดปริมาตรภายในตู้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อันนำมาซึ่งจุดมุ่งหมายในการออกแบบลำโพงที่สวยงาม น่าใช้ โดยไม่ประนีประนอมหรืออ่อนข้อให้ในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ต้องการพื้นที่ในการหาที่ทางวางตั้งให้มากนักอีกด้วย

โดยมีความท้าทายแรกเพื่อการนั้นก็คือต้องบรรจุไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ภายในตู้ที่มีขนาดกะทัดรัดให้ได้

ซึ่ง Dr. Jack Oclee-Brown หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของแบรนด์ได้บอกว่า การออกแบบลำโพงให้ได้เสียงทุ้มที่มีพลัง และลงไปได้ต่ำลึก จากตัวขับเสียงและตู้ลำโพงที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัดนั้น เป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก และเทคโนโลยี Uni-Core ของเรามันเป็นสิ่งที่ก้าวล้ำยิ่ง เพราะมันเปิดโอกาสให้เราสามารถใส่ไดรเวอร์สองตัวเข้าไว้ในพื้นที่ที่มีช่องว่างของปริมาตรค่อนข้างจำกัดได้ โดยไม่ทำให้สมรรถนะต้องด้อยลงแต่อย่างใด

แม้ว่าพิจาณาทางด้านกายภาพแล้วจะเห็นว่าการจัดวางไดรเวอร์ทั้งสองนั้นเป็นแบบ Force-Canceling ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่ลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี Uni-Core จะแตกต่างด้วยการใช้มอเตอร์ตัวเดียวในการขับ Voice Coil ของไดรเวอร์แต่ละตัวที่มีขนาดของขดลวดแตกต่างกัน โดยจัดเรียงให้อยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้นอกจากช่วยประหยัดพื้นที่แล้ว การทำงานของไดรเวอร์แต่ละตัวก็ยังสามารถเปล่งศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีข้อจำทางด้านพื้นที่เหมือนชุดไดรเวอร์ของ Force-Canceling แบบอื่นๆ เพราะสามารถขยับตัวได้เต็มกำลัง อันส่งผลให้ได้เสียงที่ต่ำลึกอันเปี่ยมไปด้วยพลัง รวมทั้งใช้พื้นที่ร่วมกันน้อยลงด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ Uni-Core Technology เป็นการควบรวมการทำงานของชุดไดรเวอร์แบบ Force-Canceling สองตัวให้มาอยู่ในระบบเดียวกัน ด้วยการใช้ขดลวดวอยซ์ คอยล์ ต่างขนาดที่จัดวางให้อยู่ร่วมแนวแกนเดียวกัน โดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกันนั่นเอง

 

สําหรับ KEF KC62 นอกจากเป็นแอ็กทีฟ สับ-วูฟเฟอร์ รุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยี Uni-Core แล้ว ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่อีกสองแบบ คือ P-Flex Surround กับ Smart Distortion Control

โดย P-Flex Surround เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้กรวย หรือแผ่นไดอะแฟรมของไดรเวอร์ สามารถรองรับการถ่ายทอดเสียงย่านความถี่ต่ำได้อย่างแม่นยำ มั่นคง ปลอดความพร่าเพี้ยน ด้วยการออกแบบวงแหวนยางที่ผนึกกรวยเข้ากับตัวตู้ให้มีความแกร่งเพิ่มมากขึ้น และสามารถทานแรงเสียดทานได้สูงขึ้น โดยใช้กรรมวิธีเปลี่ยนรอยพับของวงแหวนยางใหม่ ซึ่งนำแนวคิดมาจากศิลปะการพับกระดาษของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Origami ที่สามารถต้านแรงอัดอากาศภายในตู้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มความหนาหรือขนาดของวงแหวน ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียความไวในการสนองตอบต่อสัญญาณเสียง ผลก็คือทำให้สามารถตอบสนองต่อเสียงทุ้มได้แน่น และลึก โดยที่ยังคงรักษาสปีดเสียงที่ฉับไวเอาไว้ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

ส่วน Smart Distortion Control เป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำงานของไดรเวอร์ขณะที่ขยับตัวเวลาทำงาน ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าเสียงเพี้ยน โดยการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบพิเศษที่ไร้เซ็นเซอร์ คอยตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนวอยซ์ คอยล์ เพื่อตรวจจับอาการผิดเพี้ยนทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น แล้วทำการแก้ไขให้คืนรูปในทันที ทำให้สามารถลดอัตราค่าความเพี้ยนฮาร์โมนิกรวม หรือ THD : Total Harmonic Distortion ลงได้มากอย่างน่าทึ่ง ส่งผลให้ได้เสียงเบสที่สะอาดสะอ้าน ปลอดความพร่าเพี้ยนอันปราศจากสีสันในน้ำเสียงอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนั้นแล้ว KEF KC62 ยังมีระบบปรับตั้งค่าเพื่อให้ได้ความเหมาะสมกับการตั้งวางภายในห้อง ที่มีสภาพหรือลักษณะอันแตกต่างกัน ซึ่งเป็น Pre-Set Room Placement Equalization มาจากโรงงานพร้อมสรรพถึง 5 รูปแบบด้วยกัน เป็นต้นว่าการวางในพื้นที่โล่ง หรือการวางแบบชิดผนัง ตลอดจนการวางแบบเข้ามุม หรือวางอยู่ในตู้ รวมทั้งการใช้งานในอพาร์ตเมนต์ ซึ่งด้วยรูปแบบที่ปรับแต่งให้มานี้จะช่วยให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีในทุกสภาพแวดล้อมของพื้นที่ตั้งวาง ซึ่งการทำงานของระบบที่ว่าเป็นแบบไร้สาย ให้การทำงานสะดวก ง่ายดาย ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถตั้งวางได้อย่างเป็นอิสระ

ทั้งยังมีภาค DSP : Digital Sound Processing ซึ่งมีฟังก์ชั่น iBX : Intelligent Bass Extension กับ SmartLimiter ทำหน้าที่วิเคราะห์ระดับความแรงสัญญาณที่รับเข้ามาจากต้นทาง เพื่อป้องกันปัญหาการขับเกินกำลัง (Clipping) อีกด้วย

 

คุณสมบัติทางด้านเทคนิคนั้น ใช้ไดรเวอร์ขนาด 6 1/2 นิ้ว, สองตัว จัดวางหันหลังชนกันในแบบ Force-Canceling ใช้เทคโนโลยี Uni-Core ให้ไดรเวอร์ทั้งสองทำงานร่วมกันเพื่อผลักคลื่นเสียงในย่านความถี่ต่ำออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยทำให้สามารถลดขนาดตู้ลงไปได้มากถึงหนึ่งในสามของสับ-วูฟเฟอร์ทั่วไป ที่สามารถให้พลังและปริมาณของเสียงทุ้มออกมาได้ในระดับเดียวกัน ภาคขยายเสียงที่ใช้นั้นทำงานแบบ Class-D สองชุด ให้กำลังขับชุดละ 500 Wrms ทำให้มีกำลังขับรวม 1,000 Wrms เป็นเพาเวอร์-แอมป์ที่ออกแบบมาให้ควบคุมการทำงานของไดรเวอร์ได้อย่างเที่ยงตรง มีความแม่นยำสูง

โครงสร้างภายนอกของตู้ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม มีภาพลักษณ์โค้ง มน ไร้ขอบเหลี่ยมมุม มีให้เลือกสองสีด้วยสีขาวแบบ Mineral White และสีดำแบบ Carbon Black ที่กลมกลืนไปกับทุกสภาพห้องและเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างลงตัว

จากราคาค่าตัวที่บอกไว้ข้างต้น เข้ามาบ้านเรารวมค่าอะไรต่อมิอะไรแล้ว ก็อยู่ที่ผู้นำเข้าล่ะครับ ว่าจะจัดให้ตรงไหนระหว่างครึ่งแสนขึ้นกับลง ซึ่งน่าจะอีกไม่นานก็คงได้ทราบกัน