แก้รัฐธรรมนูญ 2560 สุด ‘วิบาก’ นอกสภา ต้องลุ้นศาล รธน. ในสภารัฐบาลยื้อหนัก-ภูมิใจไทย ‘วอล์กเอาต์’ / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แก้รัฐธรรมนูญ 2560

สุด ‘วิบาก’

นอกสภา ต้องลุ้นศาล รธน.

ในสภารัฐบาลยื้อหนัก-ภูมิใจไทย ‘วอล์กเอาต์’

การแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้ง ‘ฝ่ายรัฐบาล’ และ ‘ฝ่ายค้าน’ เพราะเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนวันนี้

ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกขยายให้กว้างออกไปอยู่ตลอด

ตั้งแต่การให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

กว่าจะเดินทางมาสู่การเสนอร่างแก้ไขเข้าสู่ที่ประชุมสภา แล้วพิจารณากันในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ระหว่างนี้ก็ถูกคั่นด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก 1 คณะ ยื้อเวลาออกไปอีก 30 วัน ก่อนจะเข้าสู่การลงมติ

ปรากฏว่า จาก 7 ร่างที่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา มีเพียงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 (นายวิรัช รัตนเศรษฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เท่านั้นที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

ขณะที่ร่างที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นร่างของพรรคก้าวไกลก็ดี ร่างของภาคประชาชนที่ระดมรายชื่อกันมานับเดือนก็ดี ตกไปหมด

ก่อนเข้าสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาเนื้อหาของร่างแก้ไข ก่อนจะพิจารณาในวาระที่ 2

 

การกระทำทั้งหมดที่ผ่านมาของ ส.ส.ฟากรัฐบาล สวนทางกับคำพูดที่รัฐบาลออกมาให้คำมั่นว่าจะเร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เสร็จในเร็ววัน เนื่องจากเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงมาตั้งแต่ต้น

ขณะที่เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั้นกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากของฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ได้ทำให้การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้นยากขึ้นไปอีก

โดยกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา หรือเท่ากับ 500 คน

การจะรวมเสียงจาก 2 สภาให้ได้เกิน 500 เสียง ในทางปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ยากมาก

และแม้ ‘ฝ่ายค้าน’ จะออกแรงสู้เท่าใดก็ยังแพ้อยู่ดี เพราะเสียงของตัวเองไม่สามารถยกมือชนะ ‘ฝ่ายรัฐบาล’ ได้เลย

ทำให้หลายครั้ง ‘ฝ่ายค้าน’ ต้องออกมาเรียกร้องความจริงใจของรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญ

 

แม้ ‘ฝ่ายค้าน’ จะเสียเปรียบทุกประตู แต่การที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยอมให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ก็ยังเป็นแนวโน้มที่ดีที่จะให้ ส.ส.ร.เป็นผู้มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากประชาชน

เส้นทางการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านไม่ได้มีอุปสรรคเพียงแค่เสียงในสภาที่มีผลต่อการลงมติในประเด็นต่างๆ เท่านั้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นเรื่องในสภา กลับไม่ได้จบที่สภา เพราะแม้การอภิปรายในวาระ 2 จะผ่านพ้นไปแล้ว

ประเด็นที่ ‘นายไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ ‘นายสมชาย แสวงการ’ ส.ว. ที่ยื่นญัตติและที่ประชุมรัฐสภา มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256(1) ยังคงเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องลุ้นต่อกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถยกร่างใหม่ขึ้นมาทั้งฉบับได้หรือไม่

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐสภาก็ต้องหยุด และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดินทางมายาวนานทั้งหมดนั้นเท่ากับสูญเปล่า และต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่กันหมด

 

‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย หนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมาย 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เอ่ยออกมาอย่างชัดเจนว่า ที่ประชุมฝ่ายค้าน ‘เชื่อ’ ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาแบบนั้น โดยให้เหตุผลว่า การแก้กฎหมายโดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ

1. แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขฉบับนั้นๆ บางฉบับอาจจะแก้เป็นฉบับที่ 1 ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 หรือครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 อะไรก็ว่ากันไป

และ 2. ยกเลิกกฎหมายเดิมแล้วเขียนใหม่ เป็นฉบับใหม่ ข้อความหลายส่วนอาจจะเหมือนฉบับเดิม แต่ชื่อก็เป็นชื่อเดิม แต่เปลี่ยนปี พ.ศ. ไป เป็นวิธีการบัญญัติกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยทั่วไปที่มีอยู่แล้ว

ถ้าบอกว่าไม่อาจทำฉบับใหม่ได้จะกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นอมตะนิรันดร์กาล จะเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ไป 40-50 ปี ผิดวิสัยของการแก้ไขเพิ่มเติม หรือการบัญญัติกฎหมาย

ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่าผลจะออกมาอย่างนั้น แต่ถ้าผลออกมาเป็นอย่างที่ถามๆ กัน โดยศาลมีคำวินิจฉัยเป็นที่ยุติสิ้นสุด ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องแก้ไขเป็นรายประเด็นไปเรื่อยๆ เพราะทำฉบับใหม่ไม่ได้ ก็ผิดวิสัยอีก จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1, 2, 3 ไปเรื่อยๆ จนถึงฉบับที่ 100 หรือ ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น มันต้องพลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน พลิกวิธีการกันเลย

ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลยกมาเป็นเหตุแห่งการประวิงเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ กังวลว่าจะมีการไปแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 นั้น ‘ชูศักดิ์’ ระบุว่า ข้อห้ามมีอยู่คือ มาตรา 255 ที่ห้ามแก้แล้วมีการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในญัตติที่ผ่านวาระ 1 ไป ไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 อยู่แล้ว

จริงๆ การแก้ทั้งฉบับเป็นเพียงศัพท์เทคนิคที่ใช้เป็นภาษาโดยทั่วไปในการแก้กฎหมาย ไม่ใช่ศัพท์ที่เป็นทางการ แต่เป็นการเรียกให้เข้าใจว่า หากแก้ทั้งฉบับคือการยกเลิกฉบับเก่า แล้วใช้ฉบับใหม่

แต่ถ้าไปสังเกตดู ไม่มีกฎหมายฉบับไหนหรอกที่มาตรา 1 ก็แก้ มาตรา 2 ก็แก้ มาตรา 3 ก็แก้ ส่วนใหญ่คงไว้แบบเดิม 40-50 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป มันคือการแก้รัฐธรรมนูญวิธีหนึ่ง โดยใช้วิธียกร่างใหม่ทั้งฉบับ การยกร่างใหม่อาจจะมีมาตราที่คงอยู่เหมือนเดิม

 

ชะตาการแก้รัฐธรรมนูญที่จะเป็นทางออกของความขัดแย้งที่ก่อวิกฤตอยู่ในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ความพยายามยื้อเวลาให้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมดำรงอยู่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2 ของรัฐสภา ยังมีความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่ไปดึงเอา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน

จนพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่ชูเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตลอดถึงกับตัดสินใจวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม

พร้อมแถลงแสดงความกังวลว่ากลัวจะมีความพยายามยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปจนไม่ทันสมัยประชุมนี้

คำถามคือ วันนี้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทยจริงหรือไม่ ถ้าใช่ วันนี้คือโอกาสแล้ว