เสริมสวยด้วยการดูดไขมัน (Liposuction) / คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เสริมสวยด้วยการดูดไขมัน (Liposuction)

 

การเสียชีวิตขณะเข้ารับการดูดไขมัน หรือทำ Liposuction ของน้องสาวอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้คนที่จะกระชับสัดส่วนด้วยการดูดไขมัน กลับมาคิดทบทวนอย่างถ้วนถี่ว่าจะเข้ารับการผ่าตัดดูดไขมันหรือไม่

การผ่าตัดทุกชนิดมีความเสี่ยงด้านสุขภาพและภาวะแทรกซ้อน

การผ่าตัดดูดไขมันมีความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อ ผลกระทบจากการได้รับยาชา อาการบวมเนื่องจากเลือดแข็งตัวอยู่ในชั้นเนื้อเยื่อ

และก็เคยมีบางเคสที่กล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้รับความเสียหายอย่างถาวรจากการศัลยกรรมปลูกฝัง

 

Liposuction หรือการดูดไขมัน เป็นการเอาไขมันชั้นใต้ผิวหนังออกจากส่วนที่เราไม่ต้องการ เช่น ไขมันหน้าท้อง แขน ต้นขา โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อสอดผ่านแผลขนาดเล็กเข้าไปดูดไขมันออกมา

เป็นวิธีการกำจัดไขมันเฉพาะส่วนได้ดี แต่ไม่ใช่วิธีลดความอ้วน และสามารถดูดไขมันออกมาได้ในปริมาณจำกัดเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ เมื่อดูดไขมันออกมาแล้วมีโอกาสที่ไขมันจะกลับมาสะสมที่เดิมอีกหากไม่ระมัดระวังเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย

 

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อความต้องการมีหุ่นเป๊ะ เพราะสมัยนี้ผู้หญิง-ผู้ชายจำนวนไม่น้อย ชอบถ่ายรูปอวดหุ่นของตัวเองลงในอินสตาแกรมกันมากมาย เกิดความต้องการแข่งขันกับคนอื่น จากที่รู้สึกเขินอายเวลาจะถอดเสื้ออวดหุ่นตัวเอง

เดี๋ยวนี้หลายคนแทบจะเปลือยกายอวดทุกสัดส่วนลงในอินสตาแกรม

ประกอบกับเทรนด์การแต่งตัวแบบแอธลีเชอร์ (Athleisure) ที่ผสานระหว่างชุดกีฬากับชุดแฟชั่นสบายๆ ยังคงเป็นเทรนด์ยอดนิยมในหมู่คนรักแฟชั่นยุคปัจจุบัน เพราะสวมสบาย คล่องตัว จะสวมไปทำงานแล้วแวะไปเล่นกีฬาหรือเข้ายิมต่อก็ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนชุดให้ยุ่งยาก

มีผลให้คนหันมาดูดไขมันกันมากขึ้น เพราะชุดของสาวๆ ในสไตล์แอธลีเชอร์มักจะนิยมสวมกางเกงเลกกิ้งแนบเนื้อที่มองเห็นส่วนเว้าส่วนโค้งชัดเจน ใส่สปอร์ตบราตัวจิ๋ว

ดังนั้น ถ้าเป็นคนที่หุ่นดีไร้ไขมัน เมื่อสวมแล้วก็จะดูสวย ทำให้สาวๆ หลายคนที่รู้สึกว่าหุ่นตัวเองยังไม่เป๊ะพยายามหาทางออกด้วยการดูดไขมัน

ยิ่งในช่วงวิกฤต Covid-19 การแต่งตัวแบบแอธลีเชอร์กำลังได้รับความนิยมขึ้นไปอีกในอเมริกา ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชิ้อโควิด-19 ยังพุ่งขึ้นสูงเรื่อยๆ

ในปี 2020 ยอดขายเสื้อผ้าสไตล์แอธลีเชอร์ เช่น กางเกงวอร์ม, เลกกิ้ง, สปอร์ตบรา หรือเสื้อกีฬา สูงถึง 105,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท

ยอดขายเสื้อผ้าแนวแอธลีเชอร์สูงกว่าเสื้อผ้าประเภทอื่นๆ ธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประเภทอื่นซบเซา เพราะคนไม่ค่อยอยากที่จะเดินช้อปปิ้งในห้างและเงินทองฝืดเคือง

ช่วงโควิด-19 ระบาด หุ้นของไนกี้ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องเสื้อผ้าแอธลีเชอร์พุ่งสูงขึ้นเกือบ 34%

อีกยี่ห้อคือ ลูลู่เลม่อน (Lululemon) ของประเทศแคนาดา เป็นชุดออกกำลังกายที่ดูแข็งแรง ทะมัดทะแมง แฝงด้วยความเซ็กซี่ เช่น ใช้ผ้าตาข่ายตัดเย็บเป็นเลกกิ้งแบบซีทรู ที่กำลังฮิตในตอนนี้ในหมู่สาวไทยและทั่วโลก

ซึ่งสาวๆ นำมาประยุกต์ใส่เป็นกางเกงไปเที่ยวด้วย ใช้ออกกำลังด้วย ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หรือไตรมาสที่ 3 เมื่อปีที่แล้วทำยอดขายสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ หรือ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดขายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2019 ถึง 22%

 

นักการตลาดวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่คนนิยมแต่งตัวแบบแอธลีเชอร์ในช่วงโควิด-19 กันมากเพราะในยามที่การใช้ชีวิตยากลำบากในตอนนี้ หน้ากากก็ต้องใส่ ใช้ชีวิตแบบ Social Distancing ไปไหนก็ต้องคอยระแวดระวังว่าจะติดเชื้อโควิด-19

สิ่งที่ช่วยให้ชีวิตผ่อนคลาย สบายๆ ได้บ้าง ก็คือ การแต่งตัวตามสบายสไตล์แอธลีเชอร์ ที่มีคนกล่าวว่า “comfort in uncomfortable times” ความสบายในช่วงเวลาที่ไม่สะดวกสบาย

ประกอบกับการที่คน work from home กันมากขึ้น เสื้อผ้าที่ใส่จึงเน้นความสะดวก สบาย

หากจะออกไปซื้อของนอกบ้านเดี๋ยวเดียวก็ใส่หมวก สวมเสื้อแจ๊กเก็ตทับ 1 ตัว ก็ออกจากบ้านได้ทันที

ซื้อของเสร็จ จะไปออกกำลังต่อ ก็ใส่ชุดเดิมได้ ไม่ต้องเปลี่ยน

 

การดูดไขมันมีความเสี่ยง และไม่ใช่วิธีการรักษาสำหรับคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ถึงแม้ว่าการดูดไขมันจะช่วยจัดการไขมันส่วนที่ยากต่อการลดด้วยวิธีออกกำลังกาย แต่ก็ไม่ใช่ทางลัดสำหรับการลดน้ำหนัก

ที่ผ่านมามีข่าวความผิดพลาดจากการดูดไขมันอยู่เรื่อยๆ บางรายไม่เสียชีวิตทันที แต่ต้องทรมานอยู่นานกว่าจะจากไป

กรณีของเดนีส เฮนดรี (Denise Hendry) ภรรยาของคอลิน เฮนดรี (Colin Hendry) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติสกอตแลนด์ ซึ่งต้องต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนดูดไขมันเมื่อเดือนเมษายน 2002 ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากท้องของเธอลามไปสู่สมอง ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

เธอเข้ารับการผ่าตัดรักษาสมองหลายครั้งเป็นเวลาถึง 7 ปี จนสุดท้ายเธอเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดในเดือนกรกฎาคม 2009 ด้วยอายุเพียง 43 ปี

 

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้า การศัลยกรรมสามารถทำได้แทบทุกส่วนบนร่างกาย

แม้แต่การศัลยกรรมเสริมกล้ามก็เป็นเรื่องง่ายดาย และก็เริ่มกลายเป็นแฟชั่นใหม่ในหมู่ผู้ชายที่รักสวยรักงาม แต่ไม่ต้องการรอผลจากการออกกำลังกาย

เชื่อว่าผู้ชายสมัยนี้ทุกคนต้องการจะมีกล้ามหน้าท้อง กล้ามอก และแขนขาที่ดูกระชับแข็งแรง เพื่อจะเสริมบุคลิกและสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง

แต่กว่าที่คนคนหนึ่งจะพัฒนาร่างกายให้มีกล้ามขึ้นมาอย่างนักกีฬาหรือนายแบบที่เราเห็นรูปบ่อยๆ ตามนิตยสารและโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหมั่นฝึกฝนร่างกายในยิมและควบคุมอาหารเป็นแรมปี จึงมีเพียงไม่กี่คนที่จิตใจแน่วแน่และทำได้สำเร็จตามเป้า แม้แต่นักกีฬาที่ออกกำลังกายทุกวันก็ไม่สามารถรักษากล้ามให้สวยได้ตลอด หากไม่ได้ตั้งใจฝึกส่วนนั้นอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อลองพยายามแล้วแต่มองไม่เห็นผลหรือความก้าวหน้าสักที หลายคนจึงยอมแพ้และเลือกทางที่สบายกว่านั้น

แต่ถ้าใครรู้สึกไม่มั่นใจกับผลลัพธ์หรือไม่อยากทุ่มเงินในกระเป๋าตังค์มากมายขนาดนั้น ก็ลองปรับลดความคาดหวังเรื่องรูปร่างที่เพอร์เฟ็กต์ในความคิดของเราลงสักหน่อย และรู้จักพอใจกับสิ่งที่ตัวเองทำได้จากการออกกำลังกาย

เท่านี้ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น