โบอิ้ง กับปัญหาใหม่ เมื่อรุ่น 777 มีปัญหาเครื่องยนต์ / บทความต่างประเทศ

The damaged starboard engine of United Airlines flight 328, a Boeing 777-200, is seen following a February 20 engine failure incident, in a hangar at Denver International Airport in Denver, Colorado, U.S. February 22, 2021. National Transportation Safety Board/Handout via REUTERS. THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT

บทความต่างประเทศ

 

โบอิ้ง กับปัญหาใหม่

เมื่อรุ่น 777 มีปัญหาเครื่องยนต์

 

ในขณะที่โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เริ่มจะหลุดพ้นจากปัญหาของเครื่องบินโบอิ้ง 737 แมกซ์ ที่ถูกสั่งห้ามบินทั่วโลกไปเมื่อปีก่อน หลังจากเกิดอุบัติเหตุ 2 ครั้งติดต่อกัน จนต้องให้ทางโบอิ้งปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง ก่อนจะเชื่อมั่นได้ว่า เครื่องบินไม่มีปัญหาจริงๆ จึงค่อยเปิดทางให้นำมาใช้ได้ตามปกติ

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ได้เกิดเหตุเครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ของสหรัฐอเมริกา ระเบิดกลางอากาศ หลังจากทะยานออกจากสนามบินนานาชาติเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้ไม่นาน

โชคดีที่นักบินสามารถนำเครื่องกลับมาลงจอดที่สนามบินได้อย่างปลอดภัย ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และพบว่ามีชิ้นส่วนของเครื่องบินตกลงบนพื้นโลกบางส่วน

กระนั้นก็ตาม จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดดังกล่าว ทำให้ต้องมีการตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากอะไร

 

เบื้องต้นพบว่า เครื่องยนต์ที่มีปัญหา เป็นเครื่องยนต์ของรุ่นแพรตต์แอนด์วิตนีย์ 4000 ของบริษัทแพรตต์แอนด์วิตนีย์ บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินจากอเมริกา โดยเครื่องยนต์ของแพรตต์แอนด์วิตนีย์นี้ มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในการบินพลเรือนและการบินของทหาร

และถือว่าเป็นหนึ่งใน 3 บิ๊กยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องยนต์เครื่องบินระดับโลก รองจากเจเนอรัล อิเล็กทริก และโรลส์-รอยซ์ เท่านั้น

แต่จากอุบัติเหตุล่าสุด ทำให้ทางบริษัทโบอิ้งต้องประกาศแนะนำให้เครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นแพรตต์แอนด์วิตนีย์ 4000 หยุดการบินชั่วคราว และรอการสอบสวนอย่างละเอียดก่อน

เบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 และ 777-300 ที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้ มีให้บริการอยู่ 69 ลำทั่วโลก และที่จอดทิ้งไว้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อีก 59 ลำ คือ มีใช้ในสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส (สหรัฐ), เจแปน แอร์ไลน์ส (ญี่ปุ่น), เอเอ็นเอ โฮลอิ้งส์ (ญี่ปุ่น), เอเชียนา แอร์ไลน์ส (เกาหลีใต้) และโคเรียน แอร์ (เกาหลีใต้)

ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มีการใช้งานมานานมาก และเตรียมที่จะ “โละ” ในอีกไม่ช้า

 

แน่นอนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องระงับการใช้เครื่องบินเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อรอการตรวจสอบอย่างละเอียด หาสาเหตุของการระเบิดให้ได้เสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก

โดยทางยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ได้ประกาศระงับการใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกันนี้ทันที 24 ลำ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการประกาศระงับการบินของโบอิ้ง

นอกเหนือจากยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่ใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีสายการบินของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ใช้อยู่

ด้านกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ได้สั่งให้สายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส (เจเอแอล) และเอเอ็นเอ ระงับการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์แพรตต์แอนด์วิตนีย์ 4000 เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งใดๆ ออกมาต่อไป โดยระบุด้วยว่า สายการบินเจเอแอล มีอยู่ 13 ลำ และเอเอ็นเอ มีอยู่ 19 ลำ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นยังแถลงด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 เครื่องบินของสายการบินเจเอแอล ที่บินจากสนามบินนาฮะ ไปยังสนามบินนานาชาติโตเกียว ต้องบินวกกลับสนามบินนาฮะ เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับเครื่องยนต์ด้านซ้ายของเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินที่เกิดเหตุดังกล่าว เป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกันและอายุเท่ากับเครื่องบินของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่เกิดเหตุล่าสุด คือมีอายุใช้งานมานานแล้วถึง 26 ปี

ขณะที่สายการบินโคเรียน แอร์ไลน์ส แจ้งว่า ทางสายการบินมีเครื่องบินรุ่นดังกล่าวอยู่ 16 ลำ ในจำนวนนี้ถูกเก็บไม่ได้ใช้ 10 ลำ และจะมีการปรึกษากับทางบริษัทผู้ผลิตและหน่วยงานกำกับดูแล และจะหยุดการใช้บินไปญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนนี้

 

คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ (เอ็นทีเอสบี) ของสหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่บริเวณเครื่องยนต์ด้านขวาของเครื่องบิน และตัวเครื่องบินได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

และตอนนี้กำลังตรวจสอบว่า เหตุใดโลหะครอบเครื่องยนต์จึงได้หลุดออกจากตัวเครื่อง อีกทั้งต้องตรวจสอบว่า เหตุใดจึงเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ทั้งที่มีการปิดการจ่ายเชื้อเพลิงไปแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจด้านการบิน ก็ทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมนี้แย่อยู่แล้ว ยังมาเกิดเหตุการณ์ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นอีก หลังจากเจอกับรุ่น 737 แมกซ์ไปแล้ว

ถ้ารอบนี้กลายเป็นปัญหายืดเยื้อ โบอิ้งคงต้องกระอักหนักอีกครั้งอย่างแน่นอน