ข่าวร้ายรัฐประหารเมียนมา / โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ข่าวร้ายรัฐประหารเมียนมา

 

หลายวันก่อนทหารยึดอำนาจรัฐบาลเมียนมา 1 กุมภาพันธ์ พระในศาสนาพุทธเดินขบวนสนับสนุนทหาร มีการชูป้ายอ้างว่าการเลือกตั้งไม่ถูกต้อง พระสงฆ์พุทธเดินขบวนไปตามถนนในย่างกุ้ง แล้วตะโกนว่า ทหารคือผู้พิทักษ์รัฐ

หากเป็นผู้นำรัฐประหาร ท่านอาจใจชื้นเพราะมีพระสงฆ์สนับสนุนการรัฐประหารและสนับสนุนทหาร

แต่ผู้นำกองทัพย่อมรู้ดีว่า นี่อาจเป็นข่าวร้ายมากกว่าก็ได้

 

ศาสนากับการเมืองเมียนมา

ภาพพระสงฆ์ในศาสนาพุทธเดินขบวน เคลื่อนไหวและเป็นแกนนำการเมืองเมียนมา ไม่ผิดปกติ ในเมียนมาประเทศที่ซึ่งพุทธศาสนาเกี่ยวพันลึกซึ้งกับวัฒนธรรมประเทศ

สิ้นสุดยุคอาณานิคมอังกฤษ พระในศาสนาพุทธมีบทบาทเป็นเครื่องมือในภูมิทัศน์การเมือง (Political Landscape) เมียนมา ต่อมาช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือนปี 2011 และออง ซาน ซูจี เป็นอิสระจากการกักตัวในบ้านพัก การเปลี่ยนย้ายอำนาจอนุญาตให้ขบวนการพุทธชาตินิยม (Nationalist Buddhism) ได้แรงหนุนให้แน่ใจในการต่อสู้เพื่ออำนาจของขบวนการ ขบวนการดังกล่าวได้แก่ the Patriotic Association of Myanmar และ the 969 Movement

บางกลุ่มฉกฉวยสถานการณ์ความไม่มั่นคงของประชาชนที่กำลังเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยนำผลต่างๆ ของความเปลี่ยนแปลงนั้นมาขูดรีดใช้ประโยชน์จนก่อเกิดอุดมการณ์พุทธหัวรุนแรง (Buddhist radical) ซึ่งกระตุ้นความรุนแรงต่อศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ

พุทธชาตินิยมได้แพร่หลายในประวัติศาสตร์ของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ระหว่างปี 1915 มีการจลาจลต่อต้านคนทมิฬ (Tamil) ในศรีลังกา

พุทธชาตินิยมบ่อยครั้งแสดงลักษณะเน้นเชื้อชาติเป็นศูนย์กลาง (ethnocentrism) ที่จะปกป้องอัตลักษณ์ (identity) พุทธ-เมียนมาโดยโฆษณาชวนเชื่ออย่างมาก กรอบแนวคิดพุทธชาตินิยมคือ พุทธศาสนาตกอยู่ภายใต้ภัย และต้องการปกป้อง ภัยของชักจูงให้เปลี่ยนศาสนา ซึ่งการสอนสามารถให้ฉ้อฉลและเป็นมูลเหตุที่จะทำให้ลดน้อยลง มีการวาดภาพอิสลามเป็นภัยร้ายสูงสุดที่ยังดำรงอยู่ต่อชะตากรรมและชาติ ดังนั้น มีความชอบธรรมในการจองจับมาลงโทษ*

ในเดือนตุลาคม 2017 พระชั้นผู้ใหญ่ Sitagu Sayadaw เทศนาให้โอวาทต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งท่านอ้างว่า ความรุนแรงอนุญาตให้ต่อต้านคนกลุ่มน้อยโรฮิงญาได้ เพราะคนมุสลิม พวกเขาไม่ได้เป็นมนุษย์สมบูรณ์

ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธชาตินิยมกับทหารเมียนมา ด้วยเหตุว่าพึ่งพาอาศัยกัน ทหารจึงดำเนินเป้าหมายต่างๆ ของพุทธชาตินิยม โดยปกป้องพุทธศาสนาจากภัยคุกคามของมุสลิม และพุทธชาตินิยม อำนวยให้ทหาร ด้วยคำอนุญาตทางศาสนาและวัฒนธรรมต่อพฤติกรรมที่โหดร้ายของพวกทหาร

ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเริ่มต้นในปี 2016 ระหว่างที่ทหารเข้ากวาดล้างและเริ่มใช้กำลังบังคับโรฮิงญา คนหนีไปประเทศเพื่อนบ้านคือ บังกลาเทศราว 87,000 คน จำนวนคนหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่นั้นมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 700,000 คน

 

พุทธชาตินิยม โรฮิงญาและการเมือง

อิทธิพลของพุทธศาสนาในวิถีชีวิตคนเมียนมาน่าเกรงขามมาก ด้วยประชากรราว 89% ที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นพุทธเถรวาท ทว่าบทบาทที่เด่นของพุทธชาตินิยมเห็นได้จากความพยายามเปลี่ยนความเห็นของผู้คนเกิดเมื่อ 2015 เมื่อพระสนับสนุนต่อต้านการเลือกตั้งของพรรค National Leaque for Democracy-NLD ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี พุทธชาตินิยมได้กล่าวว่า คุณสามารถลงคะแนนให้พรรคหนึ่งที่สนับสนุนอิสลามได้หรือ?

ในปี 2013 ขบวนการ 969 Movement เรียกร้องให้บอยคอตธุรกิจต่างๆ ของมุสลิม โดยผู้นำศาสนา พระชั้นผู้ใหญ่ วิระทู (Ashin Wirathu) อ้างว่า สุเหล่าคือฐานของศัตรู

เมื่อเร็วๆ นี้เอง คนทั่วไปและพระเดินขบวนอย่างพร้อมเพรียงกัน ต่อต้านมาตรการจำกัด COVID-19 ของรัฐบาลพลเรือน ต่อต้านผลการเลือกตั้งพฤศจิกายน 2020 และรัฐธรรมนูญ

ในประเทศที่มี 7 กลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยแต่ละพื้นที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 2% ของประชากร ศาสนาพุทธบ่อยครั้งใช้เพื่อเป้าหมายชาตินิยม พระในศาสนาพุทธมีบทบาทสำคัญหลายช่วงประวัติศาสตร์ทั้งก่อนและหลังยุคอาณานิคมอังกฤษ ช่วงขบวนการชาตินิยมเติบโตทศวรรษ 1940 คำขวัญเพื่อหลอมรวมระหว่างศาสนากับชาติคือ

“…คนเมียนมาหมายถึงเป็นชาวพุทธ…”

เหมือนความคิดเรื่องการทำสงครามของชาติ มีการแยกออกแบบเกรงกลัวชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่ยืนหยัดมาตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราช พระสงฆ์ยังเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านการปราบปรามชนกลุ่มน้อยที่แสดงความสำเร็จของรัฐบาลพลเรือนเมียนมา

โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา มีการปฏิเสธสถานะของชาติพันธุ์และเรียกแทนว่า ชาวเบงกาลี (Bengali) ปี 2013 พระชั้นผู้ใหญ่ วิระทูพูดกับพระรูปอื่นๆ

“…ถ้าเราอ่อนแอ ดินแดนของเราจะกลายเป็นมุสลิม…”

ปี 2013 เมื่อออง ซาน ซูจี ในฐานะประธานที่ปรึกษาประเทศได้ปกป้องทหารเมียนมาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอไม่ได้ใช้แม้คำ โรฮิงญา เพื่อปฏิเสธการดำรงอยู่ของความแตกต่าง และความต้องการกำจัดโรฮิงญา พระในศาสนาพุทธส่วนใหญ่สนับสนุน ความเป็นชาติหนึ่งเดียว (National homogeneity) ชาตินิยมทางศาสนาในเมียนมามีลักษณะคู่ขนานอย่างนี้มากมายในทุกหนแห่ง

คือไม่ปรารถนาการยอมรับมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของชาติ

 

ข่าวร้ายมาก

ไม่ค่อยมีใครสังเกตมากนักว่า ทำไม พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย หลังการรัฐประหารไม่นานสั่งการปล่อยนักโทษหลายหมื่นคนออกจากคุก น่าจะมีคำอธิบาย 2 ประการ

ประการแรก การปล่อยนักโทษออกจากคุกเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ในบริบทช่วงนั้น การปล่อยตัวนักโทษซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักโทษทางการเมือง ช่วยให้ภาพของเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับลบภาพรัฐบาลทหารเผด็จการในอดีต อาจหมายความว่า องค์กรปกครองทหารใหม่อยากได้ภาพอันนั้น

แต่ว่าการปราบปรามการประท้วงของประชาชนได้ทำลายภาพที่สร้างขึ้นจนหมดสิ้น

ประการที่สอง น่าคิดว่า นักโทษการเมืองเหล่านั้นบางส่วนต่อต้านรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว แนวคิดปล่อยนักโทษไม่ซับซ้อนเท่าไร การปล่อยนักโทษการเมืองก็เท่ากับว่า ปล่อยคู่และกลุ่มขัดแย้งกับรัฐบาลพลเรือนออกมา ซึ่งน่าจะสนับสนุนรัฐบาลทหารก็ได้

ที่ว่าไม่ซับซ้อนคือ อาจเป็นแผนงานการเมืองแนวนักการทหารคือ ปล่อยให้ม็อบชนม็อบย่อมเป็นไปได้ ตรงนี้แหละคือ ข่าวร้ายมาก เพราะย่อมทำให้เกิดความรุนแรงมากไปกว่าเดิมจากพุทธชาตินิยมและกลุ่มแนวคิดสุดขั้วทางศาสนาอื่นๆ หากใครจำได้ สื่อมวลชนรายงานถึงรายชื่อนักโทษการเมืองที่พ้นคุกครั้งนี้นามว่า วิระทู คงจำได้ว่า ท่านเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ผู้นำการต่อต้านคนมุสลิมและโรฮิงญาคนสำคัญ

แทนที่บ้านเมืองจะกลับสู่ความสงบ เรียบร้อย และมีเสถียรภาพ ประชาชน ข้าราชการ แพทย์และพยาบาล แรงงาน ชนกลุ่มน้อย ชาวบ้านยิ่งลุกฮือต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลทหาร ตอนนี้กองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเข้ามาสนับสนุนประชาชนต่อต้านรัฐบาล

รัฐประหารเดี้ยงมีโอกาสสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเมื่อพุทธชาตินิยมปะทะกับประชาชน คำสั่งของรัฐบาล กฎหมาย กำลังทหาร ปืน รถถังจะเอาอยู่หรือ

แค่มีผู้เสียชีวิตสองคน บาดเจ็บนับสิบคน รัฐบาลยังเอาตัวไม่รอด ถ้ามีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ล่ะ

รัฐประหารเดี้ยง นับถอยหลังแล้ว

*ดู Paul Fuller, “The narrative of the ethnocentric Buddhist identity” Journal of the British Association for the Study of Religions Vol. 20 (2018).