นโยบาย ‘ปักหมุดเอเชีย’ กลับมาแล้ว! / กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

นโยบาย ‘ปักหมุดเอเชีย’

กลับมาแล้ว!

 

นโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อเอเชียและไทยเป็นอย่างไรต้องดูคนที่เขาแต่งตั้งมาดูแลงานด้านนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ Antony Blinken มีประสบการณ์หนักไปทางด้านตะวันออกกลางอิรัก, อัฟกานิสถาน, อิหร่านตั้งแต่ทำงานด้านนี้ให้กับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และไบเดนในฐานะรองประธานาธิบดี

ด้านนโยบายเอเชียของรัฐบาลใหม่ ไบเดนใช้ “มือเอเชีย” ยุคของโอบามาเช่นกัน นั่นคือ Kurt Campbell

เขาเพิ่งตั้งตำแหน่งใหม่ให้กับแคมป์เบล : Indo-Pacific Coordinator ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ

หรือผู้ประสานงานว่าด้วยกิจกรรมด้านอินโด-แปซิฟิก

มีคำอธิบายว่าการตั้งตำแหน่ง “ผู้ประสานงาน” ว่าด้วยนโยบายของสหรัฐในเอเชียให้อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยกิจกรรมเอเชียตะวันออกคนนี้ก็เพื่อจะได้บริหารนโยบายเรื่องนี้แบบบูรณาการ

 

พอได้ยินว่าแคมป์เบลกลับมาทำงานเรื่องนโยบายต่างประเทศด้านเอเชียอีกครั้งก็พลันทำให้ผมคิดถึงหนังสือที่แกเขียนหลังจากออกจากตำแหน่งที่ละม้ายนี้ภายใต้รัฐมนตรีต่างประเทศฮิลลารี คลินตัน

หนังสือชื่อ The Pivot? The Future of American Statecraft in Asia ซึ่งเป็นการอธิบายถึงนโยบาย Pivot to Asia ที่เริ่มต้นในยุคของโอบามา

แนวทาง The Pivot to Asia คือการที่สหรัฐต้องการจะตอกย้ำถึงความสำคัญของเอเชียด้วยการโยกบางส่วนกองกำลังทหารทางทะเลจากมหาสมุทรแอตแลนติกมาสู่แปซิฟิกเพราะเห็นว่าผลประโยชน์ของสหรัฐในอนาคตย่อมจะอยู่ที่เอเชียมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อจีนกำลังเป็นตัวละครที่กำลังท้าทายอิทธิพลของสหรัฐในย่านนี้

 

แคมป์เบลทำนโยบายเรื่องเอเชียให้สหรัฐมาแล้วยาวนานกว่า 25 ปี

ยุคสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เขาอยู่ประจำกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ช่วยผลักดันนโยบายด้านเอเชียภายใต้หัวหน้าของเขาที่ชื่อ Joseph Nye ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้น

แนวทางที่ว่านี้มีสมญาว่า Nye Initiative ที่เริ่มต้นสร้างแนวร่วมในเอเชียเพราะเริ่มเห็นเค้าลางของการสยายปีกของมังกรยักษ์

นักวางยุทธศาสตร์ทางทหารอย่าง Nye เห็นสัญญาณชัดเจนว่าจีนกำลังผงาดทั้งด้านพลังทางเศรษฐกิจ, การทหาร, อิทธิพลและความกระตือรือร้นที่จะเติบใหญ่มาเทียบเคียงสหรัฐ

พอมาทำงานกับฮิลลารี คลินตัน ที่กระทรวงต่างประเทศ แคมป์เบลก็ปรับแต่งนโยบายนั้นมาเป็น Pivot to Asia

แนวทางนี้คือการ “ปรับสมดุล” หรือ rebalance การทุ่มเททรัพยากรของสหรัฐจากตะวันออกกลางมาเพิ่มทางเอเชียมากขึ้น

คำว่า “Geostrategic focus” หรือการพุ่งเป้าด้านภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นหัวใจของการวางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้

หนังสือเล่มนี้เน้นความสำคัญของการสร้าง “เครือข่ายแห่งความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชีย” เพื่อเสริมความได้เปรียบทางการเมืองและทางทหารของสหรัฐในเอเชีย

 

วันนี้ แคมป์เบลกลับมานั่งทำงานเต็มเวลาว่าด้วยนโยบายเอเชียนในบรรยากาศใหม่…ที่จีนมีพลังอำนาจสูงขึ้นมาเดิมอย่างมาก

ยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้รัฐมนตรีต่างประเทศไมก์ ปอมเปโอ ทิศทางของวอชิงตันเปลี่ยนไปเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศในเอเชีย ทิ้งหลักการพหุภาคีทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, การเมืองและความมั่นคง

วันนี้ แคมป์เบลต้องกลับมาปรับแนวทางให้กลับมาสู่ The Pivot (หรือหันหัวเรือใหม่) ให้เป็นการสร้าง “ความสัมพันธ์แบบใยแมงมุม” เพื่อสกัดการผงาดของจีนอย่างขึงขังจริงจัง

ทรัมป์เปิด “สงครามการค้า” กับจีน และขยายการเผชิญหน้าเป็น “สงครามไซเบอร์” ทำให้เกิดคำถามว่านี่เป็น “สงครามเย็นรอบใหม่” ระหว่างสองมหาอำนาจหรือไม่

ทรัมป์ไม่ปฏิเสธว่านี่คือสงครามเย็นรอบใหม่ที่สหรัฐจะยอมให้จีนเติบใหญ่มาเทียบชั้นกับสหรัฐไม่ได้

สีจิ้นผิงของจีนยืนยันมาตลอดว่าปักกิ่งไม่ต้องการเห็นสงครามเย็นรอบใหม่

ผู้นำจีนเสนอว่านี่คือ “ความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างประเทศใหญ่”

จีนเสนอว่า สหรัฐกับจีนสามารถ “แข่งขันไปร่วมมือกันไปได้”

ฝ่ายจีนจึงเสนอว่าทั้งสองประเทศสามารถ Compete (แข่งขัน) และ Cooperate (ร่วมมือ) พร้อมๆ กันได้

ประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจนี้จึงกลายเป็นการตีความ C สามตัว

นั่นคือ Cooperation, Competition หรือ Confrontation

หรือจะเป็นส่วนผสมของทั้ง 3Cs?

 

แวดวงนักการเมืองและนักการทูตในเอเชียคุ้นเคยกับแคมป์เบลพอๆ กับที่เขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักการเมือง, นักการทูตและนักวิชาการที่วอชิงตัน

นอกจากผู้คนในแวดวงกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐแล้ว คนในวงการวิชาการ Think Tank เรื่องเอเชียก็รับทราบถึงประสบการณ์ของเขาในเรื่องเอเชียไม่น้อย

เช่น “ถังความคิด” อย่าง Center for Strategic and International Studies (CSIS) ที่วอชิงตันซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของนักคิดนักวิเคราะห์เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

หรือ Center for a New American Security (CNAS) ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเพื่อถกแถลง, วิจัยและนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของสหรัฐในทิศทางใหม่”

ก่อนจะรับตำแหน่งใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เขาเป็นประธานของกลุ่ม Asia Group ของศูนย์ศึกษาแห่งนี้เพื่อทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนานโยบายเกี่ยวกับเอเชียที่โยงถึงความมั่นคงของสหรัฐในยุคดิจิตอลที่กำลังเผชิญความท้าทายจากจีนและประเทศอื่นๆ ที่แก่งแย่งอิทธิพลบารมีกับอเมริกา

จะเรียกแคมป์เบลว่าเป็น “Mr. Asia” ของรัฐบาลสหรัฐยุคไบเดนก็ไม่ผิดนัก

การกลับมาสู่เวทีเอเชียของแคมป์เบลตรงกับการเปิดเผยเอกสารลับว่าด้วยยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชียภายใต้ยุคของโดนัลด์ ทรัมป์

เมื่อถอดชั้นความลับให้เปิดเผยได้ เอกสารชุดนี้จึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่สะท้อนวิธีคิดของนักยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชียและโดยเฉพาะจีนอย่างน่าสนใจยิ่ง

เมื่ออ่านเอกสารชุดนี้ที่เคยถูกตีตรา “ลับ” มาก่อนวันนี้จะเข้าใจถึงวิธีคิดและแนวปฏิบัติของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้

และไทยเราก็ควรจะศึกษาเพื่อวิเคราะห์ว่าสถานภาพของประเทศไทยในแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอยู่ตรงไหน?