โควิด-19 กับเสียงที่หายไป / บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

โควิด-19 กับเสียงที่หายไป

 

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ต่อจากนั้นไทยมีการประกาศล็อกดาวน์และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะนั้นถนนหนทางในกรุงเทพฯ มีรถวิ่งน้อยลง คนที่สัญจรไปมาบนทางเท้าก็ลดลงอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ไร้ผู้คนมาเยือนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เป็นเหตุให้มีแต่ความเงียบเวลากลางวัน นอกจากนี้ เมื่อร้านกินดื่มยามค่ำคืนต้องปิดกิจการ เวลากลางคืนก็ยิ่งเงียบสงัด… คนที่เดือดร้อนจากการตกงานนั้นมีแน่นอนอยู่แล้ว

แต่…ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเดือดร้อนจาก “ความเงียบ” ที่มาพร้อมกับการระบาดของโควิด-19

ขอเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น

ดังนี้

 

นักวิจัยของสมาคมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์ “เสียงรบกวน” ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่แล้วหลังการระบาดของโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งก่อนและหลังการประกาศภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 5 จังหวัดโดยรอบ

บริเวณเขตศูนย์กลางธุรกิจสำคัญต่างๆ ในโตเกียว มีระดับเสียงลดลง แต่ระดับเสียงกลับเพิ่มขึ้นในเขตชานเมืองรอบนอก นั่นเป็นเพราะคนออกจากบ้านน้อยลง มีการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น อีกทั้งช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีใหม่ 2564 ระดับเสียงก็ลดลงอีกเช่นกัน เพราะญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง สภาพความเงียบเช่นนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในญี่ปุ่น แต่คงเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่นกัน

เสียงในชีวิตประจำวันที่เราคิดว่าน่ารำคาญ หนวกหู เช่น เสียงรถยนต์ เสียงฝีเท้าคนเดิน เสียงพูดคุยจ้อกแจ้ก เสียงลิฟต์ เสียงเครื่องขายอัตโนมัติ เสียงเครื่องจักร เป็นต้น แต่…ถ้าขาดเสียงเหล่านี้จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเดือดร้อนอย่างยิ่ง

สำหรับคนธรรมดายังต้องปรับตัวกับ “ชีวิตวิถีใหม่” ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่เราลองนึกถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ต้องปรับตัวมากขึ้นกว่าคนธรรมดา

คือ ผู้พิการทางสายตา

 

โดยปกติ ผู้พิการทางสายตาจะใช้ไม้เท้าขาวในการเดินทางและอาศัยการเดินบนแผ่นบล็อกลูกคลื่นบนทางเท้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเงี่ยหูฟังเสียงสิ่งต่างๆ รอบตัวควบคู่ไปด้วย

อิเคดะ (นามสมมุติ) ชายวัย 54 ปี เขาสูญเสียการมองเห็นจากอุบัติเหตุเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ทุกๆ วันเขาเดินทางจากบ้านไปทำงาน เมื่อมีคนตาดีขอทดลองเดินตามเขาไปห่างๆ อิเคดะถือไม้เท้าขาวในมือ เดินไปตามแผ่นบล็อกลูกคลื่น แล้วหยุดอยู่หน้าร้านแห่งหนึ่ง บอกกับคนตาดีว่า “นี่ร้านบะหมี่ราเม็ง” เขารู้ได้จากการฟังเสียงพัดลมดูดอากาศ เสียงลมวื้อๆๆ…ดังอยู่เหนือศีรษะ เดินกันมาอีกสักพัก เขาบอกว่า “นี่ร้านสะดวกซื้อ” เพราะได้ยินเสียงประตูปิด-เปิดอัตโนมัติ

ในชีวิตประจำวันของเขาที่ต้องออกจากบ้าน ไปทำงาน ไปซื้อของ ไปธนาคาร ฯลฯ เขาทำได้อย่างไม่เดือดร้อน เพราะเขาสร้างแผนที่ทางเดินของตัวเองในสมองจาก “สัญญาณทางหู” ที่เขาได้ยิน ดังนั้น เสียงที่น่ารำคาญของคนปกติจึงไม่ได้น่ารำคาญสำหรับเขาเลย แต่ “เสียง” เป็นสิ่งที่เขาใช้นำทาง ทดแทนการมองเห็นนั่นเอง

แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 เสียงต่างๆ ก็เปลี่ยนไป ร้านค้าตามเส้นทางเดินของเขาปิดกิจการมากขึ้นหลายร้าน บางร้านที่เคยมีเสียงเปิด-ปิดประตูก็ไม่มีแล้ว บางร้านก็เปลี่ยนมาเปิดประตูไว้รอรับลูกค้า เสียงที่เขาได้ยินจากภายในร้านจึงแปลกไปจากเดิม แผนที่ในสมองของเขาจึงขาดตอน เว้าแหว่ง ทำให้เขาต้องพยายามสร้างแผนที่ขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อไม่ให้หลงทาง

อิเคดะบอกว่า “การระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาพการเคลื่อนไหวของผู้คนรอบข้างเปลี่ยนไป เสียงก็เปลี่ยนไป ผู้คนเคลื่อนไหวน้อยลง เสียงเงียบลง ผมรู้สึกไม่แน่ใจและสับสนบ่อยขึ้น”

เมื่อเดินมาถึงทางข้าม เขาหยุดยืนรอฟังเสียงสัญญาณไฟเขียวสำหรับคนข้าม “ตึ้กๆๆๆๆ” เสียงสัญญาณดังขึ้นแล้ว แต่เขายังยืนลังเลไม่กล้าก้าวเท้า เพราะตามปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 จะมีเสียงฝีเท้าของผู้คนที่ยืนรออยู่ข้างๆ เขาออกก้าวเดิน เขาจึงมั่นใจที่จะก้าวเท้าตามไปด้วย แต่ตอนนี้ผู้คนเลี่ยงการออกจากบ้าน เสียงรอบข้างจึงหายไปด้วย

เขายอมรับว่ากลัวการตัดสินใจแบบวัดดวงเอา เพราะเป็นจังหวะที่อาจเกิดอันตรายได้

 

ไม่แต่เพียงเท่านี้ที่ทำให้เขาลำบากมากขึ้น “การเว้นระยะห่างทางสังคม” ทำให้ผู้คนเดินห่างจากเขาไปด้วยโดยไม่รู้ตัว บางครั้งเขาเอ่ยปากถามเมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าใกล้เข้ามา แต่เขาก็ถูกละเลย บางคนเร่งฝีเท้าเดินผ่านเขาไปด้วยซ้ำ ผู้คนที่เคยเอื้ออารีต่อเขา โดยการแตะข้อศอกหรือจับไหล่พาเขาเดินไปด้วย ก็หายากมากขึ้น เพราะทุกคนหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกันนั่นเอง

เมื่อเดินผ่านหน้าร้านหนึ่ง พนักงานเอ่ยทักทายเขาว่า “สวัสดีครับ” อิเคดะได้ยินเสียงนี้แล้วรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง แสดงว่าเขาเดินมาถูกทางแล้ว

พนักงานร้านบอกว่า เห็นเขาเดินผ่านหน้าร้านบ่อยๆ รู้สึกคุ้นเคย จึงมักทักทายเขาเสมอ

หรือเมื่อเขาไปยืนต่อแถว เสียงเด็กหนุ่มที่ยืนข้างหน้าหันมาบอกเขาว่า “ขยับขึ้นมาอีกสองก้าวครับ” เขารู้สึกอุ่นใจว่าแถวขยับแล้ว และที่สำคัญคือ เขาไม่ได้ยืนอยู่อย่างอ้างว้าง…

ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เสียงต่างๆ หายไป กลายเป็น “ความเงียบ” ที่สร้างความกังวลใจ สำหรับผู้พิการทางสายตา

เขาเหล่านั้นจึงอยากได้ยิน “เสียง” ของคนจริงๆ รอบข้างที่เอื้ออาทรต่อเขา…