ภัยแล้งใกล้ตัว ธุรกิจวิตก เตือนรัฐ ‘รับมือแต่เนิ่นๆ’ ห้ามหรือปล่อย สาดน้ำสงกรานต์ รอลุ้น… / เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

ภัยแล้งใกล้ตัว

ธุรกิจวิตก เตือนรัฐ ‘รับมือแต่เนิ่นๆ’

ห้ามหรือปล่อย สาดน้ำสงกรานต์ รอลุ้น…

 

ใกล้เข้าเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเข้าฤดูร้อนของประเทศไทย มักมีคนถามจะแล้งไหม น้ำกินน้ำใช้พอไหม รวมถึงอากาศจะร้อนแรงอบอ้าวอย่างไร แม้หลายปีก่อนหน้านี้ พยากรณ์อากาศและจัดการน้ำของเรา จะคาดเคลื่อนน้อยกว่าในอดีตมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับแม่นยำ 100%

ที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะสัญญาณของทุกผลสำรวจในภาคเอกชน ทั้งสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทย เมื่อถามถึงประเด็นความกังวลที่อาจกระทบต่อการทำธุรกิจ กำลังซื้อ และเศรษฐกิจประเทศ

จะมีปัจจัยผลกระทบจากภัยแล้ง ติด 1 ใน 4 แรกประเด็นที่วิตก

และอยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมและทำงานแต่เนิ่นๆ เมื่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไปแล้ว

 

และมองยาวไปที่ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบให้ผ่อนคลายมาตรการให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบนั่งดื่มในร้านได้ทั่วประเทศ โดยให้จำหน่ายได้ถึงเวลา 5 ทุ่มของแต่ละวัน และต่ออายุมาตรการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกแค่ 1 เดือน จากประกาศเดิมจะสิ้นสุด 28 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ขยายสิ้นสุด 31 มีนาคม 2564 แทน

ซึ่งก็เป็นไปได้ที่รัฐบาลจะมองว่าการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น ดูจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไม่ได้มากเหมือนต้นปี และวัคซีนต้านไวรัสเริ่มมาถึงประเทศไทย ล็อตแรก 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ผนวกกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมกราคม เห็นชอบให้ในรอบปีมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง เพื่อหวังกระตุ้นใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงพีกช่วงสำคัญของปีตามนโยบาย ที่จะเกิดการเดินทาง และตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ที่รัฐได้เพิ่มวันหยุดและผ่อนปรนจัดกิจกรรมได้แล้ว

ซึ่งก็เชื่อว่าเร็วๆ นี้ ครม.จะเห็นชอบแพ็กเกจกระตุ้นภาคท่องเที่ยวออกมารับวันหยุดยาว

ดังนี้ เชื่อว่าความต้องใช้น้ำเพื่อกินเพื่อใช้ หรือเพื่อเล่นฉลองสงกรานต์ พุ่งอย่างรวดเร็วได้ หลังอั้นเดินทางและงดเล่นสงกรานต์มานาน

ดังนั้น รัฐควรชัดเจนว่าจะห้ามหรือผ่อนปรน

 

การสำรวจภาคเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มปลูกข้าวนาปรังในช่วงต้นไตรมาส 2 พอดี ก็แสดงความวิตกว่าปีนี้น้ำน้อย บางส่วนก็ยังเดินหน้าทำนาเพื่อเสริมรายได้ แม้หลายพื้นที่อาจเกิดศึกชิงน้ำอีกปี

เรื่องนี้ทางวิชาการประเมินว่า แม้รณรงค์ให้ประหยัด แต่หากทุกคนต้องใช้น้ำและปล่อยพื้นที่ประสบภัยแล้งลุกลาม ระบบเศรษฐกิจจะเสียหายเป็นแสนล้านบาท และกว่าจะฟื้นตัวใช้เวลา 6-12 เดือนจากนั้น!!

“ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ ให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำปี 2564 ว่า บางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย

แต่โดยภาพทั้งประเทศปริมาณน้ำปี 2563/2564 น้อยกว่าปี 2562/2563 ไม่มาก แต่ยังอยู่ในภาวะแล้งแบบเดียวกัน ผลต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝนปี 2562 ถึง 2563 อยู่ในเกณฑ์น้อย และยืนยันได้ว่าแม้ปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมจะไม่ให้กระทบต่อการอุปโภคและบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ การปลูกพืชยืนต้นและพืชต่อเนื่อง

โดยเตรียมแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/2564 (ช่วง 1 พฤศจิกายน 2563-30 เมษายน 2564) ที่เตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนปีก่อน ที่คำนวณจากปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงอ่างขนาดกลาง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมกันทั้งสิ้น 25,857 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ในส่วนดังกล่าวนั้น จัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 15,701 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นเพื่อการเกษตร 5,120 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,003 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ มีปริมาณน้ำสำรองไว้สำหรับต้นฤดูฝน 10,156 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนแผนการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตชลประทานปีนี้ สำหรับ 5.84 ล้านไร่นั้น แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.12 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ พืชต่อเนื่องและพืชอื่นๆ 4.18 ล้านไร่ เช่น อ้อย 1.09 ล้านไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนตัน 2.14 ล้านไร่ บ่อปลาและบ่อกุ้ง 0.66 ล้านไร่ และอื่นๆ 0.29 ล้านไร่

ล่าสุด สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวม 10,496 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42% ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้รวม 3,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้น้ำไปแล้ว 2,843 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของแผน ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ใช้น้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 4,777 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 3,615 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 987 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของแผน

 

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมชลประทานระบุว่า ไม่ได้เตรียมแค่แผนงานบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นงานปกติ แต่ต้องเพิ่มหลักการบริหารน้ำแบบประณีต และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งจากนี้จะเห็นการลงพื้นที่พร้อมกับคำแนะนำต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการน้ำในระดับแปลงนา ผมเป็นลูกชาวนา รู้ว่าเมื่อข้าวออกรวงจากเขียวกำลังใกล้เหลือง เหลือน้ำในนา 1-2 นิ้วก็เพียงพอให้ต้นข้าวเจริญเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องเพิ่มความละเอียด พิถีพิถันในการส่งน้ำ สร้างความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับของเกษตรกร วิธีการนี้จะช่วยประหยัดน้ำ และประหยัดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร

“เพราะตามข้อมูลภาวะน้ำน้อยในไทย น่าจะเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง จากสถิติพบว่า ปีน้ำน้อยและปีน้ำมาก จะเกิดสลับกันทุก 4-5 ปี ซึ่งภาวะน้ำน้อยรอบนี้มีมาต่อเนื่องแล้ว 2 ปี ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ 3 ดังนั้น การดำเนินการจะต้องมีการจัดทำแผนรองรับ บนพื้นฐานข้อมูลสถิติผนวกกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการประมวลและวางแผน ซึ่งแยกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เฉพาะหน้าต้องรณรงค์เรื่องการประหยัดใช้น้ำ แต่ให้มั่นใจว่าเราดูแลน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไม่ให้ขาดแคลนแน่นอน และน้ำเพื่อรักษานิเวศก็ไม่ได้รับผลกระทบ”

“แต่การปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ต้องขอความร่วมมืองดการเพาะปลูก ขณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่เสี่ยงจะเกิดภัยแล้ง กรมชลประทานได้ส่งอุปกรณ์ หรือเครื่องมือออกไปช่วยเหลือ เรากำลังจ้างแรงงานในพื้นที่ที่ว่างจากไม่ทำนาปรัง หรือคนเมืองตกงานกลับถิ่นฐาน ทั่วประเทศ 90,000 คน เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซม เก็บขยะ เก็บผักตบชวา เป็นต้น เพื่อการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ ทั้งการเชื่อมโยงอ่างสู่อ่าง มีการสูบกลับ สร้างทำนบดินหรือสิ่งก่อสร้างในลำน้ำเป็นช่วงๆ ขุดขยายแก้มลิง สร้างสมดุลการปล่อยและเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง”

“กรมชลประทานมีเป้าหมายภายในปี 2579-2580 จะเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บอีก 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 18 ล้านไร่ จากปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บ 7-8 หมื่นล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 50 ล้านไร่”

 

จากคำบอกกล่าวของอธิบดีกรมชลประทานก็น่าจะเบาใจ หากไม่ได้ย้อนดูสถิติน้ำแล้งอย่างปี 2553 ที่ครั้งนั้นก็เกิดจากฝนทิ้งช่วงมาแล้ว 2 ปี และเกิดภาวะน้ำทะเลทะลักเข้าตัวเมือง จนค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเกิน 0.50 กรัม/ลิตร ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา เหมือนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

แม้กรมชลประทานระบุว่าได้บริหารจัดการน้ำควบคุมความเค็มจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และเตรียมแผนรองรับที่ค่าเค็มสูงอาจเกิดขึ้นได้อีกหลายครั้ง อีกทั้งเตรียมพร้อมไปยันฤดูฝน หากมาล่าช้า ก็ได้ทำแผนสต๊อกน้ำเตรียมไว้ใช้เฉลี่ย 4 พันล้าน ลบ.ม./เดือน ถึงเดือนกรกฎาคม

ก็เชื่อว่าหน้าร้อนนี้เอาอยู่ ถ้าประหยัด

ก็ต้องติดตามต่อไปว่า พยากรณ์แล้งนี้ ระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ใครแม่นยำกว่ากัน