Calmtainment ความบันเทิงแบบไร้สิ่งเร้า / Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Young pretty joyful brunette woman meditating on table surround work stuff and flying papers. Cheerful mood, taking a break, working, studying, relaxation, true emotions

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Calmtainment

ความบันเทิงแบบไร้สิ่งเร้า

 

เราเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าการไถอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่ว่าจะเป็นไถหน้าแรกของ Netflix เพื่อหาหนังหรือซีรีส์เรื่องต่อไปมาดูแบบไม่เว้นวรรค

หรือไถหน้าฟีด Facebook อ่านโพสต์ของเพื่อนไปเรื่อยๆ กำลังกลายเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอยากหลีกเลี่ยงหรือทำให้น้อยลง

เพราะหากยอมรับกันตรงๆ มันก็เหนื่อยไม่ใช่เล่นอยู่

และสิ่งใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ก็คือความบันเทิงที่มาพร้อมความเงียบสงบของจิตใจ

เทรนด์ใหม่นี้มีชื่อเรียก เราเรียกมันว่า calmtainment ค่ะ

 

ไม่ต้องแจกแจง เห็นแว้บเดียวก็รู้ทันทีว่าการผสมคำใหม่นี้เกิดขึ้นมาจากคำศัพท์คำว่าความสงบและคำว่าความบันเทิง แต่สองอย่างนี้ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ไม่น่าจะจับมาผสมเข้าด้วยกันได้ง่ายๆ ใช่ไหมคะ เพราะเวลาที่เราพูดถึงความบันเทิง เราก็มักจะนึกไปถึงกิจกรรมอย่างการดูหนังแนวแอ๊กชั่นที่ทำให้ใจเราเต้นตุ๊มๆ ต้อมๆ ได้ตลอดเวลา หรือการได้ดูซีรีส์ที่ฟัดเหวี่ยงกับอารมณ์ของเราขึ้น-ลงเหมือนนั่งรถไฟเหาะ

calmtainment หมายถึงวิดีโอรูปแบบใหม่ที่จะจับมือผู้ชมขึ้นมา แล้วค่อยๆ นำพาผู้ชมเดินไปสู่ความสงบของจิตใจ ตอนนี้ก็เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

Wunderman Thompson ได้ออกรายงานประจำปีที่ชื่อว่า The Future 100 ซึ่งเป็นเทรนด์และความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองในปี 2021 นี้ โดยมี calmtainment เป็นหนึ่งใน 100 เทรนด์นี้

The Future 100 พูดถึง calmtainment ว่าในปีนี้บรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งหลายจะหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ชมสามารถฝึกความสงบของจิตใจได้

โดยยกตัวอย่างเป็นซีรีส์ Headspace Guide to Meditation ที่ฉายอยู่บน Netflix

 

ซีรีส์เรื่องนี้ช่วยนำพาผู้ชมให้รู้จักเทคนิควิธีการทำสมาธิ การรู้ลมหายใจเข้าออก และประโยชน์ของการฝึกจิตทุกวัน โดยที่ผู้ดำเนินรายการจะย้ำอยู่เสมอว่าการทำสมาธิสามารถทำได้ในทุกๆ แง่มุมของการใช้ชีวิต

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ในปี 2020 ที่ผ่านมา HBO Max ก็เคยจับมือกับ Calm แอพพลิเคชั่นช่วยทำสมาธิที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก

และเปิดตัว A World of Calm ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำจิตใจให้สงบโดยเล่าเรื่องผ่านเซเลบชื่อดังหลายคน

Disney ก็ไม่ตกรถขบวนนี้เหมือนกัน เพราะปีที่แล้วก็ออกซีรีส์ Zenimation บนแพลตฟอร์ม Disney+ ที่หยิบเอาคลิปที่ตัดมาจากการ์ตูนสุดคลาสสิคของค่ายตัวเอง แล้วเอามาใส่เสียงสบายๆ เพื่อให้ผู้ชมได้ผ่อนคลายกายและใจและสามารถทำสมาธิไปด้วยได้

รายงานฉบับนี้บอกว่าความสนใจในการทำสมาธิพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด มูลค่าของแอพพลิเคชั่นอย่าง Calm เพิ่มขึ้นไปแตะ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วเรียบร้อย

เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่น Headspace ที่สามารถระดมเงินทุนเพิ่มได้อีก 100 ล้านดอลลาร์

ความนิยมในแอพพ์ช่วยผ่อนคลายจิตใจนี้เองที่ทำให้วงการบันเทิงต้องรีบตามกลิ่นมาติดๆ และพยายามหาช่องทางในการเข้าถึงเค้กก้อนนี้ให้ได้ ก็เลยออกมาในรูปแบบของสิ่งที่ The Future 100 เรียกว่า calmtainment ในที่สุด

 

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายๆ คนที่ฝึกการทำสมาธิมาตั้งแต่เด็กก็อาจจะแอบคิดอยู่ในใจว่าของแบบนี้ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหม่ตรงไหน

แต่สำหรับผู้ชมอีกจำนวนมากทั่วโลก การได้เรียนรู้การทำสมาธิผ่านสื่อที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่แล้วอย่างหนังหรือซีรีส์เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว

สื่อต่างๆ เหล่านี้จะสอนผู้ชมให้รู้จักพื้นฐานของการทำสมาธิซึ่งก็คือการรับรู้ลมหายใจเข้าออก

หนังและซีรีส์ประเภทนี้จะค่อยๆ พาผู้ชมเริ่มต้นตั้งแต่การหายใจเข้าและรับรู้ถึงท้องที่พองขึ้น หรือการหายใจออกที่หน้าท้องจะยุบลงพร้อมๆ กับการผ่อนกล้ามเนื้อที่ตึงเกร็งทั้งหมด

ก่อนหน้าการมาถึงของ calmtainment หากใครสักคนต้องการจะเรียนรู้วิธีการทำสมาธิ ทางที่ดีที่สุดก็คือการเสิร์ชหาศูนย์ฝึกทำสมาธิสักแห่ง (หรือถ้าในไทยก็อาจจะต้องเข้าวัด)

แต่เมื่อเราสามารถฝึกวิธีการดูลมหายใจของตัวเองได้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน การทำสมาธิก็กลายเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็เริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง และจะทำบ่อยแค่ไหนก็ได้

ยิ่งแอพพ์รวบรวมบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่ประสบความสำเร็จและสรรเสริญประโยชน์ของการทำสมาธิเอาไว้ด้วยก็ยิ่งทำให้นักทำสมาธิมือใหม่มีกำลังใจที่จะเริ่มต้นและมีวินัยในการฝึกอย่างสม่ำเสมอ

 

คําว่า calmtainment อาจเป็นการผสมคำขึ้นมาใหม่ แต่การทำสมาธิหรือผ่อนคลายจิตใจผ่านสื่ออย่างวิดีโอหรือโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องที่ใหม่เอี่ยมขนาดนั้น เพียงแค่ความนิยมของมันได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

ไม่เพียงแต่การสอนทำสมาธิ ตอนนี้เราได้เห็นแม้กระทั่งการใช้ ASMR หรือใช้เสียงมาสัมผัสโสตประสาทของผู้ชม คลิปวิดีโอบางคลิปใช้เสียงกระซิบ เสียงเคี้ยว หรือเสียงเคาะ มาช่วยให้ผู้ฟังผ่อนคลายความเครียดได้มากขึ้น หรือทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

คอนเทนต์ครีเอเตอร์บางคนเสาะสรรหาเสียงแปลกใหม่ อย่างเสียงทุบดินน้ำมัน เสียงปั้นหม้อ เสียงจากการทำไอซิ่งเค้ก หรือเสียงการทำความสะอาดล้ำลึก เพื่อมาช่วยกล่อมเกลาจิตใจของผู้ชม

เราจะเห็นว่าหลายๆ ครั้งเราไปเจอคลิปอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่น่าเชื่อเลยว่าเพียงแค่คลิกดูไปไม่กี่วินาทีก็ทำให้เราเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในภวังค์ได้ (คลิปกดสิว หรือคลิปใช้น้ำแรงดันสูงๆ ฉีดทำความสะอาดพื้นสกปรกๆ ให้กลายเป็นพื้นที่สะอาดเป็นเงาวับก็น่าจะนับรวมอยู่ในนี้ด้วยเหมือนกัน)

ฉันว่ามันไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยากเลยว่ายิ่งเราเกิดความเครียดจากการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็มีแนวโน้มที่จะตั้งความหวังให้สิ่งเดียวกันนี้ช่วยให้เราผ่อนคลายได้เหมือนกัน

ในวันที่เรารู้สึกอื้ออึงไปด้วยคอนเทนต์ที่เร้าอารมณ์และสัมผัสของเราจนกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายตึงเครียด ถึงเราจะวางโทรศัพท์ในมือลงไม่ได้ แต่แค่เราหันไปเปิดวิดีโอหรือแอพพ์ที่ช่วยให้จังหวะร่างกายของเราช้าลง

ก็น่าจะทำให้เราสงบจิตสงบใจลงได้บ้างสักนิดก็ยังดี