องุ่นเปรี้ยว : คำ ผกา

คำ ผกา

คดีฆ่าหั่นศพนั้น ผู้ฆ่าหรือฆาตกรย่อมมีความผิด ทั้งผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม อย่างไม่มีข้อกังขา ไม่นับการถูกตั้งพิพากษาจากสังคมถึงความโหดเหี้ยมอำมหิต

คดีของ “เปรี้ยว” คล้ายกับคดีฆาตกรรมที่กลายเป็นนวนิยาย กลายเป็นภาพยนตร์ หลายต่อหลายเรื่องในโลกนี้ ด้วยองค์ประกอบของคดีที่ผู้ฆ่าเป็นผู้หญิงสาว และมีภาพลักษณ์เหมาะเจาะกับความเป็น Femme Fatal หรือผู้หญิงที่ใช้ความสวยเพื่อล่อหลอกคนให้ไปสู่ความชั่วหรือชะตากรรมที่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรม

องค์ประกอบเช่นนี้มันกลับตาลปัตร ภาพจำของผู้หญิงโดยทั่วไปที่มักจะอ่อนแอ และเป็นฝ่ายถูกกระทำ หัวอ่อน

เมื่อผู้หญิงพลิกกลับบทบาท ไม่ใช่บทบาทของความเป็นวีรสตรี แต่ในบทบาทของการเป็นอาชญากรที่เลือดเย็น ก็ยิ่งเพิ่ม “สีสัน” ให้ข่าว

และเรื่องราวของเปรี้ยวใกล้เคียงกับความเป็น “วรรณกรรม” มากขึ้น

วรรณกรรมที่เป็นตัวอ้างอิงบุคลิกของ “เปรี้ยว” ในโลกวรรณกรรมไทย สามารถอ้างอิงได้ทั้ง ลำยอง อีพริ้งคนเริงเมือง ทองประกายแสด เรือมนุษย์ หรือ “ฟ้า” ในมงกุฎดอกส้ม ฯลฯ ที่ตัวเองเป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัว หรือมาจากพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเป็นคนชั้นล่าง ลักษณะร่วมของตัวละครหญิงเหล่านี้คือ

– สวยยั่วยวน ไม่ใช่สวยแพง แต่สวยแบบกระตุ้นราคะ

– มารยาทหยาบ ทั้งการนั่ง เดิน กิน นอน – มักถูกเสริมรายละเอียดว่า วันๆ เอาแต่แต่งตัว แต่งหน้าสวยๆ แต่ที่นอนสกปรก ไม่พับผ้าห่ม กินข้าวไม่ล้างจาน หนอนขึ้นในครัว ขี้เกียจตัวเป็นขน

– มีความโลภ อยากร่ำรวย โดยไม่สนใจผิด ชอบ ชั่ว ดี

– ขาดมโนสำนึกพื้นฐาน เช่น สามารถทำร้าย/ฆ่า/หักหลัง คนที่เคยมีคุณบุญกับพวกเธอได้

– นวนิยายมักบอกเราทางอ้อมว่า เนื่องจากผู้หญิงเหล่านี้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่กะพร่องกะแพร่ง ส่วนใหญ่ไร้การศึกษา ไม่มีความรู้เรื่อง parenting ตามตำรา เลี้ยงลูกไปตามยถากรรม ถ้าไม่ตามใจลูกเป็นเทวดา ก็ใส่ค่านิยมผิดๆ ให้ลูกว่า โตมาควรหาผัวรวย ชีวิตจะได้สบาย

เหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นผู้หญิงแบบอีพริ้ง อีลำยอง อีทองประกายแสด อีฟ้า

ที่ใช้ความสวยของตัวเองทำร้ายคนอื่น สุดท้าย ทำร้ายตัวเอง ส่วนผู้หญิงที่อยู่รอดปลอดภัยคือ “แม่พระ” นางเอก ที่สวยเย็นๆ สวยเรียบๆ เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว แต่งตัวดี มีรสนิยม การศึกษาดี ไม่โฉ่งฉ่าง ทำอะไรก็เป๊ะ ถูกต้องไปหมด

สุดท้าย พระเอกจะกลับมาแต่งงานกับผู้หญิงคนนี้

และถ้า อีลำยอง อีฟ้า มีลูก – แม่พระจะเอาลูกมาเลี้ยงให้ เพราะอีตัวแสบถ้าไม่ตายก็ติดคุก

และคงเป็นเช่นนี้เอง ที่มีคนพยายามวิเคราะห์ปรากฏการณ์ของเปรี้ยว ว่าเกิดจากภาวะล้มเหลวของครอบครัว ที่พ่อแม่ไม่มีการศึกษาเลยไม่สามารถสอนผิด ชอบ ชั่ว ดีให้กับลูก ปล่อยให้ลูกใช้เรือนร่างในการทำมาหากิน โดยไม่คิดจะห้ามปราม

จากความผิดของพ่อแม่ ก็เป็นความผิดของสังคมที่ให้ค่ากับคนที่รูปร่างหน้าตาภายนอก ความร่ำรวย บูชาความมั่งคั่งโดยไม่สนใจว่าความมั่งคั่งนั้นได้มาอย่างไร

สนใจแต่รูปร่างหน้าตาภายนอก เด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่มีภูมิต้านทานจากสิ่งยั่วยุ สุดท้ายก็มีคนแบบเปรี้ยวเต็มไปหมด

ข้อสรุปเช่นนี้ มันสอดรับกับพล็อตในวรรณกรรมที่เราคุ้นเคย

จึงง่ายที่เราจะเห็นด้วยกับข้อเขียนแบบนี้ได้โดยไม่ต้องระวังระไวตั้งคำถาม กล่าวคือ

– น่าจะโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ชนชั้นทำมาหากิน แต่ไม่สอนลูก สอนไม่เป็น เพราะตัวเองก็ไม่เคยถูกสอน ไม่เคยเรียน มีแต่ตามใจลูก ลูกเรียนไม่เรียน เพราะตัวเองไม่ได้เคี่ยวเข็ญให้เรียน ส่งเสริมการเรียนลูกไม่เป็น ไม่ชี้นำให้ลูกทำมาหากินสุจริต เพราะรู้ว่ามันเหนื่อย มันลำบาก ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง จึงปิดหูปิดตาไม่รับรู้ความจริง ว่าที่ลูกมีเงินมีกินมีใช้ฟู่ฟ่านั้น ลูกทำงานอะไร?

– มีลูกเป็นผู้หญิง พอมีหน้าตาเป็นสมบัติ จะทำมาหากินด้วยเรือนร่างก็ไม่เป็นไร ไม่เคยห้ามปราม แต่งตัวโป๊ๆ เข้าบ้านอย่างไรไม่เคยว่า ขอให้ช่วยยกระดับทางบ้านได้ สร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่ได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เป็นคนดีของครอบครัวแล้ว

– น่าจะโตมาในครอบครัวที่ไม่สอนเรื่องเพศศึกษา ว่าเป็นเรื่องควรสงวน หลายๆ ครั้งในครอบครัวทำมาหากิน ความสุขความบันเทิงเดียว จนมีลูกเต็มบ้าน ก็เพราะมืดมา มีความบันเทิงเดียวที่ราคาถูก คือ การร่วมเพศ ดังนั้น กลุ่มนี้จะไม่ปกปิดเรื่องเพศ มองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดา เปิดเผยกับเด็กๆ และไม่เคร่งครัด ทำให้เด็กโตมาเป็นคนไม่อนุรักษนิยมในเรื่องเพศ ชอบโชว์เพราะอะไร?

โตมาในสังคมที่ครีมสเตียรอยด์ และยาพิษ หาซื้อง่าย แค่ไลน์ก็ส่งของมาถึงหน้าบ้าน และโตมาในยุคที่คลินิกศัลยกรรมเกลื่อนเมือง จึงไม่แปลกที่หญิงสาวจะขาวใส ผิดผิวพ่อผิวแม่ เพราะแค่กินกลูต้าที่ขายกันโครมๆ ก็ขาวซีดแล้ว แค่กินยาลดความอ้วนก็ผอมแล้ว แค่ไม่กี่พัน ก็ได้ดั้งโด่งๆ เพิ่มเงินอีกนิด ก็ได้นมคู่โต ไม่ต้องพูดถึงบิ๊กอายตาโต หรือขนตาเด้งงอน

– ความงามที่เสกได้ ขอแค่มีเงิน เพียงเท่านี้ก็สามารถยกระดับตัวเอง + การใส่เสื้อผ้าราคาแพง = ก็ (คิดว่า) เข้าสู่สังคมชนชั้นสูงกว่าที่ตนเคยเป็นได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถลืมพ้นกำพืดกู-มึง + ถึงจะยืมคำคมเก๋ๆ ปลุกใจมาใช้ แต่ก็ไม่ได้ฉลาดในชีวิตจริงมากพอ ที่จะพาตัวเองพ้นวงการเด่นดัง ด้วยรอยสัก ไลฟ์โชว์ ภาษาพ่อขุน ยาเสพติด การมั่วเพศ โชว์ความเหนือด้วยความใจกล้า

http://www.tnews.co.th/contents/324506

คําอธิบายนี้ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะถ้าหากเราต้องเลี้ยงเด็กสักคนหนึ่ง หรือพูดให้ง่ายที่สุด ไม่มีพ่อแม่คนไหนเลี้ยงลูกแล้วไม่อยากให้ลูกได้ดี ไม่อยากให้ลูกเป็นคนดี พ่อแม่ทุกคนคงอยากเห็นลูกเติบโตมาเป็นคนที่รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันบริโภคนิยม รู้เท่าทันการโฆษณาชวนเชื่อ ตระหนักในคุณค่าของตนเอง ประกอบอาชีพสุจริต แต่งงาน มีลูก มีครอบครัวที่อบอุ่น

มันคงเป็นความฝัน เป็นสุดยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน

แล้วถ้าเราจะสรุปว่า “พ่อแม่เป็นชนชั้นทำมาหากิน สอนลูกไม่เป็น ไม่ยอมสอนลูก” สมมุติว่า สมมุติฐานนี้เป็นความจริง คำถามคือ เราจะทำอย่างไร?

ก. ห้ามคนชนชั้นทำมาหากินมีลูก เพราะคนพวกนี้ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกให้ดี?

ข. ทำอย่างไรจะให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะชนชั้นไหนสามารถมีและเข้าถึงวิธีการเลี้ยงลูก การสร้างเด็กที่มีคุณภาพ ซึ่งหากเราเจาะดูในรายละเอียดแล้ว การเลี้ยงลูกให้ได้ “ดี” ต้องการทั้งแรงงาน ทรัพยากร และความรู้

ข้อมูลจากบทความ Chosse Your parents wisely (เลือกพ่อแม่อย่างฉลาด) ของ ดิ อิโคโนมิสต์ สำรวจการเลี้ยงลูกของชนชั้นกลาง ที่มีรายได้ปีละ 142,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันโดยทั่วไปประมาณสามเท่า

กิจวัตรประจำวันของลูกๆ ของพวกเขา เช่น ชานา อายุ 12 ปี เธอเรียนบัลเล่ต์อาทิตย์ละ 4 ครั้ง เรียนภาษาฮีบรู คืนวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์ ตั้งแต่เด็กๆ แม่เปิดวิดีโอเบบี้ ไอน์สไตน์ให้ดูตลอด และอ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน อีกทั้งคัดสรรหนังสือมาให้เธออ่านอย่างสม่ำเสมอ

84% ของพ่อแม่เหล่านี้จบปริญญาตรีหรือสูงกว่า ขณะที่ค่าเฉลี่ยคนจบปริญญาตรีของทั้งประเทศแค่ 32%

95% ของพ่อแม่เหล่านี้จริงจังกับการอ่าน การศึกษาคู่มือการเลี้ยงลูก และทำตามคู่มือเหล่านั้น เด็กๆ ของครอบครัวเหล่านี้ วางเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่เด็กว่าจะเข้ามหาวิทยาลัย มีภาพจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตที่ค่อนข้างชัดเจน มีความรู้รอบตัวกว้างขวาง มีทักษะทางสังคมเพราะได้รับการฝึกฝนมาดี มีความสามารถพิเศษหลายอย่าง มีอีคิวดี แนวโน้มคือ มีโอกาสสูงมากที่พวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ และกลายเป็นคนมีรายได้สูงในเจเนอเรชั่นต่อไปอีก

เปรียบเทียบกับอีกครอบครัวหนึ่ง

เมลิซซ่า เธอรู้ว่า ลูกชายโกหกทุกวันว่าไม่มีการบ้าน แล้วเอาแต่ออกไปเล่นกับเพื่อน แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เธอมีลูก 3 คน สามีทิ้ง ลูกคนหนึ่งป่วยจากภาวะทุพโภชนาการ และมีรายได้จากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดือนละ 420 เหรียญ

ปี 1995 มหาวิทยาลัยแคนซัส ทำการสำรวจวิจัย การได้ยิน “คำศัพท์” ของเด็ก พบว่าในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นชั้นกลางคอปกขาว เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ประมาณ 2,100 คำต่อชั่วโมง ส่วนเด็กชนชั้นแรงงาน ได้ยินคำศัพท์แค่ 1,200 คำ ส่วนครอบครัวที่พึ่งพาสวัสดิการรัฐ ได้ยินคำศัพท์แค่ชั่วโมงละ 600 คำ

ครอบครัวที่พ่อแม่มีรายได้ดี มีเวลาคุยกับลูกมากกว่าครอบครัวชนชั้นแรงงานถึงวันละ 3 ช.ม. http://www.economist.com/news/united-states/21608779-there-large-class-divide-how-americans-raise-their-children-rich-parents-can

เมื่ออ่านแล้วเราจะเห็นว่าสภาพของครอบครัวในสังคมไทยก็ไม่ต่างกัน พ่อแม่ที่ฐานะดี มีการศึกษาสูง ย่อมมีความสามารถในการสร้างเด็ก เตรียมอนาคตของลูกได้ดีกว่า

แต่คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

เราจะจับคนจนทำหมัน หรือแทนการมาด่าพ่อแม่คนจนว่าไม่มีปญญาเลี้ยงลูก เราควรต้องกดดันรัฐว่า ทำอย่างไรจะช่วยเหลือพ่อแม่ที่อยู่ “ข้างล่าง” ให้เขามีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพกว่านั้น ตั้งแต่สถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ห้องสมุด สนามเด็กเล่น มิวเซียม กิจกรรม งานอดิเรก ฯลฯ ที่จะเป็นตัวช่วยสำหรับพ่อแม่ที่ตัวเขาเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอด

ทำได้เช่นนี้ เราก็จะมีคนแบบเปรี้ยวน้อยลง เว้นแต่คนที่เขาเลือกและยืนยันที่จะเป็นเช่นนี้

ผลพวงที่น่าเศร้าอีกอย่างของงานเขียนสั่งสอน แบบนี้คือมันทิ้งวิธีคิดเรื่องชนชั้นวรรณะไว้กับเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ว่า ถ้าเราเกิดมาในครอบครัวคนจน ก็ควรเจียมตัว อย่าไปทำตัว “ไฮโซ” ลืมกำพืด เกิดมาตัวดำก็อย่าไปอยากขาว เกิดมาไม่มีดั้งก็อย่าไปอยากจมูกโด่ง เพราะถ้าอยากนู่นอยากนี่แล้วมันจะทำให้เราง่ายที่จะไปทำอะไรชั่วๆ เพียงเพื่อให้ได้เงินมาเป็นไฮโซ

สิ่งที่เราควรคิด คือทำอย่างไรจะให้คนพ้นจาก “กำพืด” หลุดจากความยากจน ด้วยเครื่องมือแห่งการศึกษา การเข้าถึงอาชีพการงานที่มีศักดิ์ศรี และสามารถเป็นไฮโซได้โดยทั่วถึงกัน