วิรัตน์ แสงทองคำ/ยักษ์ใหญ่เบียร์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ยักษ์ใหญ่เบียร์

 

อีกฉากตอน เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ท้าทาย

เกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย อาณาจักรธุรกิจทีซีซี เคียงคู่กับภาพ “เจ้าแห่งการซื้อกิจการ” ที่เป็นมา ก็คือเครือข่ายใหญ่ที่มีบริษัทในตลาดหุ้น

เรื่องราวแผนการนำธุรกิจเบียร์จะเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (อ้างจากเอกสาร หัวข้อ Potential Spin-Off and Listing of BeerCo Limited, a subsidiary of ThaiBev ยื่นต่อ Singapore Exchange Securities Trading Limited เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564) ภาพจึงถูกขยายให้เป็นเช่นนั้น

อย่างที่ว่าในตอนที่แล้วให้ดูตื่นเต้น “…BeerCo ได้ขอเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์โดยกำหนดสัดส่วนของ IPO อยู่ที่ 20% ทั้งนี้ Bloomberg เครือข่ายข่าวตลาดทุนระดับโลกคาดว่ามูลค่าในการระดมทุนครั้งนี้จะสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 60,000 ล้านบาท อาจเป็นหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของสิงคโปร์เลยทีเดียว”

สิ่งที่น่าสนใจ (จากเอกสารข้างต้น) ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติม BeerCo ก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์ ในฐานะ investment holding company ทั้งนี้ เกี่ยวข้องกับ “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ มีการปรับโครงสร้างภายในเกี่ยวกับธุรกิจเบียร์ โดยดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2563” (An internal restructuring exercise within the ThaiBev Group was undertaken and completed in 2020 to substantially streamline and consolidate the ThaiBev Group’s beer business and operations under BeerCo)

ทั้งนี้ BeerCo Group ดูแลธุรกิจเบียร์แบรนด์สำคัญ ทั้งในประเทศไทยได้แก่ ช้าง (Chang) อาชา (Archa) และ Federbr?u และในประเทศเวียดนาม ที่มีแบรนด์ Bia Saigon และ 333

 

ว่าด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจ เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งไทยเบฟ (ปี 2546) จากนั้นเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์หรือ SGX (ปี 2549) “ภายหลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตธุรกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร…” คำอธิบายสำคัญของไทยเบฟในตอนนั้น จนกระทั่งมีดีลสำคัญ เข้าซื้อกิจการ Fraser and Neave ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแห่งสิงคโปร์ (ปี 2555)

อันที่จริงไทยเบฟได้พยายามเดินแผนการดังกล่าวอย่างจริงจังในกรุงเทพฯ มาก่อนหน้านั้นแล้ว มีทั้งกรณีเข้าซื้อกิจการโออิชิกรุ๊ป (ปี 2548) และเสริมสุข (ปี 2554)

ผ่านไปราวๆ 5 ปี โครงสร้างธุรกิจสำคัญของไทยเบฟยังคงอยู่ที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยสุรายังครองสัดส่วนมากที่สุดมากกว่าครึ่ง ขณะที่เบียร์มีส่วนแบ่งประมาณหนึ่งในสาม ขณะนั้นคาดกันว่าธุรกิจเบียร์มีแนวโน้มค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้นอีก

จึงมีจุดเปลี่ยนมาถึงอีกครั้ง เมื่อไทยเบฟเข้าควบคุมกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามเมื่อปลายปี 2560

 

ภาพกว้างทางธุรกิจ Sabeco เจ้าของเบียร์แบรนด์สำคัญ-Saigon Beer หรือ Bia Saigon และ 333 เป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดเบียร์มากที่สุดในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ “เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี” และ “ตลาดเบียร์เวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและญี่ปุ่น” อย่างที่ว่ากัน

ล่าสุดไทยเบฟนำเสนอรายงานสถานการณ์เบียร์ในอาเซียนปี 2563 ไว้ (THAI BEVERAGE PLC1Q21 FINANCIAL RESULTS-First Quarter ended 31 December 2020) อย่างน่าสนใจ อย่างสอดคล้องกัน

ในแง่แบรนด์ Tiger แห่งสิงคโปร์ เป็นผู้นำครองส่วนแบ่งตลาด (พิจารณาจากปริมาณการผลิต-ขาย) เป็นอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วน 13.4%

ส่วนแบรนด์สำคัญในเครือข่ายไทยเบฟ อย่าง Bia Saigon และช้าง มาเป็นอันดับ 3 และ 5 มีสัดส่วน 10.3% และ 7.3% ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาในแง่บริษัท BeerCo บริษัทก่อตั้งขึ้นใหม่โดยไทยเบฟ จะกลายเป็นผู้นำธุรกิจเบียร์ในอาเซียนในทันที ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่มากที่สุดมีสัดส่วน 23.4%

ว่าไปแล้วถือว่าทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญไม่มาก โดยเฉพาะอันดับสอง-Heineken แห่งเนเธอร์แลนด์ เข้าตลาดอาเซียนมาถึง 90 ปีเต็ม ที่สำคัญเข้ามาขยายตลาดภายใต้ความร่วมมือกับ Fraser and Neave เสียด้วย

มิติสำคัญ กรณีไทยเบฟกับกิจการเบียร์เวียดนาม ถือเป็นการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจครั้งใหญ่ ในแผนการโฟกัสธุรกิจหลักธุรกิจเบียร์ ภาพนั้นปรากฏขึ้นในเวลาต่อมา รายได้ไทยเบฟในปี 2020 ธุรกิจเบียร์มีสัดส่วน 42% เป็นรองธุรกิจสุราไม่มากที่มีสัดส่วน 46%

 

ที่สำคัญ ในรายงานข้างต้น (THAI BEVERAGE PLC1Q21 FINANCIAL RESULTS) ให้ภาพการปรับโครงสร้างธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟชัดเจนขึ้น

ตามแผนการเชิงผสมผสาน ผนึกแผนการผ่านทีมบริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอาเซียน และเป็นผู้มีบทบาทร่วมในธุรกิจในเครือข่ายไทยเบฟ โดยเฉพาะที่สิงคโปร์และเวียดนาม และผ่านระบบการจัดการต่างๆ ที่อ้างไว้ ไม่ว่าผนึกร่วมกันระหว่างไทยเบฟและ BeerCo ว่าด้วยแผนการและระบบจัดซื้อร่วมกัน (Joint procurement) ผนึกเครือข่ายธุรกิจและจัดจำหน่าย (distribution synergies) ไปจนถึงพันธมิตรธุรกิจ (Strategic alliance)

หากให้วิเคราะห์แผนการดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าจะให้น้ำหนักจะนำประสบการณ์และบทเรียนธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยไปปรับใช้ในประเทศเวียดนาม

ในเชิงธุรกิจ แม้ว่าแบรนด์เบียร์เวียดนามจะมีความแข็งแกร่งกว่าเบียร์ไทย ในกรณีพิจารณาเปรียบเทียบ ระหว่าง Bia Saigon กับเบียร์ช้าง หากมองในภาพใหญ่ ธุรกิจเบียร์ในไทยปัจจุบันเป็นไปดีกว่าที่เวียดนาม ไม่ว่าผลประกอบการว่าด้วยยอดขายและกำไร ระบบโรงงานทันสมัย รวมศูนย์ และเครือข่ายธุรกิจและการตลาดอย่างครอบคลุม ที่สำคัญในเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตครั้งใหญ่อีกราวๆ 2.5 ล้านลิตร ตั้งโรงงานในทำเลที่ครอบคลุมมากขึ้น แต่ยังโฟกัสอยู่ในเวียดนามตอนใต้ ทั้งใน Quang Ngai Lam Dong และ Cu Chi ด้วยเงินลงทุน 64.4 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราวๆ 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

ในภาพที่ใหญ่กว่านั้น เบียร์กับบริบททางสังคมมีบางสิ่งบางอย่างคล้ายๆ กัน กรณีไทยกับเวียดนาม เชื่อว่ามีประสบการณ์และบทเรียนเชื่อมต่อกันได้บ้าง

เบียร์ทั้งสองประเทศเป็นสินค้าที่มีพลังอย่างเหลือเชื่อ เชื่อมโยงกับตำนานและเรื่องราวสะท้อนประวัติศาสตร์และยุคสมัย

กรณีเบียร์เวียดนามสะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสำคัญแยกประเทศ-เหนือ-ใต้ ส่วนเบียร์ไทยมีเรื่องราวเสริมแต่งคล้ายๆ เวียดนาม ด้วยมีเบียร์ 2 แบรนด์อยู่ด้วยกัน ด้วยตำนานแตกต่างกัน เป็นเรื่องราวการเปลี่ยนผ่าน จากยุคเก่าผูกขาด (เบียร์สิงห์กับตำนานเกือบ 9 ทศวรรษ) สู่ยุคใหม่ผู้ท้าทาย (เบียร์ช้าง เพิ่งเกิดกว่า 2 ทศวรรษ)

 

ธุรกิจเบียร์ในภูมิภาคมักเป็นเรื่องราวการ “บุกเบิก” “ผูกขาด” บางกรณีเป็น “ผู้ผลิตน้อยราย” หรือกิจการภายใต้การดูแลโดยรัฐ ไม่ได้อยู่ภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างเต็มที่ เมื่อบวกกับช่วงเวลาอยู่ในตลาด มีเวลามากพอ จึงสร้างฐานผู้บริโภคภายในประเทศ แม้ระยะหลังๆ ได้เปิดกว้างขึ้น ให้เบียร์แบรนด์ระดับโลกเข้ามาแชร์ กรณีไทยและเวียดนามดูจะไม่สามารถเข้าแย่งชิงตลาดอันมั่นคงได้

กรณีสังคมไทย มีบทเรียนเข้มข้น ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจในช่วงกว่า 2 ทศวรรษ ทั้งค่าย “เบียร์สิงห์” และค่าย “เบียร์ช้าง” สามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้น และสามารถยึดครองอย่างมั่นคง ตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดที่อ้างก็ว่า ผู้ผลิตเบียร์ทั้งสองสามารถยึดครองส่วนแบ่งมากกว่า 90% ของมูลค่าตลาดเบียร์ ทั้งสองค่ายต่อสู้กัน มีบางช่วงเบียร์ช้างก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ แต่ทว่าทุกวันนี้เบียร์ช้างตกมาอยู่อันดับสอง

ด้วยทีมบริหาร BeerCo บางคนมีประสบการณ์เชี่ยวกรำกับ Heineken ในอาเซียนมาด้วย คงไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยทำให้ BeerCo ตกมาเป็นอันดับสองในอาเซียน

เรื่องฉากตอนใหม่ในภูมิภาค จึงเข้มข้น