คุยกับ “วิชิต ซ้ายเกล้า” คราฟต์เบียร์-กฎหมาย-ความเชื่อ-การเอาตัวรอด

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 หลายธุรกิจกำลังประสบปัญหาหนัก ต้องปรับตัวและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด

หนึ่งในธุรกิจที่มีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมากและกำลังได้รับผลกระทบ คือกลุ่มธุรกิจสถานบันเทิงประเภทผับและบาร์ทั้งหลาย

ตามมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานบันเทิงให้ปิดบริการชั่วคราว เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

เมื่อมีมาตรการเช่นนี้ สิ่งที่หลีกหนีไม่ได้เลยคือภาพสถานประกอบการเริ่มทยอยปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายรายวันซึ่งยังคงเกิดขึ้นโดยต่อเนื่องได้

ผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่ก็ได้แก่ ภาวะตกงานของเหล่าพนักงานและผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสถานบันเทิงต่างๆ

เพจเฟซบุ๊ก FEED ในเครือมติชน เพิ่งพูดคุยกับ “ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า” ผู้คร่ำหวอดแห่ง “วงการคราฟต์เบียร์ไทย” และเจ้าของร้าน “Chit Beer”

ว่าด้วยการประคับประคองธุรกิจในสถานการณ์โควิด รวมถึงการต่อสู้กับค่านิยมที่ต่อต้านของมึนเมาและกฎหมายที่ไม่เอื้อโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยๆ

สิ่งแรกที่ ดร.วิชิตเอ่ยออกมาคือ ตนเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมสถานประกอบการต่างๆ เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เพราะผู้ประกอบการเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม

“ปีที่แล้ว เราก็เจอมาแล้ว วันนี้เราก็เจออีก เหมือนภาพเดิมๆ ยอดมันก็หายไปประมาณสัก 70% อยู่แล้ว แต่อีก 25-30% ที่มันเหลืออยู่เนี่ย มันเพียงพอที่จะให้คุณอยู่รอดไหม? จะเพิ่มยอดมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ไปงัดมุขไหนมาก็ยาก ก็ต้องหาทุกวิถีทางเพื่ออยู่ให้รอด มันก็ต้องลดค่าใช้จ่าย” เจ้าของร้าน Chit Beer บอกเล่า

โจทย์การปรับตัวข้อแรกๆ ของ ดร.วิชิตคือการพยายามหันมาให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่ว่า ในเมื่อคนมานั่งกินที่ร้านไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีเสิร์ฟอื่นๆ เพื่อมอบความสุขแก่ผู้บริโภค

รวมทั้งคิดเรื่องบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองผู้ที่ต้องการซื้อสินค้ากลับไปดื่มที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนั้นถือว่าผิดต่อข้อกฎหมายของไทย ซึ่งระบุว่า ห้ามผู้ใดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และดำเนินการลักษณะเชิญชวนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)

หากมีการละเมิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายข้อนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยมีเจตนารมณ์หลักคือ ป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายๆ

“เรื่องแอลกอฮอล์ เป็นเบียร์ เป็นเหล้า เป็นไวน์ เป็นมี้ด (mead-ไวน์น้ำผึ้ง) เป็นสารพัดแอลกอฮอล์ พี่ว่าโคตรจะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมของมวลมนุษยชาติ

“เราบอกว่าสุนทรียะ แต่คนอีกฝั่งเขามองว่าบาป มอมเมา ความจริงมันก็เหมือนเหตุผลกล่าวอ้างเพื่อให้ตัวเองสำคัญหรือเปล่า? ต้องถามกลับไปว่า จริงๆ แล้วมนุษย์คนหนึ่งมันมีสิทธิแค่ไหน? ในการมีความสุขกับการเสพสุนทรียะ ซึ่งพี่ชิตว่าเรามีสิทธิ 100%

“เพราะฉะนั้น พี่ชิตก็บอกว่าพี่ชิตเชื่อเหมือนกันเลย เราต้องไม่ให้เยาวชนเข้าถึงสิ่งนี้ได้จนกว่าเขาจะมีอายุถึง แต่ถ้าผู้ใหญ่สมยอม พี่ชิตไม่ได้สนใจ ทำไมเราจะมาแลกเปลี่ยนโดยใช้เครื่องมือของศตวรรษที่ 21 ไม่ได้ ผู้ใหญ่นะเว้ย ไม่ใช่เด็ก ไม่เชื่อ (กฎหมาย) ทำไง? ก็ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”

ดร.วิชิตผู้เคยถูกจับ-ปรับ-ดำเนินคดีมาไม่น้อย อธิบายถึงจุดยืนในการเผชิญหน้ากับปัญหาของตนเอง

ที่ผ่านมา แม้ไม่ใช่ช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยอยู่แล้ว

แต่เมื่อกฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ก็ยิ่งส่งผลกระทบและซ้ำเติมผู้ประกอบการเด่นชัดขึ้น โดยมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ไทยอาจได้รับความเสียหายตีเป็นมูลค่าราว 150 ล้านบาทต่อเดือน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 สมาคมคราฟต์เบียร์แห่งประเทศไทยจึงเดินทางไปยื่นหนังสือกับผู้แทนรัฐบาล เพื่อขอให้ภาครัฐช่วยผ่อนปรนมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์

ข้อเสนอที่สมาคมคราฟต์เบียร์ ประเทศไทยยื่นขอผ่อนปรน มีรายละเอียดแบ่งเป็น 3 ข้อ ได้แก่

1. ให้สามารถขายเบียร์ออนไลน์ได้ในช่วงเวลาวิกฤตนี้ โดยผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้เป็นไปตามกฎหมาย

2. ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายเบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้

3. ผ่อนผันให้สามารถโพสต์รูปหรืออธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงมาตรการผ่อนผันทางภาษีอื่นๆ

ในมุมมองเจ้าของร้าน Chit Beer เขาเห็นว่าการยื่นขอผ่อนปรนดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ประกอบการพยายามทำให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ในเมื่อเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องพื้นฐานและเป็นสิทธิของเรา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปร้องขอใคร แค่ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แล้วกฎกติกาค่อยว่ากันอีกที

“พี่ชิตไม่ค่อยมีความหวังกับการที่จะต้องไปขออะไรให้มันเยอะแยะมากมาย ทำไมฉันต้องขอด้วย เราควรจะคิดว่านี่คือสิทธิของเราในการทำ ของจริงอ่ะมันอยู่ที่นี่ แล้วกฎกติกาก็ค่อยว่ากัน ค่อยมาเถียงกัน

“เพราะว่าพูดยังไง มันก็คนละตรรกะกัน มันต้องเปลี่ยนชุดความคิด โควิดถามว่ากระทบไหม? ก็กระทบ ก็เข้าใจอยู่ แต่คนมันต้องกินต้องใช้ คนมันต้องเดินต่อ เพราะว่าไม่มีใครมาช่วยเราหรอก”

ดร.วิชิตกล่าว

แม้ยอมรับว่าธุรกิจสถานบันเทิงมีแนวโน้มจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจแขนงนี้ก็มักถูกมองหรือวาดภาพเป็นผู้ร้ายอย่างเกินจริงอยู่เสมอ โดยเฉพาะจากสายตาของกลุ่มคนที่ไม่ชอบสิ่งมอมเมา

“เราก็ลองมองไปข้างๆ เกือบทุกเรื่อง โคตรตอแหล ประเทศนี้โคตรศรีธนญชัย แล้วเราจะอยู่กับ fake news (ข่าวปลอมๆ) เราจะอยู่กับ fake education (การศึกษาปลอมๆ) เราจะอยู่กับ fake story (เรื่องราวปลอมๆ) เราจะอยู่กับ fake ทุกๆ fake เลยเหรอ?

“เราไม่คิดจะ stand up, stand for ยืนหยัดเพื่ออะไรสักอย่างที่มันเป็นความจริงบ้างเลยเหรอ?” ดร.วิชิตระบายความในใจ ก่อนยื่นข้อเสนอที่ท้าทายผู้มีอำนาจว่า

“ถ้าเมื่อไหร่บอกว่าเราต้องการความร่วมมือ แอลกอฮอล์ไม่สามารถจะเข้าถึงได้ทุกที่ รวมถึงร้านสะดวกซื้อด้วย พี่ชิต (จะ) ปิดบาร์ แต่ถ้าเกิดว่ายังซื้อในมอลล์ (ห้างสรรพสินค้า) ได้ ยังซื้อในร้านสะดวกซื้อได้อย่างนี้ ทำไมเรา (ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์) จะขาย (สินค้าออนไลน์) ไม่ได้”

ก่อนอำลากัน “ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า” ฝากทิ้งท้ายว่า “คาดหวังว่ามัน (วิกฤตโควิด) คงไม่นาน เพราะถ้านาน มันก็คงตายไปอีกเยอะ แต่ด้วยคอนเซ็ปต์พี่ชิต ยังไงก็อยากจะเป็น Last Man Standing (ผู้ยืนหยัดรายสุดท้าย) อยู่ดี”