เปิดแนวคิดฟื้นฟู เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์หลังโควิด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์หลังโควิด

 

ภาพเมืองร้างกลางพัทยาที่ถูกแชร์ไปในโลกโซเชียลเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนภายใต้สถานการณ์โควิดระลอกล่าสุดสร้างความตกใจปนเศร้าให้กับหลายคน

เมืองท่องเที่ยวที่ไม่เคยหลับใหล แสงไฟที่แทบไม่เคยดับ กลับกลายเป็นเมืองเปลี่ยวสุดเงียบเหงาราวกับฉากหนังสยองขวัญ

ผมเองเปิดดูภาพเหล่านี้โดยที่ใจกลับนึกถึงย่านเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์

แม้ทั้งสองเมืองจะแตกต่างกันมาก

พัทยามีทะเลและสถานบันเทิงเป็นจุดเด่น

ในขณะที่กรุงรัตนโกสินทร์มีสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์เป็นเอกลักษณ์

แต่สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันมากของทั้งสองเมืองคือการพัฒนาที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ภายใต้นโยบายที่เน้นการอนุรักษ์มรดกประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าของกรุงรัตนโกสินทร์ มีความจริงอีกด้านที่มักไม่ถูกพูดถึงคือการพัฒนาย่านนี้ให้เป็นเสมือนพื้นที่จัดแสดงสินค้าทางวัฒนธรรมกลางแจ้งของประเทศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก

หลายคนอาจสงสัย แล้วมันเสียหายตรงไหนที่จะพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว

การพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยตัวของมันเอง แต่การพัฒนาที่ทำๆ กันอยู่มีสิ่งมีค่าหลายอย่างที่ต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย และหากเรายังไม่ตระหนักถึงก็อาจจะสายเกินไป

ก่อนปี 2525 (ก่อนฉลองกรุง 200 ปี) กรุงรัตนโกสินทร์นอกจากจะเป็นศูนย์กลางมรดกวัฒนธรรมของชาติแล้ว ยังเป็นย่านที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คน

สนามหลวงและพื้นที่โดยรอบคือย่านสถานที่ราชการและสถานศึกษา ท่าพระจันทร์คือตลาดสินค้า, ถนนราชดำเนินกลางคือย่านสำนักงานและโรงภาพยนตร์, บางลำพูเป็นย่านทันสมัย เป็นแหล่งเสื้อผ้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร, ย่านสามแพร่งคือแหล่งร้านอาหารเลิศรสนานาชนิด, ปากคลองตลาดคือตลาดสดและตลาดดอกไม้

และพื้นที่ทั้งหมดแทรกไปด้วยร้านค้าและที่พักอาศัยหลากหลายประเภทของผู้คนหลายสถานะ

ด้วยความคึกคักและหลากหลายซึ่งควรถูกมองเป็นเสน่ห์ ภาครัฐกลับมองเห็นว่าคือความเสื่อมโทรม นำมาสู่การก่อตั้ง “คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” (ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า) จนมาสู่การถือกำเนิดขึ้นของแนวคิดว่าด้วย “เมืองเก่า” ขึ้นเป็นครั้งแรก

แนวคิดหลักคือ การมองเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ว่าแออัดและเสื่อมโทรมเกินไป

แนวทางแก้ไขคือ ลดความแออัดลงด้วยการย้ายสถานที่ราชการออกไป, ทำสวนสาธารณะ, บูรณะและปรับภูมิทัศน์ของวัดและวังให้สวยงามขึ้น เป็นต้น

แม้แนวคิดเริ่มต้นจะดี แต่น่าเสียดายว่าไอเดียทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานการแช่แข็งเมืองเก่าเอาไว้มากกว่าการมองว่าเมืองเก่ามีพลวัตและชีวิต

ที่สำคัญคือ รูปธรรมของนโยบายที่ปรากฏต่อมากลับมุ่งไปที่การรักษาอิฐหินปูนทรายให้สวยงามเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่าการพัฒนาเพื่อผู้คนที่หลากหลาย

ยิ่งในช่วง 10 ปีหลังมานี้ การละทิ้งความหลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจและผู้คนยิ่งปรากฏชัดขึ้น

หน่วยราชการย้ายออกจากพื้นที่อย่างน่าตกใจ

สนามหลวงปิดรั้วล้อมไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สอยแต่ปรับพื้นหญ้าให้เป็นลานจอดรถทัวร์นักท่องเที่ยว

อาคารสองข้างทางถนนราชดำเนินกลางปิดปรับปรุง ฯลฯ

ความคึกคักมีเฉพาะช่วงกลางวันจากรถทัวร์ที่ขนนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ พอตกเย็นเมืองก็แทบจะร้าง

การย้ายออกของสถานที่ราชการส่งผลกระทบวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง ข้าราชการที่เคยกินใช้ในพื้นที่แทบไม่เหลือ

ร้านค้าที่มีกลุ่มคนเหล่านี้เป็นลูกค้าเริ่มขายไม่ได้และต้องปิดตัวลง

ร้านอาหารขนาดเล็กและหาบเร่แผงลอยไม่สามารถอยู่ได้

เศรษฐกิจระดับรากหญ้าพังทลาย

 

แม้ระยะหลัง แนวคิดว่าด้วยการฟื้นฟูเมือง (urban rehabilitation) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) จะเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการหนุนเสริมมิติของการท่องเที่ยวให้เด่นชัดขึ้น

ตัวอย่างชัดเจนคือ กรมธนารักษ์ประกาศนโยบายเมื่อปี 2562 ที่จะเปิดประมูลอาคารเก่าที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่เมืองเก่าให้เอกชนมาเช่าทำร้านกาแฟ บูทีกโฮเทล หรือสถานที่ถ่ายภาพยนตร์

พิพิธภัณฑ์ในย่านเมืองเก่าที่ฮิตทำกันมากก็เน้นเพื่อรับนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปตึกเก่ามากกว่าการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน แน่นอน ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นแบบนี้ มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนบางแห่งที่เกิดขึ้นบนฐานการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจริง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย

ในทัศนะผม ภายใต้ฉากหน้าที่คึกคักด้วยนักท่องเที่ยว แท้จริงได้ปิดซ่อนการสูญหายไปของผู้คนกลุ่มอื่นๆ เป็นจำนวนมหาศาล

เมืองเก่ากรุงที่เคยหลากหลายกลายสภาพเป็นเมืองเก่าที่พัฒนาเชิงเดี่ยว วางอนาคตของตัวเองไว้บนการพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

 

ก่อนการระบาดของโควิด มีนักวิชาการมากมายพูดในสิ่งเดียวกับที่ผมเขียนอยู่นี้ แต่น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น แต่โควิดทำให้คำพูดของนักวิชาการปรากฏแก่สายตา ตอนนี้ลองมาเดินเมืองเก่าดูนะครับ ตรอกข้าวสารเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ช่างเงียบและไร้ชีวิต เมื่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวตาย เมืองก็ตาย เพราะเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นถูกทำให้ตายไปนานแล้วก่อนหน้านี้

สิ่งนี้เองที่ทำให้เมื่อมองภาพเมืองร้างพัทยาแล้วทำให้ผมนึกถึงเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ยังโชคดีอยู่บ้างที่เมืองเก่าแห่งนี้ยังไม่ร้างไร้ผู้คนในระดับพัทยา

หน่วยราชการยังพอเหลืออยู่ สถาบันการศึกษายังมีอยู่ในพื้นที่ ย่านการค้าซบเซาแต่ยังไม่ถึงตาย ผู้คนยังคงอยู่แม้จะน้อยลงไปมาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่เราจะมาทบทวนแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่นี้ใหม่อย่างจริงจัง

ผมคิดว่าเราต้องยกเลิกการพัฒนาเมืองแบบเชิงเดี่ยวและเปลี่ยนมาสู่การพัฒนาแบบผสมผสาน (mixed used development) รูปธรรมในเชิงนโยบายผมคิดว่ามีที่สำคัญๆ

ดังนี้

 

ยกเลิกการย้ายสถานที่ราชการออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด และควรสนับสนุนให้มีการย้ายกลับในบางหน่วยงานด้วย เพื่อเป็นการตั้งต้นวงจรของระบบเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าให้กลับมาใหม่อีกครั้ง

การย้ายกลับของหน่วยราชการอาจสร้างความกังวลเรื่องความแออัดและปัญหาจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโควิดคลี่คลายและการท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้ง ประเด็นนี้ควรแก้ไขด้วยการจำกัดปริมาณรถที่จะเข้ามาในพื้นที่ ลดพื้นที่จอดรถและเน้นไปที่ระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น

ผมคิดว่าการท่องเที่ยวยุคหลังโควิดของไทยต้องเลิกเอาใจนักท่องเที่ยวมากจนเกินพอดีเสียที

สนามหลวงไม่ควรใช้เป็นพื้นที่จอดรถทัวร์อีกต่อไป แต่ควรใช้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทำกิจกรรมที่หลากหลายแทน

อาคารพาณิชย์เก่าทั้งหลายควรยกเลิกนโยบายสนับสนุนการให้เช่าเพื่อไปทำบูทีกโฮเทลและร้านกาแฟได้แล้ว

ปริมาณร้านกาแฟและโรงแรมในพื้นที่ตอนนี้มีมากพอจนเหลือเฟือ

ควรหันมาสนับสนุนการเข้ามาทำเป็นพื้นที่สำนักงานในรูปแบบต่างๆ และที่พักอาศัยสำหรับคนที่จะมาอยู่อาศัยจริงแทน

ควรกำหนดโซนนิ่งที่พักอาศัยราคาถูกกระจายตัวลงไปในพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเช่าอาศัยในพื้นที่เมืองเก่าได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในพื้นที่อีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่หากจะมีเพิ่มเป็นเรื่องดีแต่ต้องคำนึงถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริง ตลอดจนการใช้สอยของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ควรเน้นเป้าหมายไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป

ยกเลิกการรื้อไล่ชุมชนตลอดจนอาคารเก่า (ที่ไม่มีคุณค่าตามเกณฑ์ของกรมศิลปากร) เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะเสียที

ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ดังกล่าวมีมากพอแล้ว สิ่งที่ควรทำคือการจัดการพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก

สวนดอกไม้แบบผักชีโรยหน้าตลอดจนกิจกรรมที่ไร้ความยั่งยืน เช่น สวนดอกไม้ป้อมมหากาฬ และพายเรือคายัควนไปมาเล่นๆ ในคลองโอ่งอ่างบางลำพูเพื่อถ่ายรูปลงโซเชียล ควรยกเลิกทำกันเสียที เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ คงต้องมีการระดมความเห็นอย่างกว้างขวางอีกมากหากต้องการทำจริง

การระบาดของโควิดครั้งนี้ได้ช่วยส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนมากๆ ต่อการพัฒนาพื้นที่เมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์ เมืองที่ตายและไร้ชีวิตจากการพึ่งพาเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นอย่างไร โควิดได้เผยมันให้เห็นต่อหน้าต่อตาเราแล้ว

ซึ่งผมได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะมองเห็นปัญหานี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป