2503 สงครามลับ สงครามลาว / เคนเนดี้ : “ลา-เอาส์” / บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (17)

 

เคนเนดี้ : “ลา-เอาส์”

แท้ที่จริงแล้วแผนที่แผ่นที่ 3 นั้นเป็นการแสดงข้อมูลที่ไม่ตรงความจริงโดยเจตนา เพราะหากจะให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว แผนที่ควรแสดงรูปวงกลมหลายวงทับซ้อนกันอยู่โดยวงสีแดงทาบทับตัวทุ่งไหหิน ล้อมด้วยวงกลมสีน้ำเงินคล้ายโดนัทที่ถูกล้อมด้วยวงกลมสีแดงอีกชั้นหนึ่ง

ในวงกลมรูปโดนัทนั้น สีน้ำเงินก็คือบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังชาวม้งของวังเปา

ที่เป็นเช่นนี้เพราะความสำเร็จและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของปฏิบัติการชาวเขายังคงถือเป็นความลับเพื่อปกปิดความจริงในการเข้าแทรกแซงของสหรัฐอันเป็นการละเมิดความเป็นกลางของลาวตามข้อตกลงเจนีวา พ.ศ.2497

เคนเนดี้คิดว่าคนอเมริกันทั่วไปคงไม่เอาใจใส่อะไรนักกับประเทศเล็กๆ ที่ชื่อว่า “ลาว” นี้ ดังนั้น จึงได้ยินคำว่า “ลา-เอาส์” ตลอดการแถลงข่าว แทบไม่มีอเมริกันคนใดรู้สึกถึงความผิดเพี้ยนนี้

อันที่จริงคนอเมริกันแทบไม่เคยได้ยินชื่อประเทศนี้มาก่อนเลยในชีวิตด้วยซ้ำ

 

“เรื่องหลอกเด็ก” ของเคนเนดี้

“ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวอเมริกันทุกคนต้องเข้าใจอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหานี้” เคนเนดี้แถลง

“การพูดคุยครั้งหลังสุดของข้าพเจ้ากับท่านนายพลไอเซนฮาวก่อนวันรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 19 มกราคมที่ผ่านมานี้ ข้าพเจ้าและท่านนายพลได้ใช้เวลาถกกันในประเด็นปัญหานี้มากกว่าเรื่องอื่นๆ และจากนั้นมาปัญหาในลาวได้กลายเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนที่สุดของคณะทำงานของข้าพเจ้าเมื่อเข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ”

เคนเนดี้ไม่ได้เอ่ยถึงแรงกดดันจากกระทรวงกลาโหมที่ต้องการให้เขาส่งทหารราบอเมริกันเข้าไปในลาวหรือเรื่องความผิดหวังเบื่อหน่ายที่มีต่อกองกำลังฝ่ายขวาภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลภูมีที่มักหันหลังวิ่งหนีทุกครั้งที่มีการปะทะกับฝ่ายประเทศลาวหรือฝ่ายเป็นกลาง

แต่เคนเนดี้ก็ยังคงเดินหน้าสร้างเรื่อง “หลอกเด็ก” ว่าได้เผชิญหน้ากับทหารจีน หรือแม้แต่ทหารโซเวียตในเขตภูเขาของลาวต่อไป

นอกจากนี้ เคนเนดี้ก็ไม่ได้กล่าวถึงว่า ปัญหาในลาวได้เริ่มสร้างความกังวลให้แก่ตัวเขาและคณะที่ปรึกษาในทำเนียบขาวมากขึ้นทุกขณะ รวมทั้งความสังหรณ์ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเล็กๆ ที่ลึกลับแห่งนี้อาจก่อตัวเป็นปัญหายุ่งยากซับซ้อนให้สหรัฐต้องติดตามแก้ไขต่อไปอีกนานในอนาคตข้างหน้า

เคนเนดี้เลือกที่จะเปิดเผยเพียงสิ่งที่จำเป็นต่อสาธารณชนเท่านั้น

 

เปิดทางเจรจา

เคนเนดี้เตือนชาวอเมริกันให้เตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่อาจเกิดขึ้นในลาวหากจำเป็น ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณไปยังมอสโกในถ้อยแถลงครั้งนี้ว่า ยังคงมีช่องทางสำหรับการเจรจาต่อรองเปิดอยู่

“ประการแรก เรายังคงยืนหยัดในจุดยืนที่ต้องการให้ประเทศลาวมีเสรีภาพและเป็นกลาง ประการที่ 2 แนวทางการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีจะเป็นจริงขึ้นได้ การใช้กำลังทหารของกองกำลังต่างชาติที่สนับสนุนฝ่ายซ้ายในลาวจะต้องยุติลง ไม่มีข้อสงสัยกังขาใดๆในจุดยืนของเราในเรื่องดังกล่าวนี้ ประการที่ 3 เราสนับสนุนให้เกิดการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและระหว่างผู้นำของฝ่ายต่างๆ ในลาว”

เคนเนดี้ทิ้งท้ายว่า

“พี่น้องชาวอเมริกันทั้งหลาย ลาวนั้นตั้งอยู่ห่างไกลจากอเมริกาก็จริง ก็อย่างที่เรารู้ว่าโลกใบนี้เป็นโลกใบเล็ก มีคน 2 ล้านคนอาศัยอยู่ในลาว ประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่กว่าประเทศออสเตรีย 3 เท่าตัว ความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกคุกคามหากลาวสูญเสียเอกราชและความเป็นกลางไป ความอยู่รอดปลอดภัยและความเป็นกลางของลาวเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกต่อความมั่นคงของอเมริกา ข้าพเจ้าต้องการให้เกิดความกระจ่างชัดในใจชาวอเมริกันและต่อชาวโลกทั้งมวลว่า สิ่งเดียวที่เราต้องการก็คือสันติภาพในลาว หาใช่สงครามไม่”

“เราต้องการรัฐบาลที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง มิใช่รัฐบาลที่เป็นลูกสมุนต่างชาติหรือสัญญาข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาแต่ไม่มีผลใช้จริงในสมรภูมิการรบ”

 

ข้อจำกัดของอเมริกา

เคนเนดี้รู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งในการที่โซเวียตส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์แก่ลาวฝ่ายซ้ายบริเวณทุ่งไหหิน ขณะนั้นประมาณการว่าอาจเป็นจำนวนมากถึง 50 ตันต่อวัน เป็นการลำเลียงทางอากาศขนาดใหญ่ที่สุดของโซเวียตนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เคนเนดี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักเนื่องจากลาวไม่มีท่าเรือขนส่งขนาดใหญ่ เส้นทางรถไฟ หรือแม้แต่เส้นทางถนนที่ใช้ได้ตลอดปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ภูเขาห่างไกล เพนตากอนไม่มีศักยภาพในการส่งกำลังบำรุงทางอากาศเพียงพอ

นอกจากนั้น เพนตากอนยังรายงานให้เคนเนดี้ทราบว่า หากต้องการส่งทหารสัก 10,000 คนที่กองทัพบกอ้างว่าเป็นจำนวนที่จำเป็นหากต้องการให้ภารกิจลุล่วง จะส่งผลให้กองทัพอเมริกันขาดกำลังกองหนุนที่จำเป็นไว้ใช้ในส่วนอื่นๆ ของโลกที่อาจมีความขัดแย้งปะทุขึ้นได้

ในแอฟริกา คองโก-แหล่งแร่ทองแดงขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อเบลเยียมเจ้าอาณานิคมดั้งเดิมถอนตัวออกไป สหประชาชาติและใครต่อใครอีกหลายฝ่ายต่างพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปแทนที่

นอกจากนั้น ซีไอเอก็ยังวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เบอร์ลินซึ่งโซเวียตขู่ว่า จะทำการปิดตัวเมือง ซึ่งหากโซเวียตทำตามคำขู่นี้ อเมริกาก็จำเป็นต้องทุ่มศักยภาพในการลำเลียงทางอากาศไปที่นั่น เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ระหว่างปี พ.ศ.2491-2492

นอกจากนั้น ขณะนั้นซีไอเอกำลังวางแผนใช้พวกผู้ลี้ภัยที่ต้องการโค่นคาสโตรจำนวน 1,200 คนบุกขึ้นฝั่งประเทศคิวบาอยู่พอดี

เมื่อกำลังปรากฏความขัดแย้งอยู่หลายแห่งในส่วนต่างๆ ของโลกเช่นนี้ จึงเป็นการยากที่อเมริกาจะเข้าไปผูกพันตนเองกับประเทศเล็กๆ ที่อยู่คนละซีกโลกอย่าง “ลา-ออส”

 

ความต้องการของเคนเนดี้

ดังนั้น หากเคนเนดี้ไม่ต้องการเสียลาวแก่พวกคอมมิวนิสต์ เขาก็พอใจกับผลที่ออกมาในลักษณะ “เสมอกัน” นั่นคือการยอมรับให้มีรัฐบาลฝ่ายที่ “เป็นกลาง” เกิดขึ้นในลาว ฝ่ายเป็นกลางที่ว่าขณะนี้กำลังต่อสู้อยู่กับลาวอีกฝ่ายที่อเมริกันหนุนหลังอยู่นั่นคือพวกของกองแลและเจ้าสุวรรณภูมิมาซึ่ง “เข้าๆ ออกๆ” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลาวอยู่หลายหนด้วยกัน

ขณะนั้นเจ้าสุวรรณภูมิมากำลังเดินหมากการเมือง หันไปผูกมิตรกับฝ่ายศัตรูของโลกเสรีด้วยการเดินทางไปกระชับมิตรกับมอสโกและปักกิ่ง

แต่เคนเนดี้ก็พร้อมที่จะมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปโดยประสงค์จะชักจูงฝ่ายต่างๆ ในลาว รวมทั้งต่างชาติที่เกี่ยวข้องมาทำความตกลงเรื่องความเป็นกลางที่เป็นจริงของลาว

 

“ไม้อ่อน” และ “ไม้แข็ง”

เคนเนดี้ใช้เครื่องมือดำเนินนโยบายที่รู้จักกันดีในขณะนั้นว่า “ไม้อ่อนและไม้แข็ง”

“ไม้แข็ง” ของเขาคือการเสริมสร้างกองกำลังอเมริกันในไทย ทะเลจีนใต้ และอีกหลายจุดในภูมิภาค

ในการแถลงข่าวดังกล่าว เคนเนดี้พยายามพูดให้คลุมเครือเข้าไว้ และปล่อยให้ผู้ช่วยของเขาทำหน้าที่ชี้แจงกับพวกนักข่าวอย่างไม่เป็นทางการต่อไป

ในหน้าหนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นจึงมีรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของกองเรือที่ 7 การเตรียมความพร้อมของกองทหารอเมริกันที่ประจำอยู่ในโอกินาวาประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเรื่องของหน่วยพลร่ม รายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธชนิดต่างๆ ทำนองว่ามันเป็นความลับ “อย่าเอ็ดไปเชียว แต่นี่คือรายละเอียดเป็นอย่างนี้นะ” ซึ่งที่จริงแล้วก็คือความพยายามส่งสัญญาณให้โซเวียตตระหนักว่าอเมริกาเอาจริงปัญหาที่เกิดขึ้นในลาว

ในส่วนของ “ไม้อ่อน” ก็คือความพยายามหยั่งดูท่าทีความเป็นไปได้ที่อเมริกาและโซเวียตจะสามารถหาข้อตกลงปัญหาร่วมกันได้