รัฐนิยมและอำนาจนิยม / การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ผลกระทบทางการเมืองและการบริหารปกครองของโควิด-19

: รัฐนิยมและอำนาจนิยม (1)

 

นับแต่โควิด-19 ระบาดจากจีนเมื่อธันวาคม 2019 แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน (4 กุมภาพันธ์ 2021) มีผู้ป่วยติดเชื้อแผ่กว้างมหาศาลถึง 103,989,900 ราย เสียชีวิตแล้ว 2,260,259 คน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ WHO Coronavirus Disease (COVID-19) Dashboard)

รัฐบาลนานาชาติต้องสั่งปิดประเทศ ล็อกดาวน์ เว้นระยะห่างทางกายภาพ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หยุดงาน หยุดผลิต หยุดค้า หยุดเรียน จู่ๆ เศรษฐกิจส่วนใหญ่ถูกช็อกชะงักเป็นอัมพาต ผู้คนขาดรายได้ IMF ประเมินความสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมเทียบกับแนวโน้มก่อนโควิดจากปี 2020 ถึง 2025 ว่าจะสูงถึง 28 ล้านล้าน US$ (https://www.theguardian.com/business/2020/oct/13/imf-covid-cost-world-economic-outlook)

ส่วน ILO ก็ประเมินว่าในปี 2020 คนงานทั่วโลกสูญเสียชั่วโมงทำงานไปทั้งสิ้น 8.8% หรือเท่ากับตำแหน่งงานหายไป 255 ล้านตำแหน่ง แบ่งออกเป็นชั่วโมงทำงานสูญเสียไปเพราะงานหายราวกึ่งหนึ่ง (หรือคนตกงาน 114 ล้านคน ในนี้แบ่งเป็นถูกปลดออกจากตำแหน่งงาน 33 ล้านคน และว่างงาน 81 ล้านคน) ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเพราะถูกลดชั่วโมงทำงานโดยยังมีตำแหน่งงานอยู่

ทั้งหมดนี้ทำให้สูญเสียรายได้จากค่าแรงไปทั้งสิ้น 3.7 ล้านล้าน US$ หรือ 4.4% ของ GDP โลกในปี 2019 (ILO Monitor : COVID-19 and the world of work, 7th edition, 25 January 2021)

กล่าวเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ความเจ็บปวดเสียหายเพราะเศรษฐกิจหดตัวและสิ้นเปลืองชีวิตผู้คนจากโควิด-19 ระบาดในประเทศต่างๆ แสดงออกในแผนภูมิ :

ปฏิมาแห่งผู้ปกครองรัฐนิยม & อำนาจนิยมยุคโควิด-19 : ภาพจาก https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Coronavirus-Asia-embraces-big-government-to-battle-recession

ในภาวะฉุกเฉินเหมือนเกิดสงครามและเศรษฐกิจตลาดเป็นอัมพาตง่อยเปลี้ยสาหัสเช่นนี้ จึงตกเป็นภาระของรัฐชาติต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องเพิ่มงบประมาณและขยายบทบาทของรัฐอย่างหนักหน่วงใหญ่หลวงชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยเฉพาะในการป้องกันรักษาโรค บริหารจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรรวมทั้งดำเนินการผลิตและให้บริการที่จำเป็นทดแทนตลาดและเอกชน เพิ่มอำนาจพิเศษของรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและการบริหารจัดการตนเองของสังคม เพื่อให้ส่วนรวมอยู่รอดปลอดภัยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

อันเป็นที่มาของแนวโน้มการเมืองแบบรัฐนิยม+อำนาจนิยม (statism + authoritarianism) ท่ามกลางภาวะยกเว้นเป็นพิเศษ (the state of exception) ของการทำสงครามกับโรคระบาดโควิด-19 คล้ายคลึงกับสภาพระบอบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (war communism) ในสงครามกลางเมืองของรัสเซียระหว่างปี 1918-1921 ที่รัฐโซเวียตใหม่ของพรรคบอลเวชิกรวบริบอำนาจและทรัพย์สินเอกชนมาควบคุมจัดการอย่างเบ็ดเสร็จรวมศูนย์เพื่อทุ่มเทกำลังและปัจจัยทุกชนิดต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดสุดฤทธิ์กับพวกกบฏรัสเซียขาวและกองกำลังรุกรานต่างชาติของตะวันตก (https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zfrs8xs/revision/1)

แนวโน้มการเมืองการปกครองที่ว่านี้ไม่เพียงกลับตาลปัตรแนวนโยบายประชาธิปไตยกับเสรีนิยมใหม่ (democratization + neo-liberalization) ทางเศรษฐกิจการเมืองที่ขึ้นมาเป็นกระแสหลักทั่วโลกหลังสิ้นสุดสงครามเย็นในทศวรรษ 1990 เท่านั้น หากมันยังสวนทวนธรรมเนียมการบริหารปกครอง (governance tradition) ที่เคยเป็นมาในเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์หลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

แกนตั้งแสดงความเติบโตของ GDP ที่เป็นจริงในปี 2020 หน่วยเป็นร้อยละ ส่วนแกนนอนแสดงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อประชากรหนึ่งแสนคนของแต่ละประเทศ โดยประมวลจากข้อมูลของ IMF & ศูนย์ข้อมูลไวรัสโคโรนาแห่งมหาวิทยาลัย John Hopkins สหรัฐ

ธรรมเนียมประเพณีแต่เดิมของเอเชียดังกล่าวได้แก่การจัดให้มีรัฐบาลขนาดเล็กหรือรัฐขั้นต่ำ (the minimal state หมายถึงรัฐแบบเสรีนิยมคลาสสิคซึ่งมีหน้าที่ขั้นพื้นฐานเพียงแค่รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย ป้องปรามอาชญากรรมและบังคับใช้สัญญาระหว่างเอกชนในประเทศ รวมทั้งป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอกแค่นั้น เมื่อเทียบกับรัฐขั้นสูงหรือ the maximal state แบบเสรีนิยมสังคมของโลกตะวันตกที่รับภาระหน้าที่จัดหาสวัสดิการสังคมมาให้พลเมืองด้วย ดู นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ) อันมีลีกวนยูแห่งสิงคโปร์และมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียเป็นปากเสียงธงนำ

ดังที่ลีกวนยู ผู้ก่อตั้งประเทศและผู้นำสิงคโปร์ (1923-2015) เคยกล่าวถึงฉันทมติรัฐขนาดเล็กแบบเอเชียว่า :

“เราได้จัดแจงให้มีความช่วยเหลือ แต่จัดมันออกมาในลักษณะที่มีแต่คนที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเท่านั้นที่จะมาขอมัน นี่เป็นท่าทีตรงกันข้ามกับในตะวันตกที่ซึ่งพวกเสรีนิยมกระตุ้นผู้คนอย่างแข็งขันให้เรียกร้องสิทธิโดยไม่ต้องอับอาย ทำให้ต้นทุนสวัสดิการพุ่งสูงระเบิดเถิดเทิง”

(Lee Kuan Yew, From Third World to First: The Singapore Story, 2000)

บริหารปกครองแบบย่อมเยา : แผนภูมิแสดงรายรับของรัฐบาลจากภาษีคิดเป็นร้อยละของ GDP จำแนกตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกจากปี 2005-2019 สีเขียว = เขตเงินสกุลยูโร, สีเทา = เฉลี่ยทั่วโลก, สีแดง = อเมริกาเหนือ, สีน้ำเงิน = เอเชียและแปซิฟิก, สีเหลือง = เอเชียใต้ ข้อมูลจากธนาคารโลก

กล่าวโดยสรุป ฉันทมติรัฐขนาดเล็กของลีกวนยูกับมหาธีร์มีฐานคิดว่า :-

– วิพากษ์รัฐสวัสดิการยุโรปว่าใหญ่เบ้อเร่อเท่อแต่ขาดประสิทธิภาพ ดูดเซาะพลังงานของพลเมืองตนเองและบ่อนทำลายโครงสร้างครอบครัวแต่เดิม

– เปรียบตัดกัน รัฐบาลต่างๆ ของเอเชียกลับมัธยัสถ์ มีประสิทธิภาพและเอื้อเฟื้อธุรกิจกว่า

– ประเพณีรัฐเล็กของเอเชียนี้ยืนนานน่าทึ่ง แม้เศรษฐกิจชาติเอเชียต่างๆ จะเติบโตร่ำรวยรวดเร็วในหลายทศวรรษหลัง แต่โดยเฉลี่ยรัฐบาลของชาติเหล่านี้ยังเล็กกว่าในภูมิภาคอื่นของโลกอักโข ตามการวิจัยของ Asia Development Bank

ฉันทามติรัฐขั้นต่ำของเอเชียฉบับลีกวนยูกับมหาธีร์นี้แหละที่กำลังจะพลิกเปลี่ยนไปเพราะสงครามกับโควิด-19!

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)