ผี พราหมณ์ พุทธ : ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’ หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (2) / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ว่าด้วยเรื่อง ‘สายยัชโญปวีต’

หรือ ‘สายธุรำมงคลพราหมณ์’ (2)

 

ก่อนอื่นผมต้องขออภัยในความผิดพลาดของบทความในฉบับที่แล้ว จะด้วยความเบลอหรือเผอเรออย่างไรก็ตาม ที่บอกว่า “พราหมณ์สยามเรียกสายที่คล้องจากไหล่ขวามาสะเอวซ้าย…”

ที่จริงสายยัชโญปวีตหรือธุรำในเวลาปกติจะต้องคล้องจากไหล่ซ้ายมาสะเอวขวา มิใช่จากไหล่ขวามาสะเอวซ้าย

กระนั้น ที่จริงก็มีการคล้องจากไหล่ขวามาสะเอวซ้ายด้วยเหมือนกัน แต่ทำเฉพาะในบางพิธีซึ่งผมจะได้อธิบายต่อไป

จึงขอชี้แจงแก้ไขเสียก่อน เกรงจะเกิดความเข้าใจผิดในเบื้องต้นครับ

สายยัชโญปวีตหรือธุรำ มีลักษณะเป็นด้ายฟั้นเข้าด้วยกันสายหนึ่งมีสามเส้น แล้วนำสามเส้นเอามารวมกัน ทำเป็นวงกลมผูกปมตรงยอด โดยที่ปลายยอดจะมีด้ายโผล่ออกมานิดหน่อย แล้วมัดปมปิดปลายยอดนั้นอีกที (พราหมณ์สยามเรียก “หัวนาค” เหมือนอย่างยอดสังวาลย์ของเทวรูป) นี่เรียกว่าสายยัชโญปวีตหรือธุรำหนึ่งเส้น

ในพิธีคล้องสายอุปนยนมักมีการผูกสายยัชโญปวีตเข้ากับหนังละมั่งดำ (กฤษฺณาชิน) เพื่อเตือนให้ระลึกถึงธรรมเนียมโบราณที่แต่เดิมนักบวชนุ่งห่มหนังสัตว์เช่นละมั่ง และนุ่งเข้าในพิธียัชญะ

ตามธรรมเนียมในอินเดีย ท่านว่าแต่เดิมเมื่อเข้าพิธีอุปนยนสัมสการก็ให้ใส่หนึ่งเส้น (สามสาย) ต่อเมื่อแต่งงานแล้วจึงใส่อีกเส้น (รวมเป็นหกสาย ท่านว่าอีกเส้นใส่แทนภรรยา) บางท่านว่ารับจากบิดาใส่หนึ่งเส้น รับจากคุรุใส่สองเส้น แต่ที่จริงแล้วในปัจจุบันนี้ใส่สองเส้นเกือบทั้งหมด ในตำรานิตยกรรมปธติบอกว่า บางครั้งหากออกไปทำธุระ ถ้าไม่มีผ้าห่มไหล่ (อุปวัสตระ) ให้สวมเพิ่มอีกเส้นได้ แต่เป็นการสวมชั่วคราว

พราหมณ์สยามมีขนบต่างออกไป ท่านว่าเมื่อบวชเป็นพราหมณ์ (คำอย่างไทย) ให้สวมเส้นเดียว เรียกว่า “บวชสามสาย” ต่อเมื่อมีคุณวุฒิสูงขึ้นหรือเป็นพระครูพราหมณ์จึงสวมเพิ่มอีกหนึ่งเส้นเรียกว่า “บวชหกสาย”

เข้าใจว่าพราหมณ์พัทลุง พราหมณ์ตรังและพราหมณ์นครฯ ก็ถืออย่างนี้

 

ในไทยมีแต่พราหมณ์กับพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่คล้องสายยัชโญปวีตได้ พระมหากษัตริย์จะทรงรับ “พระสังวาลอ่อนธุรำมงคลพราหมณ์” จากพระมหาราชครูฯ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วจะทรงสวมไว้นอกฉลองพระองค์ มีนักวิชาการบางท่านว่า การสวมสายยัชโญปวีตนี้เพื่อจะแสดงพระองค์เป็นพราหมณ์

แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะโดยขนบแต่เดิมในอินเดีย มีสามวรรณะคือ พราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ที่สวมได้ การที่พระมหากษัตริย์จะสวมใส่ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์

ผมคิดว่าการสวมสายธุรำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มิได้แสดงสถานะของพราหมณ์หรือกษัตริย์ ในระบบเทวราช การสวมสายธุรำแสดงสถานะของ “เทพเจ้า” ต่างหาก

เพราะในพระราชพิธีอื่นๆ ที่มีการบูชาเทพ พราหมณ์จะสวมสายธุรำถวายเทวรูปขณะตั้งอยู่บนภัทรบิฐ เช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ที่ประทับบนภัทรบิฐแล้ว

 

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างพราหมณ์ไทยกับฮินดูอินเดีย คือ นอกจากจะมีสามวรรณะแรกที่สามารถคล้องสายยัชโญปวีตได้แล้ว พราหมณ์ไทยจะสวมในเวลาพิธีกรรมและสวมไว้นอกเสื้อ (เท่าที่ผมทราบ มีเพียงบางท่านที่สวมตลอดเวลา ซึ่งเป็นอิทธิพลจากอินเดีย) แต่ของฮินดูอินเดีย ผู้สวมยัชโญปวีตจะสวมไว้ตลอดเวลาในเสื้อ จึงมองไม่เห็นจากข้างนอก

บางเทวสถานในอินเดียที่บังคับให้คนถอดเสื้อเวลาเข้าไปชั้นในหรือในเวลาพิธี นอกจากเหตุผลว่า เสื้อไม่ใช่เครื่องแต่งกายตามประเพณีฮินดูแล้ว บางท่านก็ว่า เพื่อตรวจเช็กดูว่าเป็นฮินดูจริงหรือไม่ หรืออยู่ในวรรณะไหนนั่นเอง

ตำราโบราณท่านว่า สายยัชโญปวีตมีสีต่างๆ กันตามแต่วรรณะคือ พราหมณ์ใช้สีขาว กษัตริย์ใช้สีแดง แพศย์ใช้สีเหลือง และใช้วัสดุทำสายยัชโญปวีตต่างๆ กัน ของพราหมณ์ทำจากฝ้าย กษัตริย์ทำจากป่าน แพศย์ทำจากขนสัตว์

ในปัจจุบันยัชโญปวีตใช้วัสดุชนิดเดียวกันและมีสีขาวหรือสีเหลืองที่มาจากการย้อมด้วยขมิ้น ซึ่งเมื่อใช้ไปนานๆ สีจะซีดลงเอง แต่ก็เคยเห็นที่ใช้ด้ายไหมสีเหลืองทำอยู่บ้าง

เรื่องตลกที่พราหมณ์อินเดียมักจะนำมาล้อกันคือ คนมีอายุมักชอบใช้สายยัชโญปวีตเป็นที่สำหรับคล้องกุญแจห้องหรือกุญแจบ้านที่ต้องนำติดตัว ผมเองยังได้เห็นกับตา แม้จะโดนบ่นว่าไม่เหมาะสม แต่ท่านเหล่านี้ก็ทำจนเคยชิน เพราะยังไงก็ไม่ได้ถอดยัชโญปวีตอยู่แล้ว ไม่ลืมกุญแจไว้ที่ไหนแน่ๆ

 

ยัชโญปวีตนี้จะมีการเปลี่ยนปีละหนึ่งครั้ง คือเปลี่ยนในพิธีอุปกรรม วันเพ็ญเดือนศราวณี ต้องไปเปลี่ยนกับคุรุอาจารย์ในสำนักตน จะมีพิธีต่างๆ ในการชำระมลทินโทษ ซึ่งผมเคยได้เล่าไว้บ้าง

ในพิธีอุปกรรมยังมีการภาวนาพระคายตรีมนต์ เพื่ออย่างน้อยในหนึ่งปีได้ภาวนาสักครั้ง ไม่ให้ “สัมสการ” หรือความสืบเนื่องอันศักดิ์สิทธิ์เสื่อมถอย

นอกจากเปลี่ยนปีละครั้งแล้ว หากขาด หลุดออกจากตัว เปื้อนปฏิกูล จะต้องเปลี่ยนโดยทันที มีพิธีกรรมในการเปลี่ยน เรียกว่ายัชโญปวีตธารณะ และเส้นเดิมจะต้องจำเริญแม่น้ำไป ห้ามทิ้งขว้างลงในที่ทิ้งขยะต่างๆ

สายยัชโญปวีตของตัวสวมแล้วจะถอดไปสวมเทวรูปก็เป็นการไม่เหมาะสม เอาของตัวไปคล้องให้คนอื่นก็ไม่เหมาะสม หรือจะเอาที่คล้องเทวรูปมาสวมให้ตนเองทันทีก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน ถือว่าสายยัชโญปวีตเป็นของใครของมัน

เมื่อจะเข้าห้องน้ำหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับอวัยวะเบื้องล่าง ท่านให้เอาสายยัชโญปวีตมาคล้องพันที่หูขวาไว้ จนกว่าความยาวของสายจะพ้นสะดือ จึงทำกิจเช่นขับถ่ายหรือกิจอื่นๆ ได้ หรือในนิตยกรรมบอกว่า หากไปถ่ายหนักควรหาผ้ามาปิดศีรษะ หากไม่มีผ้าจะดึงเอาสายยัชโญปวีตมาพันรอบคางจนถึงศีรษะแทนผ้าก็ได้ แต่ยุ่งยากกว่าพันที่หู

เมื่อทำกิจเช่นนั้นห้ามพูดหรือส่งเสียง ชำระล้างปฏิกูลสะอาดดีแล้วบ้วนปากตามพิธี จึงจะเอาสายลงและพูดได้

 

การใช้สายยัชโญปวีตในพิธีกรรมมีหลายลักษณะ เมื่ออยู่ในเวลาปกติหรือประกอบพิธียัชญะ พิธีบูชาเทวดา กรวดน้ำให้เทวดา (เทวตาตรปณัม) ให้คล้องจากไหล่ซ้ายมาสะเอวขวา เช่นนี้เรียกว่า “อุปวีติ”

หากทำพิธีกรวดน้ำอุทิศให้ปิตฤ (เทพบิดร) หรือวิญญานบรรพบุรุษ ให้คล้องจากไหล่ขวามาสะเอวซ้าย เช่นนี้เรียกว่า “ปราจีนวีติ”

หากกรวดน้ำอุทิศให้ฤษี ให้คล้องคออย่างคล้องมาลัย เรียกว่า “นิวีติ”

หากต้องไปแบกศพ ให้คล้องคออย่างนิวีติ

หากมีคนเกิดหรือตายในบ้าน ให้เปลี่ยนสายยัชโญปวีตหลักจากนั้นสิบห้าวัน คือเมื่อพ้นกำหนดจากมลทินโทษแล้ว

 

ในสมัยก่อนเข้าใจว่าแต่ละคนฝึกที่จะทำสายยัชโญปวีตใช้กันเอง แต่ภายหลังมีผู้ทำจำหน่ายเป็นงานหัตถกรรมที่กำหนดผู้ทำไว้ว่าต้องเป็นวรรณะสูง กระนั้นสายยัชโญปวีตก็มีขายทั่วๆ ไปตามร้านขายของชำหรือร้านขายเครื่องบูชาต่างๆ หาได้ไม่ยากแต่อย่างใด เพราะนอกจากให้คนสวมแล้ว ก็ยังใช้ในพิธีกรรมบูชาเทพเจ้า โดยถือเป็นเครื่องบูชาในขั้นตอนหนึ่งของพิธีกรรมด้วย

ผมเคยประชดคนว่า อยากได้สายยัชโญปวีตมาสวมเพื่อความโก้เก๋หรืออัพเกรดตัวเองมากนัก ก็ไปพาหุรัดสิ ร้านแถวนั้นมีขายเส้นละไม่กี่สิบบาทเอง คุณค่าของการสวมยัชโญปวีตไม่ได้อยู่ที่การใส่หรือตัวสายสิญจน์นี้เท่านั้น แต่ยัชโญปวีตมีคุณค่าเมื่อมันเป็นเครื่องเตือนใจที่จะให้เราเรียนรู้ความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณของฮินดู กับเป็นสิ่งช่วยให้ระลึกถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับครู

ซึ่งทั้งสองสิ่งแม้ไม่สวมใส่ก็อาจค้นพบได้ แต่หากได้สวมใส่ก็ยิ่งต้องระลึกถึงสิ่งนี้เสมอ

อีกทั้งการจะสวมสายยัชโญปวีต มีขั้นตอน วิธีการ รวมทั้ง “ภาระ” หลายอย่าง ดังที่เล่ามา “คร่าวๆ” ข้างต้นครับ ต้องเรียนทั้งจากตำราและครูบาอาจารย์ ใช้เวลาไม่น้อย การไปสวมๆ รับๆ มาแล้ว ไม่อยู่เรียนรู้ต่อกับครู จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ในคราวหน้า ผมจะขอเล่าเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับสายยัชโญปวีต รวมไปถึงข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับที่มา การสวม รวมทั้งผู้ที่จะมีสิทธิสวม ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงแนวคิดเรื่องวรรณะ ประวัติศาสตร์ฮินดูที่เพิ่งสร้าง และการปะทะกับแนวคิดของโลกสมัยใหม่อย่างมีความเท่าเทียม ความเสมอภาค เป็นต้น

โปรดติดตามเถิด