หลังเลนส์ในดงลึก : ‘กรง’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ชะนีมีอาชีพปลูกป่า พวกมันเคยเป็นสัตว์ป่าที่คนนิยมนำมาเลี้ยง การได้ลูกชะนีมาคือต้องฆ่าแม่ชะนี เป็นเรื่องเก่าๆ ที่ไม่เคยยุติ

 

‘กรง’

 

รถกับคนในป่าทุ่งใหญ่นั้น พูดได้ว่า เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก ญาติสนิท หรือเพื่อนตายก็ว่าได้ รถอายุมากพอๆ กับคน ที่ร่วมบุกเบิกกันมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มที่ป่าได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์

คนหลายคนอายุน้อยกว่ารถ พวกเขาเรียกรถว่า ท่าน หรือป้า

รถใช้งานในป่า อายุมาก สภาพไม่สมบูรณ์นักหรอก แต่พวกมันก็ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี

บนหนทางทุรกันดาร คนในป่ารู้ดีว่า ถ้าจะผ่านหล่มลึกหรือเนินชันอันลื่นไถลไปให้ได้

ทั้งรถและคน จำเป็นต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว

 

บริเวณโรงรถของหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช หรือที่มีชื่อเดิมว่า หน่วยซ่งไท้ ซึ่งเป็นชื่อของลำห้วย ซึ่งคนต้องข้ามไปก่อนถึงหน่วย ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานเขต แต่การเข้าถึงค่อนข้างยากยิ่งในช่วงฤดูฝน สำนักงานเขตจึงย้ายออกไปด้านนอก

โรงรถแบ่งออกเป็นสี่ช่อง

หลังผ่านทางกันดารมาหลายชั่วโมง หรือบางครั้งกว่า 24 ชั่วโมง ที่นี่คล้ายเป็นจุดพักของคนที่จะเดินทางไปถึงหน่วยลูกไม้แดง หน่วยแม่กะสะ หรือหน่วยจะแก

รถควรจะได้จอดพักในที่สบายๆ บ้าง

และที่นี่เปรียบเสมือนอู่ที่สามารถซ่อมแซม ที่จะเชื่อมส่วนที่หัก เติมลม รวมทั้งยกเครื่องออก เพื่อนำออกไปซ่อมต่อในเมือง

มีช่องจอดสี่ช่อง ควรจอดรถได้ 4 คัน แต่ทำไม่ได้หรอก เพราะช่องหนึ่งมีซากรถคันหนึ่งจอดอยู่นานแล้ว

รถคันนี้คล้ายเป็นอะไหล่ เกือบทุกชิ้นส่วนถูกถอดไปใส่รถคันอื่น เหลือเพียงตัวถัง เป็นเรื่องปกติของที่นี่ การเดินทางซึ่งทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจำเป็น อะไหล่ที่อยู่ใกล้มือ มักถูกขอยืมไปใช้ก่อน

ช่องหนึ่งมีซากรถจอด อีกช่องเป็นที่วางเครื่องปั๊มลม เครื่องเชื่อม รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ เหลือว่างสองช่อง ช่องหนึ่งมักเป็นที่ผูกเปลของผู้แวะมาพัก

ที่จอดได้จริงจึงเหลือช่องเดียว ถ้าเดินทางจากสำนักงานเขต มา 2-3 คัน คันที่ถึงก่อนจะได้รับสิทธิ์ในการจอดที่ช่องว่าง

 

วันนั้น ผมเดินทางถึงหน่วยนี้ราว 5 โมงเย็น ทั้งที่เริ่มเดินทางจากสำนักงานเขตตั้งแต่เช้ามืด แต่ก็เถอะ ในระยะทาง 30 กิโลเมตร ช่วงฝนอย่างนี้ นับว่าทำเวลาได้ไม่เลว

ฝนตกพรำๆ ระหว่างทาง ผมเจอฝนตกหนักสลับเบาตลอดทาง

ผมถอยเข้าจอดในช่องว่าง ช่องข้างๆ ที่มักมีคนผูกเปลนอน มีกรงทำด้วยไม้ไผ่เป็นซี่ๆ ไม้ไผ่สีเขียวสด กรงเพิ่งทำใหม่ๆ

ผมเดินเข้าใกล้กรง ลูกลิงสีขาวนวลคลานมาข้างกรง มือหนึ่งจับซี่ไม้ไผ่ อีกมือเอานิ้วหัวแม่มืออมไว้ในปาก

ลูกลิงเงยหน้าขึ้นมอง ดวงตาดำขลับ มีแววตื่นกลัว

 

มันคือลูกลิงเสน หรือที่คนแถบนี้เรียกว่า ลิงหมู ก่อนหน้าสองวัน ชุดลาดตระเวนพบและจับผู้ต้องหาได้ แม่ลิงถูกฆ่าแล้ว พวกเขาจึงนำลูกลิงกลับหน่วย ให้พักอยู่ที่นี่ กระทั่งแข็งแรงพอจึงค่อยกลับเข้าป่า

ลิง, ค่าง, ชะนี สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หากินบนเรือนยอด เหล่านี้คือเป้าหมายหนึ่งของการล่า

คนล่าสัตว์ใหญ่อย่างกระทิง เพื่อเอาเขา หรือเสือเพื่อเอาซาก จะฆ่าสัตว์พวกนี้เพื่อเป็นเสบียง และเอาเนื้อไปขายบางส่วน ส่วนลูกเป็นผลพลอยได้ที่ดี นำไปเป็นๆ เพื่อขายให้คนนิยมเลี้ยงสัตว์ป่าอย่างได้ราคา

ยิงแม่จะได้ลูก คือเรื่องธรรมดา เพราะลูกๆ จะเกาะติดอยู่กับอกแม่ กระทั่งสามารถเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตที่แม่จะถ่ายทอดให้

ความผูกพันของพวกมัน คนในป่าพบเห็นเสมอ

“ผมเคยเห็นแม่ค่างถูกยิง มันยื่นลูกที่เกาะบนอกให้ค่างอีกตัวรับพาหนีไป ก่อนตัวเองจะตกลงมาตาย” ขณะลาดตระเวน ปะกาศิตได้ยินเสียงปืน เขาเข้าไปพบคนกำลังยิงค่าง

“ตอนนั้นได้ของกลางเป็นซากค่าง 12 ตัว” เขาเล่า

“ภาพแม่ค่างยื่นลูกให้อีกตัว เป็นภาพที่ลืมไม่ลงเลยครับ”

สัตว์ที่หากินบนเรือนยอด หน้าที่ของพวกมันคือ นำพาเมล็ดพืชไปกระจายตามที่ต่างๆ ไม่ผิดจากความเป็นจริงว่า พวกมันคือนักปลูกป่า ปลูกป่าคืออาชีพ

แต่มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า พวกมันจะมีประโยชน์ก็ตอนเป็นซากอันไร้ชีวิต…

ผมเปิดกรง เอื้อมมือเข้าไปใกล้ ลูกลิงลังเลชั่วครู่ มันขยับเข้ามาเกาะมือแน่น

 

2 เดือนต่อมา

ลูกลิงเสนกลายเป็นลิงสีเหลืองทอง มันคล้ายเป็นหนึ่งในสมาชิกของหน่วย ประตูกรงไม้ไผ่นั่นไม่ปิด มันเดินเข้า-ออกได้ตามใจ

สภาพร่างกายมันเปลี่ยนแปลง แต่แววตาคล้ายยังมีแววความไม่วางใจ

สิ่งที่มันมักทำคือ เดินเข้ามาและเกาะขา เกาะอยู่อย่างนั้น แม้ผมจะเดินไปรอบๆ หน่วย

ผมก้มมองลูกลิงที่เกาะขา มันแหงนหน้าสบตา

พบเจอกับอะไรมา ผมรู้ว่ามันยังไม่ลืม

 

ต้นไทรใกล้หน่วยออกลูกสุก ผมมีซุ้มบังไพรอิงแอบอยู่กับง่ามไม้ใหญ่ บนต้นไม้ข้างๆ ที่ความสูงไล่เลี่ยกับต้นไทร

ลูกไทรเป็นอาหารประจำของเหล่าสัตว์ป่า ต้นไทรในป่าผลัดเปลี่ยนกันออกลูกสุก ในช่วงเวลาที่ป่าขาดแคลน สภาพอากาศแห้งแล้ง ในป่าจะมีต้นไทรออกลูก

และบรรดาสัตว์ป่าก็รู้ดีว่า ช่วงเวลาใดไทรต้นไหนจะมีลูกสุก

กิจกรรมที่ต้นไทรเริ่มคึกคักตั้งแต่เช้ามืด ชะนีเป็นเหมือนนาฬิกาปลุก ชะนีตัวผู้ส่งเสียงสูงๆ ต่ำๆ โดยมีลูก-เมียร้องผสมโรง เจตนาคือ บอกให้ชะนีครอบครัวอื่นรู้ว่า แถวนี้ใครเป็นเจ้าของอาณาเขต

ท้องฟ้ายังไม่สว่างดี นกกก นกเงือกขนาดใหญ่มาถึง ปีกมันแหวกอากาศเสียงดังฟืดๆ

จากนั้น พวกนกมูม นกเขาเปล้า และอีกหลายชนิด กระรอก กระเล็น อีเห็น หมีหมา และหมีควาย มุ่งหน้ามา

นกกก กระโดดไปตามกิ่งไทรใหญ่ๆ ใช้ปลายปากคาบ ปากใหญ่แต่ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว

ส่วนนกแก๊ก นกเงือกอีกชนิด ที่มีขนาดเล็กกว่า เกาะได้ถึงปลายๆ กิ่ง

หมีควายขึ้นมาบนกิ่งใหญ่ กินๆ กระทั่งอิ่มก็นอนคว่ำกับกิ่ง หลับตาพักผ่อน หลับสักพักก็ตื่นเอื้อมมือคว้าลูกไทรเข้าปากอีก

ชะนีเงียบเสียงแล้ว ไม่มีชะนีครอบครัวอื่นเข้ามาใกล้ แค่ส่งเสียงโต้ตอบไกลๆ

ชะนีตัวผู้เอนหลังพิงกิ่งไม้ เหม่อมองไปทางทิวเขาที่เห็นลิบๆ

 

แสงแดดแรงขึ้น นกแก๊กยังอยู่ หมีควายอิ่มเต็มที่ ค่อยไต่อุ้ยอ้ายลงไป

ด้านบนซุ้มบังไพรไหวยวบยาบ ค่างแว่นถิ่นเหนือมาถึง มันส่งเสียง ทำให้ชะนีที่กำลังสบาย หันมองก่อนโหนกิ่งไม้จากไป

ค่างมีสมาชิกกว่า 20 ตัว หลายตัวเป็นลูกเล็กขนสีทองที่เกาะติดอกแม่

พวกมันตะลุยกินลูกไทรอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น ก็หาที่พักผ่อน หลายตัวจับคู่หาเห็บ หาหมัดให้กัน ลูกดูดนมแม่ บางตัวยื่นลูกให้อีกตัวรับไปช่วยดูแล

ผมเห็นความสัมพันธ์ในฝูงที่แน่นแฟ้น

ลูกๆ กินนมอิ่ม พวกมันกอดแม่หลับตาพริ้ม ดูมีความสุข และได้ใช้ชีวิตไปตามวิถี

ผมคิดถึงลูกลิงที่หน่วย มันเคยมีความสุข เคยมีชีวิตที่ดีเช่นนี้

 

ผมเดินโดยมีลูกลิงเกาะที่ขา สายตาของมันบอกให้รู้ว่าผ่านอะไรมา ชีวิตมันจะไม่กลับไปเป็นเช่นเดิม แม้จะมีโอกาสกลับเข้าป่า เมื่อเติบโตกว่านี้ มันขาดการเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตจากแม่

ลูกสัตว์ป่าน่าเอ็นดู คนหาซื้อมาเลี้ยง

ขณะอุ้มลูกสัตว์ป่าชื่นชมความน่าเอ็นดู นึกถึงเหตุการณ์ก่อนที่มันจะเดินทางมาถึงมือคน

มองเข้าไปในดวงตามัน

ผมพูดถึงเสมอๆ ว่า หากมองสัตว์ป่าด้วยดวงตาอันผ่านหัวใจ ภาพที่เห็นจะชัดเจน

แต่มันจะไม่ได้ผลเลย หากไม่เปิด “กรง” ที่ขังหัวใจไว้ข้างใน…