เส้นทางยาวไกลก่อนลั่นกระสุนปืน / มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

เส้นทางยาวไกลก่อนลั่นกระสุนปืน

 

พฤติกรรมความรุนแรงมีที่มาจากอะไร

โรเบิร์ต ซาโพลสกี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสะกิดให้คิดว่า มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ นั้นมักสับสนเมื่อต้องคิดถึงความรุนแรง อย่างตัวเขาเองก็เป็นคนที่สนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน แต่ชอบไปยิงคนในสนามที่ยิงกันด้วยปืนเลเซอร์

เขาไม่สนับสนุนโทษประหาร แต่ก็มีจินตนาการว่าถ้าเจอฮิตเลอร์อาจจะลงมือฆ่าทิ้งด้วยวิธีที่ทรมานแสนสาหัส

ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องประสาทวิทยา เขาต้องการเข้าใจการแบ่งขั้วที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ว่าพวกเรามีธรรมชาติแบบไหนกัน

บนเวทีเท็ดทอล์ก ซาโพลสกี้อธิบายความสับสนของมนุษย์ในเรื่องนี้ว่ามีสองเรื่องด้วยกัน

หนึ่งคือ เราไม่ชอบความรุนแรง แต่เราแค่ไม่ชอบความรุนแรงที่ผิด (ตามมาตรฐานของเรา) เพราะพอมันเป็นความรุนแรงที่ถูกต้อง (ถูกใจ) เราก็ส่งเสียงเชียร์ มอบเหรียญตราเกียรติยศให้ หรือลงคะแนนโหวตให้ด้วยซ้ำ

สองคือ แม้เราจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่นิยมความรุนแรง แต่ขณะเดียวกันเราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเมตตาและเห็นอกเห็นใจคนอื่น

เราจะทำความเข้าใจความสับสนอันดูไร้เหตุผลนี้ได้อย่างไร

อาจต้องลองค่อยๆ มองย้อนกลับไปถึงที่มา

Robert Sapolsky

เขายกตัวอย่างให้นึกภาพตามว่า สมมุติคุณอยู่ในสถานการณ์จลาจลที่กำลังชุลมุนวุ่นวาย แล้วเห็นคนแปลกหน้าคนหนึ่งวิ่งตรงมาที่คุณ ในมือเขามีบางอย่างซึ่งคุณคิดว่าเป็นปืนแน่ๆ คุณเองก็มีปืนอยู่ในมือ ในช่วงเวลาเสี้ยววินาทีนั้นคุณต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

คุณลั่นไกยิงเขา

จากนั้นจึงได้รู้ว่า ในมือของเขาไม่ใช่ปืน หากเป็นโทรศัพท์มือถือ

เราจะอธิบายเหตุการณ์รุนแรงนี้ว่าอย่างไร

อะไรทำให้พฤติกรรมนี้เกิดขึ้น

อย่างแรก, ลองเข้าไปสำรวจสมองของคุณในวินาทีก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ลองดูว่าสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งเป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับความกลัวและความรุนแรงนั้นตื่นตัวมากน้อยแค่ไหน

แต่เพื่อจะเข้าใจความตื่นตัวของอะมิกดาลา เราต้องย้อนเหตุการณ์กลับไปอีกนิดหนึ่งว่า อะไรทำให้อะมิกดาลาของเราถูกกระตุ้นขึ้นมากันแน่

ซาโพลสกี้อธิบายว่า เรามีโอกาสมองโทรศัพท์ในมือของคนนั้นเป็นปืนได้มากขึ้นถ้าคนผู้นั้นเป็นผู้ชาย ตัวใหญ่ และเชื้อชาติต่างจากเรา

อีกองค์ประกอบหนึ่งคือ ถ้าคุณกำลังเจ็บปวด เหนื่อยล้า หรือหิว สมองส่วนหน้า (Frontal Cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการไตร่ตรองด้วยเหตุผลจะยิ่งประสิทธิภาพลดต่ำลง ทำให้มันไม่สามารถไปหยุดยั้งการตัดสินใจจากความกลัวของอะมิกดาลาได้ทันว่า “เฮ้ย ใจเย็น แน่ใจแล้วเหรอว่านั่นคือปืน”

แต่ถ้าอยากเข้าใจมากขึ้น เราต้องถอยไปหลายชั่วโมงหรือหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ลองตรวจดูว่าปริมาณเทสโทสเตอโรนในตัวมีมากน้อยเพียงใด

ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้ฮอร์โมนของความเครียดสูงขึ้น ทำให้อะมิกดาลาตื่นตัวมากขึ้น ขณะที่สมองส่วนหน้าจะเฉื่อยเนือยลง โอกาสลั่นไกก็มีมากขึ้น

 

ลองย้อนกลับไปไกลขึ้นอีก สัปดาห์ก่อนนั้นหรือเดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสมองไปตามประสบการณ์

ซึ่งถ้าเดือนก่อนหน้านั้นชีวิตเต็มไปด้วยความเครียดหรือความหดหู่ สมองส่วนอะมิกดาลาจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ระบบประสาทจะยิ่งตื่นตัว สมองส่วนหน้าก็จะฝ่อ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อวินาทีเหนี่ยวไกปืนทั้งหมด

ยังไม่จบครับ, ถ้าลองย้อนไปถึงสมัยวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองแทบทุกส่วนพัฒนาเต็มที่แล้ว ยกเว้นเพียงแค่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการไตร่ตรองด้วยเหตุผลที่ยังอยู่ในระหว่างเติบโตจนกว่าจะถึงวัย 25 ปี

ฉะนั้น ประสบการณ์ในช่วงวัยรุ่นจึงมีผลต่อการขึ้นรูปสมองส่วนหน้าของเราทุกคน นั่นหมายความว่าประสบการณ์ดีร้ายในช่วงวัยรุ่นก็มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่รุนแรงอย่างการลั่นไกปืนในบ่ายวันนั้น

และถ้าย้อนกลับไปถึงวัยเด็กน้อยหรือทารกในครรภ์ที่สมองของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการก่อร่าง ประสบการณ์ในช่วงวัยนั้นสร้างสิ่งที่เรียกว่าอีพิเจเนติก ซึ่งมีผลทำให้ยีนบางตัวแสดงออก ขณะที่บางตัวปิดตัวไป เช่น ถ้าขณะเป็นทารกเราได้รับผลจากฮอร์โมนเครียดของแม่มากๆ ก็อาจทำให้เราเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่อะมิกดาลาตื่นตัวเป็นพิเศษ และระดับฮอร์โมนเครียดในตัวสูง

ยังย้อนไปได้อีกครับ, ในตอนที่เรายังเป็นชุดของยีน มียีนตัวหนึ่งชื่อ MAO-A ถ้าคุณมีตัวแปรนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นคนต่อต้านสังคมและกระทำเหตุรุนแรง

และถ้าในตอนเด็กคุณถูกกระทำรุนแรง นั่นยิ่งทำให้ยีนและประสบการณ์ชีวิตบ่มให้คุณเติบโตมาเป็นคนที่ชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง และการลั่นกระสุนครั้งนั้นก็คือผลสรุปของยีนและประสบการณ์ตลอดชีวิตที่สั่งสมมา

ความสนุกยังไม่จบครับ, ซาโพลสกี้ชวนเราย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ไปดูว่าบรรพบุรุษของเราเป็นใคร

สมมุติว่าเป็นกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ที่อาศัยในทะเลทรายหรือทุ่งหญ้า มีชีวิตกับการต้อนอูฐ วัว แพะ แกะ คนเหล่านี้สร้างวัฒนธรรมแห่งเกียรติยศซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรง รบราฆ่าฟัน

เรื่องมหัศจรรย์ก็คือสิ่งเหล่านี้ยังคงส่งอิทธิพลมาถึงรุ่นลูกหลานอย่างเราๆ ท่านๆ ทุกวันนี้

คราวนี้ย้อนไปหลายล้านปีกันดู จะเห็นว่าบางสปีชีส์วิวัฒน์ไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ดุร้าย ขณะที่บางสปีชีส์ก็กลายเป็นสัตว์ที่ดุร้ายมาก มนุษย์ดูเหมือนจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนั้น

 

โรเบิร์ต ซาโพลสกี้ พาเราย้อนเวลาไปมากมายเพื่อบอกอะไร

เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมที่ปรากฏตรงหน้าเรานั้นมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก จึงต้องระวังทุกครั้งที่เราจะบอกหรือตัดสินใครสักคนว่า เราเข้าใจดีว่าพฤติกรรมที่เขาทำนั้นมีที่มาจากอะไร

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ชีววิทยาทั้งหมดที่เล่ามานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

ตัวอย่างเช่น ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง หลายพันปีก่อนซาฮาร่ายังเป็นทุ่งหญ้า, วัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลง ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กลุ่มคนที่น่ากลัวที่สุดในยุโรปคือพวกสวีเดน ขณะที่ ณ ปัจจุบันทหารสวีเดนไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป พวกเขาไม่ทำสงครามใดๆ มา 200 ปีแล้ว

และที่สำคัญที่สุดคือ สมองเปลี่ยนแปลงได้ ระบบประสาทสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ การเชื่อมโยงใหม่ๆ เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงจากเดิม

นักประสาทวิทยาเครางามยกตัวอย่างของผู้คนหลายคนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตรงข้ามกับความรุนแรงที่ตนเคยกระทำ

เช่น จอห์น นิวตัน ผู้มีบทบาทสำคัญในการเลิกทาสให้หมดไปจากดินแดนแห่งอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งชายคนเดียวกันนี้เองที่ใช้เวลาหลายสิบปีในวัยหนุ่มเป็นกัปตันเรือค้าทาส ทำธุรกิจค้ามนุษย์และร่ำรวยขึ้นจากมัน

เซนจิ อาเบ นักบินแห่งกองทัพญี่ปุ่นผู้นำฝูงบินทิ้งระเบิดไปโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ห้าสิบปีต่อมาเขาเดินทางไปหากลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เพิร์ล ฮาร์เบอร์ และได้กอดกับคนเหล่านั้นพร้อมกล่าวคำขอโทษถึงสิ่งที่เขาเคยกระทำในวัยหนุ่ม

แต่บางครั้งความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นรวดเร็วกว่านั้น ไม่ต้องอาศัยเวลาหลายสิบปี มีเหตุการณ์เล็กๆ เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่วงพักรบคริสต์มาส ทหารสองฝ่ายจากอังกฤษและเยอรมันใช้เวลาช่วงนั้นเก็บศพเพื่อนทหารบริเวณแนวสนามเพลาะของทั้งสองกองทัพ

ภาพที่เกิดขึ้นคือ ทหารทั้งสองฝั่งช่วยกันลำเลียงศพของกันและกัน ช่วยกันขุดหลุม และสวดมนต์ร่วมกัน มีงานคริสต์มาสร่วมกัน แลกของขวัญกัน

และในวันถัดมาก็เล่นฟุตบอลด้วยกัน แลกที่อยู่กันเพื่อจะได้นัดพบกันหลังสงครามจบลง การพักเช่นนั้นดำเนินอยู่จนกระทั่งหัวหน้าทหารต้องเดินมาออกคำสั่งว่า “ถ้าไม่กลับมาฆ่าพวกมัน ฉันจะยิงพวกแกทิ้งให้หมด”

ซาโพลสกี้บอกว่า ในช่วงเวลาหลายชั่วโมงนั้น ทหารทั้งสองฝั่งได้สร้างความเป็น ‘เรา’ ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ ทำให้ได้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาต่อสู้ฆ่าฟันกันนั้นเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ

 

อีกเรื่องเป็นเรื่องของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม

ระหว่างการสังหารโหดที่กองทัพอเมริกันเข้าไปในหมู่บ้านแล้วฆ่าชาวเวียดนาม 300-500 คน ข่มขืนและฆ่าผู้หญิงและเด็ก หั่นศพพวกเขา มีทหารคนหนึ่งชื่อ ฮิวจ์ ทอมป์สัน เป็นคนหยุดยั้งการสังหารโหดเหล่านั้น

เขาขับเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธแล้วร่อนลงจอดเห็นเพื่อนทหารกำลังระดมยิงทารกและหญิงชรา เขาบังคับเฮลิคอปเตอร์หันปากกระบอกปืนไปที่เพื่อนทหารอเมริกันแล้วบอกพวกเขาว่า “หากพวกนายยังไม่หยุดฆ่าเด็กและคนแก่ ฉันจะยิงให้เรียบ”

ซาโพลสกี้บอกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดารไปกว่าเรา เซลล์ประสาทแบบเดียวกัน สารเคมีในสมองเหมือนกัน ชีววิทยาเหมือนกัน

เขาจบเรื่องราวสลับซับซ้อนของความรุนแรงด้วยการสะกิดเตือนให้คิดว่า ถ้าเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงจากรุนแรงกลายมาเป็นมีเมตตาเหล่านี้เลย ไม่ได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาว่ามันสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่เลวที่สุดของเราไปเป็นดีที่สุดได้ เราย่อมเสียโอกาสที่จะได้กระทำในสิ่งเดียวกับพวกเขา

นั่นคือการตัดสินใจในชั่วขณะสั้นๆ ที่จะไม่ใช้ความรุนแรง

ซึ่ง…นั่นคือพฤติกรรมที่งดงามของมนุษย์