Clubhouse พื้นที่สาธารณะ เพื่อประชาธิปไตยในปี 2564 | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประเทศไทยในทศวรรษ 2560 คือประเทศซึ่งการขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อสารทำให้การเมืองของประเทศเปลี่ยนไปอย่างแหลมคม เพราะการเลือกตั้งครั้งแรกในยุคโซเชียลจบด้วยชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ ขณะคนรุ่นใหม่ลงถนนในปี 2563 ด้วยประเด็นไล่ประยุทธ์-ปฏิรูปสถาบัน

ประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่เดือนสองของปี 2564 จนยากที่จะประเมินว่าสถานการณ์ปีนี้จะเป็นอย่างไร

แต่ถ้าอดีตชี้ทิศทางของอนาคต อดีตในปี 2562-2563 ก็สะท้อนว่าเราเป็นสังคมที่กำลังเกิดแรงกระเพื่อมทางความคิดครั้งใหญ่ และเป็นแรงกระเพื่อมที่จะทำให้อนาคตของประเทศเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

จากปรากฏการณ์อนาคตใหม่ปี 2562 ถึงม็อบราษฎรปี 2563 ประเทศไทยมีคนที่ไม่พอใจระบอบการปกครองตอนนี้มากจนคนรุ่นใหม่อย่างธนาธร, เพนกวิน, รุ้ง, คณะราษฎร ฯลฯ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงจนปัญหาของปี 2564 คือพลังนี้จะแสดงออกที่ไหนและอย่างไร

แน่นอนว่า “โซเชียล” ไม่ได้ทำให้คนรุ่นใหม่แห่ลงคะแนนเลือกธนาธรในการเลือกตั้งปี 2562 และลุกลามเป็นการลงถนนโดยต่อเนื่องในปี 2563

แต่ “โซเชียล” ทำให้คนที่คิดแบบนี้รู้ว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนที่คิดแบบเดียวกันอีกเยอะ

และในที่สุดก็เกิด “ชุมชนในจินตนาการ” แบบใหม่ขึ้นมา

ถ้าปี 2562 และ 2563 คือปีที่ “โซเชียล” อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์โอบรับความรู้สึกนึกคิดในสังคมจนแปรรูปเป็นปรากฏการณ์ “ธนาธร”, “อนาคตใหม่” และ “ราษฎร” ปี 2564 ก็คือปีซึ่งแอพพลิเคชั่นแบบ Clubhouse กำลังโอบรับความรู้สึกใหม่ๆ เพื่อสร้าง “ชุมชนในจินตนาการ” บางอย่างต่อไป

ขณะที่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เป็นแอพพลิเคชั่นที่แพร่หลายเพราะทุกคนมีโอกาสมีอิทธิพลผ่าน “โซเชียล” เพื่อสร้าง “เครือข่ายทางสังคม” ในบั้นปลาย แอพพลิเคชั่นแบบคลับเฮาส์กลับทำงานแบบตรงข้าม นั่นก็คือคนที่จะมีสิทธิใน “โซเชียล” แบบนี้ต้องมีเป็น Somebody หรือ “คนพิเศษ” บางคน

คลับเฮาส์เป็นแอพพ์ที่ยังไม่ให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ใช้ ตัวแอพพ์จึงตอกย้ำความเป็น “คนพิเศษ” ของผู้ใช้ระบบปฏิบัติการอีกแบบ ยิ่งกว่านั้นคือผู้ใช้ระบบปฏิบัติการนั้นจะติดตั้งคลับเฮาส์ได้ก็ต่อเมื่อมี “คนพิเศษ” ส่งคำเชิญให้กดติดตั้ง และผู้ใช้ซึ่งเป็น “คนพิเศษ” แต่ละคนจะกดเชิญคนได้เพียงครั้งเดียว

เส้นทางของการเข้าร่วม “คลับเฮาส์” คือเส้นทางของการตอกย้ำความเป็น “คนพิเศษ” มิหนำซ้ำแอพพ์ยังทำงานโดย “คนพิเศษ” เปิดห้องตั้งหัวข้อพูดคุยโดยกดเชิญ “คนพิเศษ” คนอื่นมาร่วมสนทนา คลับเฮาส์จึงเป็นห้องแชตทางเสียงที่แชตได้เฉพาะคนที่อยู่ใน “โซเชียล” ของ “คนพิเศษ” ด้วยกัน

คำว่า “คนพิเศษ” ไม่ได้แปลว่าแอพพ์นี้แสดงสถานะทางสังคม เพราะแอพพ์คือสินค้าสาธารณะ และอะไรที่เป็นสินค้าสาธารณะย่อมต้องการให้สาธารณชนใช้มากขึ้น ความพิเศษในที่นี้หมายถึงความเป็น “ใครบางคน” ในหัวข้อสนทนานั้นๆ จนคนอื่นรู้สึกว่าพึงเสียเวลามาฟังคนนั้นพูดโดยตรง

แน่นอนว่าตอนนี้แอพพ์แพร่หลายบนความรู้สึกเป็น “คนพิเศษ” ในแง่ไม่ใช่ของที่ทุกคนก็มี และตัวแอพพ์เองก็ใช้ความรู้สึกนี้เร่งให้คนใช้แอพพ์มากขึ้นถึงจุดที่ไม่มีใครพิเศษต่อไป ในที่สุดแอพพ์จึงเหมือนเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ที่ใครก็ใช้ได้

แต่ใช้แล้วจะมี “ผู้ติดตาม” มากหรือน้อยแค่ไหนก็สุดแท้แต่กรณี

ถ้าจุดเด่นของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์คือการทำให้ใครก็เป็น “ผู้มีอิทธิพล” หรือ Influencer ได้โดยที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนเลย จุดเด่นของคลับเฮาส์ก็คือการทำให้คนซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องหนึ่งๆ เกาะเกี่ยวคนซึ่งเป็นที่รู้จักต่อไปอีก

ส่วนคนซึ่งไม่มีใครรู้จักก็มีโอกาสฟัง “คนพิเศษ” พูดเรื่องที่เป็นหัวข้อสนทนา

ด้วยความที่คลับเฮาส์ทำงานบนเครือข่ายของ “คนพิเศษ” ที่แลกเปลี่ยนความเห็นผ่าน “เสียง” ของคนพิเศษด้วยกัน ผู้ใช้จึงใช้โดยรู้ว่าใครเป็นใคร ส่วนผู้พูดก็ระมัดระวังเป็นพิเศษในการพูดต่อหน้าผู้ฟังซึ่งตอบโต้กลับได้ทันที

ผลที่ได้คือการสนทนาที่ผ่านการกลั่นกรองกว่าการโพสต์เฟซหรือทวิตเตอร์

ขณะที่จุดเด่นของเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์คือความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสื่อสารกับสังคม

จุดเด่นของคลับเฮาส์กลับเป็นการสร้าง “บทสนทนา” เรื่องต่างๆ ซึ่งไม่มีทางเร็วเท่าเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์

แต่มีจุดแข็งตรงความสามารถเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นจนความคิดเปลี่ยนในระยะยาว

คำถามคือ การขยายตัวของโซเชียลแบบ “คลับเฮาส์” ที่เน้นความเร็วน้อยลงแต่เน้นการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างรอบคอบมากขึ้นนั่นจะส่งผลความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร

ธนาธรเคยบอกผมก่อนเลือกตั้ง 2562 ว่าพรรคอนาคตใหม่จะชนะเลือกตั้งเยอะระดับ 50++ จากการเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในยุคโซเชียลมีเดียมาแรง ยิ่งกว่านั้นคือ “พี่โต้ง” หรือ “ฐากูร บุนปาน” บอกผมตอนช่วยมติชนจัดงานเลือกตั้งว่า Data Analytics ชี้คนสนใจอนาคตใหม่กว่าทุกพรรคการเมือง

ถ้าการเติบโตของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ทำให้เกิดปรากฏการณ์อนาคตใหม่และคณะราษฎร ความช้าของแอพพลิเคชั่นอย่างคลัปเฮาส์อาจสะท้อนว่าเรามาถึงจุดที่ “ความเร็ว” แบบทวิตเตอร์ หรือ “ความแรง” ในการชี้นำความเห็นคนแบบเฟซบุ๊กอาจไม่พอต่อความคาดหวังของสังคมอีกต่อไป

ความเร็วและการออกแบบให้ผู้ใช้ไม่ระบุตัวตนทำให้ทวิตเตอร์โดดเด่นในแง่ระดมคนไปชุมนุมทางการเมือง แต่ความสั้นของทวิตเตอร์ทำให้ทวิตเตอร์ไม่มีประโยชน์ต่อการถกเถียงประเด็นที่ซับซ้อนมากนัก

ส่วนเฟซบุ๊กไม่มีปัญหาเรื่องขนาดข้อความ แต่ก็อาจดึงคนที่คิดเหมือนกันมาเออออกันเอง

ประเทศไทยในทศวรรษ 2560 มีความขัดแย้งทางความคิดหลายเรื่องซึ่งคนคิดต่างกัน และยิ่งนานความคิดที่ต่างกันเริ่มลุกลามเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนประเด็นรัฐธรรมนูญและเผด็จการและรัฐธรรมนูญในปี 2560-2562 ขยายตัวสู่เรื่องปฏิรูปสถาบันในปี 2563 จนปัจจุบัน

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเคยพูดในสภาว่าประเด็นปฏิรูปสถาบันเป็นความกระอักกระอ่วนแห่งยุคสมัยที่สังคมต้องยอมรับกัน และหากขยายความจากสิ่งที่พรรคก้าวไกลพูดต่อไป ประเด็นนี้ใช้วิธียัดคดีหรือจับคนพูดเข้าคุกเพื่อปิดเรื่องให้เงียบลงได้ยาก เพราะคนรุ่นใหม่ที่คิดอะไรแบบนี้ก็มีเยอะจริงๆ

ไม่มีใครรู้ว่าประเทศไทยจะฝ่าข้ามห้วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้อย่างไร สัญญาณการประนีประนอมไม่มี ยิ่งนานยิ่งชัดเจนว่ารัฐเลือกใช้วิธีเอาคนคิดเรื่องนี้ไปขังคุกให้สิ้นซาก ยุทธศาสตร์รัฐเน้นกดหัวให้คนกลัวจนหุบปากเงียบ แต่แรงกดย่อมนำไปสู่แรงต้านที่วันใดวันหนึ่งย่อมระเบิดขึ้นมา

มีโอกาสอย่างสูงที่คลับเฮาส์จะเป็นโซเชียลแขนงใหม่ที่คนไทยใช้พูดเรื่องที่พูดยากทางการเมือง ยิ่งเรื่องแบบปฏิรูปสถาบันที่มีคนพูดกันทั้งประเทศในปี 2563 ยิ่งง่ายที่ในปี 2564 จะระเบิดเป็นการพูดหรือแสดงความเห็นในช่องทางใหม่ๆ จนเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้เรื่องนี้หายไปจากสังคมไทย

สังคมประชาธิปไตยต้องมีพื้นที่สาธารณะเพื่อเปิดโอกาสให้สังคมถกเถียงเรื่องต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล วิธีจับคนเข้าคุกอาจปิดปากคนได้ แต่หยุดการแพร่หลายของความคิดไม่ได้ ขณะที่การปิดกั้นทำให้คนระเบิดอารมณ์ในโซเชียลอื่นๆ ซึ่งยิ่งนานก็จะเป็นการระเบิดของความเกรี้ยวกราดทางการเมือง

ความเห็นต่าง (Disagreement) จะเป็นความขัดแย้ง (Conflict) และการเผชิญหน้า (Confrontation) เมื่อคนที่เห็นต่างแย่งกันพูดเพื่อเอาชนะยิ่งกว่าฟังกัน ส่วนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีธรรมชาติจะทำให้ผู้ใช้มองคนอื่นเป็น “ผู้ตาม” หรือ “ลูกเพจ” จนแทบไม่ช่วยให้เกิดการฟังความเห็นต่างได้เลย

ด้วยการมาของคลับเฮาส์ที่ร้อนแรงจนมีการขาย Invitation กัน เป็นไปได้อย่างสูงที่ประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” จะโผล่ในคลับเฮาส์จนทำให้รัฐบาลหงุดหงิดเรื่องนี้ขึ้นไปอีก แต่คลับเฮาส์ดีตรงที่สื่อสารคำพูดซึ่งรู้ว่าใครเป็นใครจนพูดส่งเดชได้ยาก เราจึงอาจเห็นการถกเถียงเรื่องนี้ที่มีคุณภาพกว่าเดิม

ไม่ว่าจะมองในมุมไหน สังคมหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องนี้ได้ยาก การปิดปากไม่อาจปิดความคิดคนได้ และการปล่อยให้มีพื้นที่เปิดที่มีเหตุผลอาจดีที่สุดสำหรับฝ่ายที่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าจริงๆ

ไม่อย่างนั้นก็มีโอกาสที่คลับเฮาส์จะถูกรัฐบาลไทยแบนเหมือนรัฐบาลจีน