‘อ้วนแต่ฟิต’ ไม่ช่วยอะไร เปิดงานวิจัยใหม่ ‘คนลงพุง’ อายุสั้นมากขึ้น

มีศัพท์เกี่ยวกับ “ความอ้วน” คำหนึ่งในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา นั่นคือ Freshman 15 ครับ

Freshman 15 เป็นคำที่ส่งนัยถึงน้ำหนักตัวซึ่งเพิ่มขึ้นของน้องใหม่ Freshy หรือนักศึกษาปี 1 ที่ว่ากันว่า หลังพ้นปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย เขาและเธอจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว 15 ปอนด์ หรือ 7 กิโลกรัม

ศาสตราจารย์ ดร. Charles Baum แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Middle Tennessee State เผยว่า มีผลการวิจัยมากมายที่ชี้ว่า Lifestyle ของบรรดา Freshy หลังผ่านปี 1 มีส่วนทำให้น้ำหนักตัวของพวกเขาเพิ่มขึ้น

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการศึกษาของ National Longitudinal Survey of Youth หรือ NLSY ที่ได้ทำการสำรวจนิสิตเกี่ยวกับภาวะความอ้วน ซึ่งเป็นงานวิจัยระยะยาวต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี พบว่า น้ำหนักตัวของนักศึกษาเพิ่มขึ้นจริงเมื่อขึ้นปี 2” ศาสตราจารย์ ดร. Charles Baum กระชุ่น

ศาสตราจารย์ ดร. Charles Baum บอกว่า นักศึกษาหลายคนของเขา มักรับประทานอาหารในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยแบบตามใจชอบ เพราะไม่มีใครมาคอยควบคุม ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

“นิสิตของผมคนหนึ่ง คือ Gunnar Carroll บอกกับผมว่า ทุกมื้อ เขารับประทาน Hamburger 1 อัน กับ French Fries 1 ห่อ ตามด้วย Pizza 1 ชิ้น และ Coke อีก 1 ขวด เป็นประจำทุกวัน” ศาสตราจารย์ ดร. Charles Baum สำทับ

สอดคล้องกับ Nicole Mihalopoulos หัวหน้าทีมวิจัยของ NLSY ที่ยืนยันผลการวิจัยดังกล่าว ซึ่งพบว่า กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาปี 1 ในมหาวิทยาลัยจำนวน 125 คน มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเกิน 7 กิโลกรัมจริง

ประเด็นนี้ ได้นำมาสู่ความห่วงใยในระดับ Talk of the Town ในเวลาต่อมาเกี่ยวกับ “โรคอ้วน” ครับ

วารสาร Journal of College Health ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาที่ชี้ว่า การที่นักศึกษาปี 1 มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 7 กิโลกรัม กระตุ้นให้เกิดความพยายามหยุดยั้ง “โรคอ้วน” ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชาวอเมริกันอายุ 20 ปีขึ้นไปราวเกือบ 70% มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ และเป็น “โรคอ้วน”

อย่างไรก็ดี มีความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คนอ้วน” ที่รักการออกกำลังกาย เชื่อว่า แม้จะ “อ้วน” แต่ถ้าออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สุขภาพจะแข็งแรงไม่แพ้คนผอม

กลุ่ม “คนอ้วนที่ออกกำลังกาย” เชื่อว่า แม้พวกเขาจะ “อ้วน” แต่ถ้าสามารถรักษา “ความฟิต” ของร่างกายเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทดแทนผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหัวใจที่เกิดจาก “ความอ้วน” และน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานได้

นำมาสู่ข้อโต้แย้งของนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ว่าการ “อ้วนแต่ฟิต” นั้น ไม่ช่วยอะไร!

 

ศาสตราจารย์ ดร. Michael Pencina แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Duke ประเทศสหรัฐอเมริกา บอกว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจ จะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัว โดยกลุ่มคนที่ถูกจัดว่าเป็น “โรคอ้วน” จะมีภาวะเสี่ยงอายุสั้นมากที่สุด!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลการศึกษาล่าสุด ที่สำรวจกลุ่มคนวัยทำงานใน Spain อายุ 42 ปีขึ้นไป จำนวน 520,000 ชี้ว่า “คนลงพุง” มีอายุสั้นมากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าจะออกกำลังกายมากเพียงใดก็ตาม

วารสารวิชาการเกี่ยวสุขภาพหัวใจ European Journal of Preventive Cardiology ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยของมหาวิทยาลัย European ในกรุง Madrid ประเทศ Spain ที่ชี้ว่า การมีน้ำหนักตัวเกินพิกัดนั้น ไม่อาจถูกลบล้างได้ด้วย Lifestyle ที่ Active หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างกระฉับกระเฉง

ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia หัวหน้าทีมวิจัยดังกล่าวเผยว่า แม้เราจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าเรา “อ้วน” เรื่องของภาวะสุขภาพหัวใจก็ยังมีความเสี่ยง

“คุณต้อง Fit & Firm จะ Fit อย่างเดียว แต่อ้วนไม่ได้ คุณต้อง Firm ด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia กระชุ่น

ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia บอกต่อไปว่า เรารู้กันดีว่า “ดัชนีมวลกาย” หรือ BMI คือตัวชี้วัดสำคัญของ “โรคอ้วน”

“สูตรคำนวณ BMI คือเอาน้ำหนักตัว มาหารด้วยส่วนสูง แล้วยกกำลังสอง โดย BMI ที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 18.5-24.9 จะถือว่ามีน้ำหนักตัวปกติ แต่หากค่า BMI อยู่ระหว่าง 25-29.9 หมายถึงน้ำหนักตัวเกิน และถ้า BMI มีค่าตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จะบ่งชี้ถึงการเป็นโรคอ้วน” ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia กล่าว และว่า

ความสัมพันธ์ระหว่าง BMI ของกลุ่มที่ถูกบ่งชี้ว่าเป็น “โรคอ้วน” ถูกโยงเข้ากับปัจจัยเสี่ยง 3 ประการคือ เบาหวาน Cholesterol และความดันโลหิต แม้ว่า “คนอ้วน” จะ “ออกกำลังกาย” มากเพียงใด ก็ยังมีความเสี่ยงหัวใจวาย และสมองขาดเลือดได้

 

ศาสตราจารย์ ดร. Anthony Rosenzweig แห่งมหาวิทยาลัย Harvard บอกว่า วิธีรักษาสุขภาพของเราให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจให้เหลือน้อยที่สุดนั้น หนทางเดียวก็คือ เราต้อง Fit & Firm

“เราควรให้ความสนใจกับทั้งสองเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ การรักษา BMI ให้ต่ำกว่า 25 กิโลกรัม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Anthony Rosenzweig สรุป

ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia กลับมาวิเคราะห์ให้เราฟังว่า การออกกำลัง ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น แต่สำหรับ “คนอ้วน” แล้ว การออกกำลังกายไม่ว่าจะมากเพียงใด ก็ยังมิอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้!

“ผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วนนั้น แม้จะ Fit แต่ก็มีความเสี่ยง Cholesterol สูงมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ 2 เท่า และมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเบาหวานมากกว่าถึง 4 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงมากถึง 6 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตัวพอดี-ที่แม้จะไม่ค่อยออกกำลังกายก็ตาม” ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia กล่าว และว่า

ดังนั้น “คนอ้วน” ที่แม้จะออกกำลังกาย แต่ก็มิอาจทดแทน หรือลดผลเสีย และความเสี่ยงต่อสุขภาพได้นั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. Alejandro Lucia สรุป

 

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ดร. Amanda Schlink แห่งมหาวิทยาลัย American กรุง Washington สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ทุกวันนี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวของคนอเมริกันมีแนวโน้มลดลง จากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น

“ชาวสหรัฐใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากการเลือก Menu อาหารในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาร้าน Fast Food ต่างๆ ในปัจจุบัน มีสลัด หรือ Menu ที่ผสมผักใบเขียวชนิดต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกมากขึ้น”

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันหลายคน นิยมเดิน หรือปั่นจักรยานมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งช่วยเผาผลาญพลังงานไปได้เป็นอย่างดี ศาสตราจารย์ ดร. Amanda Schlink ทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับ มหาวิทยาลัย Oxford ที่เผยแพร่ผลการศึกษา ซึ่งเผยว่า หากเราทำตัวกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้มากกว่าที่เราคิด

สอดคล้องกับรายงานของ Cleveland Clinic USA ที่ชี้ว่า Lifestyle เฉื่อยชาจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าคนสูบบุหรี่ คนที่เป็นเบาหวาน หรือโรคหัวใจเสียอีก

เหมือนกับบทความชิ้นหนึ่งของผมใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ “นั่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ‘โซฟาพิฆาต’ มัจจุราชแห่งศตวรรษที่ 21” นั่นเองครับ!