ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม
กวีนิพนธ์ของมุฮัมมัด อิกบาล (4)
บทกล่าวนำก่อนอ่านงานของอิกบาล
อิกบาลเขียนถึงเรื่องต่างๆ และทัศนะของเขาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ฉะนั้น จึงไม่เป็นการฉลาดที่จะตีตราอย่างใดให้แก่เขา
สำหรับนักชาตินิยมของอินเดีย เขาเป็นนักชาตินิยมผู้กระตือรือร้น ผู้เขียนว่า “ในบรรดาชาติทั้งหลายในโลกนี้ ชาติที่ดีที่สุดก็คืออินเดียของเรา”
เขาได้ปลุกเร้าให้ชาวฮินดูกับมุสลิมมารวมกันสร้างสถานสักการะอันใหม่ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถจะมาทำการสักการบูชาร่วมกันได้
เขาถือว่าฝุ่นธุลีทุกละอองของประเทศของเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะเดียวกันเขาถือว่าชาวอินเดียมุสลิมเป็นกลุ่มประชาชนที่อยู่ต่างหากจากคนอินเดียอื่นๆ ในขณะที่ประกาศว่าศาสนาอิสลามไม่ยอมรับขอบเขตของประเทศชาติ
เขากลับสนับสนุนการเรียกร้องให้มีรัฐอิสลามแยกออกไปสำหรับชาวอินเดียมุสลิม ครั้งหนึ่งอิกบาลได้รบเร้าให้ชาวไร่ชาวนาลุกขึ้นต่อต้านผู้กดขี่พวกเขา ให้โค่นคฤหาสน์ของคนร่ำรวยลงและจุดไฟเผาพืชผลซึ่งมิได้เลี้ยงชีวิตพวกเขาเสีย
แต่อีกคราวหนึ่งเขาเขียนคำสรรเสริญบรรดากษัตริย์และเจ้าชายซึ่งให้การอุปการะแก่เขา อาจกล่าวได้ว่าอิกบาลร้องเพลงด้วยเสียหลายเสียง
เขาเป็นนักชาตินิยมเท่าๆ กับนักสากลนิยม เป็นนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ เท่าๆ กับเป็นผู้สนับสนุนคุณค่าแบบเก่าของมุสลิมและเป็นนักนิยมการรวมชาติอิสลาม
อิกบาลเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันทั้งหมดเหล่านี้ ถ้าจะมีอะไรที่เขาเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอบ้างละก็ นั่นก็คือคุณลักษณะในบทกวีของเขานั่นเอง
สิ่งใดก็ตามที่เขารจนาขึ้นย่อมก่อกำเนิดขึ้นด้วยอารมณ์อันรุนแรงและประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีไม้ลายมืออันชำนิชำนาญเป็นเอก
มีบทกวีในโลกนี้อยู่เพียงไม่กี่บทที่สามารถจะบรรจุไว้ซึ่งข้อถกเถียงและปรัชญาอย่างเต็มเปี่ยม และยิ่งมีน้อยลงไปอีกทีใช้ถ้อยคำเป็นเสมือนกระดานป้ายสีของจิตรกรเพื่อสร้างภาพเขียนอันมีสีสันขึ้นมาเท่าๆ กับใช้มันเป็นประดุจดังพิณที่จะเปล่งเสียงดนตรีออกมา
เขามีไฟแห่งความรุ่มร้อนที่จะสร้างสรรค์ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแรงดลใจจากสวรรค์ จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจว่าถึงแม้ว่าอิกบาลจะเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดเขาก็ยังไม่สามารถที่จะต้านทานความยั่วยวนใจในอันที่จะต่อล้อต่อเถียงกับพระผู้เป็นเจ้าได้
บทกวีสองบทที่แปลมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่เพียงพอแล้วของมนุษย์ผู้สร้างสรรค์ตั้งปัญหาถามคำบัญชาของพระผู้สร้างมนุษย์ชาติและสากลจักรวาล
จะไม่เป็นการถูกต้องเลยถ้าเราจะอธิบายถึงข้อเขียนหลายด้านของอิกบาลและความไม่คงเส้นคงวาของเขาว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาบุคลิกภาพของเขา
การที่จะรับเอาสิ่งที่เป็นอยู่ รวมทั้งยักไหล่ให้กับบางเรื่องที่อาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เขาเคยกล่าวมาแต่ก่อนนั้นจะเป็นการดีที่สุด
เราควรทำใจให้สบายและรื่นรมย์ไปกับบทกวีนั้นเถิด
นักวิชาการพากันพูดถึงปรัชญาของอิกบาลราวกับว่ามันเป็นโครงการพัฒนาค่านิยมที่เป็นไปตามเหตุผล แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น
บทกวีในระยะต้นๆ ของเขามีวี่แววแห่งความไม่เชื่อถือในโลกนี้แฝงอยู่ เขาถือว่าโลกนี้คือมายาการเช่นเดียวกับชาวฮินดูและเขาพูดถึงความไร้ผลของการไขว่คว้าพยายามเหมือนชาวฮินดูเช่นกัน
แต่เมื่อเขาไปอยู่ในยุโรปได้สามปี (คือปี 1905-1988) ความเชื่อของเขาก็กลับกลายไปโดยสิ้นเชิงโลกนี้กลายเป็นสิ่งที่เป็นความจริง ชีวิตมีความมุ่งหมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ
พลังแฝงในตัวมนุษย์ทุกคนก็คือมนุษย์วิเศษซึ่งสามารถจะได้รับการปลุกเร้าให้ขึ้นถึงระดับสูงสุดของเขาโดยความพากเพียรพยายามอย่างไม่หยุดยั้งที่จะสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าขึ้นมา
ช่วงระยะหลังจากการได้ไปอยู่ยุโรปของอิกบาลนี้เรียกว่าระยะปรัชญาคูดีของอิกบาล มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่งซึ่งมิอาจแปลได้ คูดีคือ ตัวตน (อัตตา) คูดี อาจเรียกได้ว่าความรู้สึกในตัวตนหรือความรู้สึกในอัตตา
คูดี อาจเป็นตัวตน และคูดี คือตัวตนส่วนที่ดีเท่าที่อิกบาลใช้ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับคูดี ก็คือพลังใจ อันหนักแน่นอาบไปด้วยคุณค่าทางศีลธรรม
ซึ่งอาจเห็นได้จากบทกวีบางบรรทัดต่อไปนี้
จงมอบพลังจิตของท่านด้วยพลังเช่นนั้น
จนกระทั่งในทุกหัวเลี้ยวแห่งชะตากรรมมันจะ
กลายเป็นว่า
พระผู้เป็นเจ้าเองทรงถามทาสของพระองค์ว่า
“อะไรหรือที่เจ้าพึงพอใจ?”
อิกบาลต้องการให้มนุษย์ดิ้นรนเพื่ออะไรจริงๆ เล่า? ก็เพื่อมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์กว่าบางอย่างนะสิ แต่เขาก็มิได้สนใจที่จะกล่าวมันออกมาเป็นรายละเอียดใดๆ น่าจะเป็นว่าสำหรับมนุษย์นั้นการดิ้นรนพยายามอย่างไม่หยุดยั้งมิใช่เป็นไปเพื่อผลกำไรทางวัตถุในโลกนี้หรือว่าจ้องมองหารางวัลตอบแทนในโลกหน้า
แต่มันควรจะเป็นไปอย่างไร้ความเห็นแก่ตัวอย่างที่สุดและมีความรักในมนุษยชาติเป็นแรงผลักดัน
คำที่อิกบาลใช้สำหรับการต่อสู้ดิ้นรนชนิดนี้ก็คือฟักรฺ ซึ่งเป็นต้นตอของคำว่าฟากิร
สำหรับอิกบาลมันมิได้หมายถึงการขอทาน แต่เกือบจะตรงกันข้าม มันหมายถึงความภาคภูมิใจในสิ่งที่เล็กน้อย ซึ่งได้มาจากการขวนขวายอย่างเที่ยงธรรม (คัชชิหะลาล)
ดังนั้น สำหรับอิกบาลแล้วคนที่ได้รับมรดกความมั่งคั่งมาโดยมิได้พยายามขวนขวายหามานั้นย่อมแย่เสียยิ่งกว่าขอทาน
ในขณะที่คนยากจนซึ่งพากเพียรพยายามเพื่อความดีงามของมนุษย์ชาตินั้นคือคนมั่งคั่งอย่างแท้จริง คูดีกับฟักรฺ ของอิกบาลผสมกันจะเข้ามาใกล้เคียงกับคำว่านิชะกะมากรรมของฮินดู (คือการกระทำที่ปราศจากความคาดหมายถึงผลรางวัลตอบแทน) ซึ่งได้รับการสดุดีอยู่ในคัมภีร์คีตา อิกบาลเขียนไว้ว่า
ในสงครามชีวิตของมนุษย์เขามีอาวุธเหล่านี้อยู่
คือความมั่นใจว่าทางของเขานั้นยุติธรรม
ความเด็ดขาดที่จะขวนขวายไปจนถึงนิรันดร์กาล
ความเมตตาซึ่งโอบล้อมมวลมนุษย์ไว้
อย่างไรก็ดี อิกบาลไม่ยอมรับความเชื่อของฮินดูในเรื่องพรหมลิขิต และมั่นใจว่ามนุษย์สามารถจะเป็นนายแห่งชะตากรรมของเขาเองได้และสามารถสร้างโลกให้เหมือนกับที่เขาต้องการให้มันเป็นไปได้
การกระทำของเรานั่นแหละที่สร้างชีวิตของเรา
เราจะทำให้มันเป็นสวรรค์หรือนรกก็ได้
ในดินเหนียวที่เราถูกสร้างขึ้นนั้น
ไม่มีทั้งแสงสว่างหรือความมืด (ของความชั่วร้าย)
อยู่ดอก
อิกบาลรบเร้าให้คนเราใช้ประโยชน์ของพลังแฝงของตนไปด้วยการถนอมกล่อมเกลี้ยงมันไว้ให้ดี
หากเราทะนุบำรุงพลังจิตของเราไว้ ชีวิตย่อมมี
ความมุ่งหมาย
ถ้าเรามีอาจทำดังนั้นได้ มันก็ย่อมเป็นนิยายอันสับสน
จากเริ่มต้นจนถึงปลายสุด
อิกบาลไม่อาจอดทนต่อความหลงใหลในการสำรวมจิต (ชนิดที่พ้นความเข้าใจหรืออย่างอื่นๆ) เพื่อนำเอาความสงบใจมาให้ดังที่มีอยู่ทั่วไปในเวลานั้นได้ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งใดก็ตามที่มีค่ำควรนั้นจะมาจากจิตใจที่วุ่นวายอย่างไม่หยุดยั้งได้เท่านั้น
ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงนำเอาพายุมาสู่ชีวิตของท่าน
ท้องทะเลแห่งชีวิตท่านราบเรียบนัก คลื่นของมัน
ปราศจากความปั่นป่วน