สาเหตุที่แท้จริง ของการติดโซเชียลมีเดีย / จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Vietnamese young people texting to each other instead of talking

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน @Sue_Ching Facebook.com/JitsupaChin

 

สาเหตุที่แท้จริง ของการติดโซเชียลมีเดีย

 

โซเชียลมีเดียเป็นคล้ายๆ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ใครหลายคน ยิ่งโซเชียลมีเดียของคนที่ไม่ได้รับแอดเพื่อนมั่วซั่ว คัดเลือกเพื่อนที่จะได้เห็นโพสต์กันมาเป็นอย่างดี ก็ยิ่งเป็นเหมือนโซนปลอดภัยที่เราจะแชร์อะไรก็ได้ หรือจะพูดอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาตัดสินหรือต่อว่า

ฉันเองก็รู้สึกแบบนี้มาโดยตลอด แม้จะรู้ว่ามันต้องมีเพื่อนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเราบ้างแหละ แต่ดูเหมือนคนเหล่านั้นจะหลุดวงโคจรไปนานแล้ว เมื่อเราคิดเห็นไม่ตรงกัน เราก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน และอัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียก็คัดคนเหล่านั้นออกจากหน้าฟีดฉัน และคัดฉันออกจากหน้าฟีดคนเหล่านั้น

รู้ตัวอีกทีก็รายล้อมไปด้วยคนที่คิดเหมือนๆ กัน คนหน้าเดิมๆ ที่มากดไลก์ คนชื่อเดิมๆ ที่มาคอมเมนต์เห็นด้วย

เราเคยพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า Filter Bubble หรือ Echo Chamber กันไปแล้ว

แต่ฉันคิดว่ามันควรค่าพอที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ก็คือการที่อัลกอริธึ่มของโซเชียลมีเดียได้คัดกรองเฉพาะสิ่งที่เราน่าจะสนใจ สิ่งที่เราน่าจะชอบ และสิ่งที่เราน่าจะเห็นด้วย มาวางเอาไว้ตรงหน้าให้เราได้เสพเข้าไปทุกๆ วัน

และนี่แหละที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนอื่นๆ รอบตัวเราคิดเหมือนเราทั้งหมด และนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า Confirmation Bias

Confirmation Bias ก็คือการที่มนุษย์อย่างเราๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะมองหา ตีความ และจดจำข้อมูลใหม่ๆ ที่มันมาคอนเฟิร์มสิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้ว เมื่อมันจับคู่เข้ากับสิ่งที่เราเชื่อถือว่าถูกต้องอยู่แล้วสมองก็ไม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีอะไรมาค้านกัน เราพร้อมตอกย้ำความเชื่อนั้นให้แน่นหนักกว่าเดิมได้ทันที

ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อเรื่องศาสนา ไปจนถึงทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลาย

สิ่งเหล่านี้ถูกตอกย้ำให้เป็นความจริงที่มิอาจเป็นอื่นได้ง่ายขึ้นด้วยพลังของอัลกอริธึ่มโซเชียลมีเดีย

ย้อนกลับมาที่ตัวฉันเอง แม้ฉันจะรู้อยู่แล้วว่าตัวเองก็ตกเป็นเหยื่อของอัลกอริธึ่มที่คิดค้นขึ้นมาอย่างชาญฉลาดโดยบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook

แต่ฉันก็ปลอบใจตัวเองว่าช่างมันเถอะ ก็ถือเสียว่าเราได้มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของเรา

โลกความเป็นจริงมันอาจจะมีดีบ้างแย่บ้าง แต่เมื่ออยู่บนโซเชียลมีเดีย มันก็น่าจะเป็นโลกเสมือนจริงที่เราจะแอบเข้ามาพักใจและแวดล้อมตัวเองไปด้วยเพื่อนที่คิดเหมือนๆ กันก็น่าจะดีนี่นา

จนกระทั่งถึงวันที่ฉันรู้สึกเอะใจขึ้นมาว่าการอยู่ท่ามกลางคนที่คิดเหมือนๆ กันมันอาจจะปลอบประโลมในบางจังหวะได้ก็จริง แต่มันจะส่งผลเสียในระยะยาวแน่ๆ

เว็บไซต์ WIRED อ้างถึงบทสัมภาษณ์ของ David McRaney นักจัดพ็อดแคสต์หรือรายการวิทยุออนไลน์ You Are Not So Smart ที่บอกว่า ไอ้ Confirmation Bias นี่แหละเป็นสาเหตุที่ทำให้เราติดโซเชียลมีเดียกันหนึบหนับทุกวันนี้

McRaney บอกว่า การที่โซเชียลมีเดียช่วยคอนเฟิร์มสิ่งที่เราเชื่อในใจอยู่แล้วทำให้เรามีแนวโน้มที่จะใช้มันมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนชั่วโมงเยอะขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งแปลว่าธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น เพราะพอเราได้เสพแต่สิ่งที่เราเห็นด้วย นิ้วเราก็จะเลื่อนหน้าฟีดลงไปเรื่อยๆ แบบไม่มีวันจบ

ฉันว่ามันคล้ายๆ กับการที่เราคุยกับใครสักคน ถ้าคนคนนั้นพยักหน้า เออออห่อหมกกับเราไปเสียทุกอย่าง เราก็อยากจะคุยกับคนคนนั้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าคนที่เราคุยด้วยติดปากพูดคำว่า ไม่ใช่! ทุกครั้งเวลาเราพูดอะไรไป เราก็จะรู้สึกเหม็นเบื่อ อยากเดินหนีไปไกลๆ

อัลกอริธึ่มจะไม่สนเลยว่าเพื่อนในลิสต์ของเราคนไหนเพิ่งจะโพสต์ล่าสุด หรือว่าใครโพสต์บ่อยสุด มันจะจ้องหาแต่สิ่งที่เรากดไลก์ กดแชร์ กดรีทวีต หรือคอมเมนต์เท่านั้น และก็จะนำเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแหละมาฉายให้เราดูซ้ำอยู่เรื่อยๆ เพราะมันรู้แล้วว่าคอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เราสบายใจ

ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคนไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่ เคยสังเกตหรือเปล่าว่าเพื่อนบางคนที่เราไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ด้วยสักเท่าไหร่ ก็จะเริ่มเลือนหายไปจากหน้าแรกของโซเชียลมีเดียเรา จนนานๆ ทีเราก็จะนึกขึ้นมาว่า เอ๊ะ เดี๋ยวนี้หวานหายไปไหนนะไม่เห็นโพสต์เลย แล้วพอกดเข้าไปที่หน้า Facebook ของหวาน หวานก็ยังโพสต์แทบทุกวันตามปกติ แล้วทำไมเราถึงไม่เห็นโพสต์ของหวานเลย

นี่แหละที่แสดงให้เราเห็นว่าเราอยู่ในห้องที่เสียงแบบเดียวกันสะท้อนไปสะท้อนมาจนไม่มีพื้นที่เหลือให้เสียงภายนอกแทรกซึมเข้ามาได้

มองแบบตื้นๆ ก็ไม่น่ามีอันตรายอะไรมาก เราก็แค่ได้เห็นโพสต์จากเพื่อนที่สนิทมากหน่อย ไม่สนิทก็น้อยหน่อย แต่มองแบบลึกลงไป สิ่งนี้จะนำไปสู่การแตกแยกทางความคิดแบบสุดขั้วซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราได้เห็นกันอยู่แล้วในปัจจุบันนี้

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคาดหวังให้บริษัทเจ้าของโซเชียลมีเดียจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ทำเงินอยู่บนอัลกอริธึ่มที่ก่อให้เกิด Confirmation Bias นี่แหละ ดังนั้น ก็เลยเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องใช้เครื่องมือที่พอจะมีอยู่มาจัดการโซเชียลมีเดียของเราเพื่อทลายฟองสบู่ที่กั้นเราออกจากความคิดเห็นที่แตกต่าง

วิธีที่ง่ายที่สุด ทำได้เลย และฉันก็ได้ทำไปแล้วด้วยเหมือนกัน ก็คือการไล่กดคลิก Like ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น ทำให้อัลกอริธึ่มงง ไม่สามารถจัดหมวดหมู่ได้ว่าตกลงเราชอบหรือไม่ชอบอะไรกันแน่ เพราะเราดูจะชอบมันไปเสียทุกอย่าง

แจกไปเลยค่ะไม่ว่าจะเป็นปุ่ม Like หรือหัวใจ ไม่ต้องหวงไว้กับตัว แล้วเราจะค่อยๆ เห็นหน้าฟีดเรามีความหลากหลายมากขึ้น

ตามมาด้วยการกดติดตามเพจหรือแอ็กเคาต์ที่ตามปกติแล้วเราจะไม่ชายตามองเลยเพราะมีแนวคิดแตกต่างกับเราคนละขั้ว อย่างเช่นเพจการเมืองไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา

ถึงจะกล้ำกลืนในตอนแรกแต่ก็กดตามเอาไว้เพื่อให้เกิดความสมดุลบนหน้าฟีดมากขึ้น

โซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มยอมให้เราตั้งค่าได้ว่าหน้าฟีดของเราจะแสดงผลเป็นโพสต์จากคนที่อัลกอริธึ่มคัดมาให้แล้ว หรือจะแสดงผลเรียงจากความเก่าใหม่ของโพสต์ทั้งหมด ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะแอบซ่อนการตั้งค่านี้เอาไว้ไม่ให้หาได้ง่ายๆ แต่ลองหาดูนะคะ พอกดได้แล้วชีวิตอาจจะเปลี่ยน อาจได้เห็นโพสต์ของเพื่อนที่ห่างหายกันไปนานหลายปีก็ได้

ส่วนวิธีซับซ้อนขึ้นมาหน่อยก็คือการต้องนั่งพิจารณาเป็นคนคนไป ว่าคนที่เราติดตามหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย มีแนวโน้มที่จะอยู่ใน Echo Chamber แบบเดียวกันกับเราหรือเปล่า สัญญาณที่พอจะใช้บอกได้ก็อย่างเช่นเป็นคนที่โพสต์เยอะ แต่ติดตามคนอื่นน้อย หรือมียอดคนติดตามสูงกว่าคนที่ตัวเองติดตามไปมาก ใครที่โพสต์แต่ความคิดเดิมๆ ที่ตอกย้ำความเชื่อของเราอยู่แล้ว กด mute เขาไปบ้างก็อาจจะช่วยให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้

ลองทำดูนะคะ แม้ว่าโลกที่คนคิดเหมือนๆ กับเรามันจะอบอุ่นแสนสบายอยู่แล้ว แต่ถ้าเราลองเปิดโอกาสให้สิ่งที่ไม่เหมือนกันเข้ามาในโลกของเราได้บ้าง

เราอาจจะได้เห็นสิ่งใหม่หรือสิ่งมีคุณค่าที่เราหลงลืมไปนานแล้วก็ได้