วาระของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นไปง่ายๆ ?

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

พรุ่งนี้ ไว้วางใจก่อนดีไหมขอรับกระผม

ผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามกำหนด 3 วัน 16-17-18 กุมภาพันธ์ 2564 วันนี้ศุกร์ที่ 19 หยุด 1 วัน ให้มีโอกาสไตร่ตรอง วางท่าทีว่าพรรคฝ่ายค้านมีใครบ้างที่งดออกเสียง ซึ่งเท่ากับ “ไว้วางใจ” หมายความว่าคะแนนหรือเสียงของ “ไม่ไว้วางใจ” หายไปหนึ่งเสียงหรือคะแนน แต่เสียงของการไว้วางใจไม่เพิ่มขึ้น

หมายความต่อไปว่า หากกำหนดคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แล้วมีผู้ไม่ไว้วางใจคะแนนขาดกึ่งหนึ่งไปหนึ่งเสียงที่งดออกเสียง จะเท่ากับว่า ฝ่ายไม่ไว้วางใจขาดไปหนึ่งเสียง หมายความว่าไว้วางใจเป็นผู้ชนะ

ดังนั้น การ “ไว้วางใจ” การ “ไม่ไว้วางใจ” การ “งดออกเสียง” จึงมีความหมายทั้งสิ้น

ใครซึ่งฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 3 วัน ครบถ้วนจากทุกคนที่อภิปราย ทั้งฝ่ายไว้วางใจและฝ่ายไม่ไว้วางใจ (คงเป็นไปไม่ได้ แม้แต่ประธานในที่ประชุม) พอจะทราบดีว่า ผู้ไม่ไว้วางใจมีภาษีดีกว่าผู้ไว้วางใจหรือไม่ ส่วนใหญ่ฝ่ายไม่ไว้วางใจมักอภิปรายได้ดีกว่าฝ่ายไว้วางใจ โดยเฉพาะครั้งนี้

เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะอภิปรายกันด้วยเหตุด้วยผล แม้แต่การแก้ตัวแก้ต่าง เพราะมิฉะนั้น ผู้ฟังคือประชาชนทั่วไปจะทราบว่าฝ่ายไหนมีเหตุผลมากกว่ากัน

 

ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายรับการไว้วางใจ คือฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบคือผ่านการไว้วางใจ หากแต่อาจมีรัฐมนตรีบางคนที่เจอข้อมูลของฝ่ายไม่ไว้วางใจชัดเจนในบางเรื่อง ผู้รับความไม่ไว้วางใจอาจตอบกระทู้ไม่ชัดเจน คะแนนเสียงอาจลดลงบ้าง เสียงสองเสียง โดยเฉพาะเป็นเสียงของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล มีโอกาสทำให้หัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคประชุมกันเพื่อปรับคณะรัฐมนตรีแล้วให้ผู้ได้คะแนนน้อยพ้นจากตำแหน่งก็เป็นได้

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ผู้ที่จะมีเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุดน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับผิดชอบรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะประเด็นการตัดสินใจในหลายเรื่องไม่ค่อยได้รับการเห็นด้วยจากประชาชนทั่วไป

เป้าหมายการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ น่าจะพุ่งเป้าไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากกว่ารัฐมนตรีหลายคน

โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลงานทั้งกัญชาและไวรัสโควิด-19 ยิ่งหากรัฐบาลเร่งนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับกระทรวงสาธารณสุขและบางส่วนของรัฐบาล เพราะวัคซีนคือคำตอบว่าไวรัสจะสลายไปจากประเทศไทยได้ดีกว่าคำพูด ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทำงานเหน็ดเหนื่อย เข้าถึงประชาชนได้มากกว่าหน่วยงานอื่น ทั้งคงไม่มีใครอภิปรายไปในทางร้ายหรือทางลบ คะแนนของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล น่าจะสูงกว่าใครเพื่อน

ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆ คะแนนคงไล่เลี่ยกัน เว้นแต่นายกรัฐมนตรีโดยปกติย่อมมีคะแนนเสียงมากกว่าใคร เพราะหากคะแนนต่ำกว่าคนอื่น โอกาสจะต้องลาออกหรือยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ย่อมมีความเป็นไปได้โดยแน่แท้

แต่ด้วยความเหนียวแน่นอย่างตีนตุ๊กแกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกาะติดทำเนียบรัฐบาลมาได้นานกว่า 7 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 ที่ 9 เป็นสมัยที่สองของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากยุคเผด็จการ มาถึงยุคประชาธิปไตย รัฐบาลจากการเลือกตั้ง และเริ่มเดินเข้าสู่สถานภาพทางการเมืองที่มีคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีอีกสองสามครั้ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มพลิกฟื้นเข้าสู่โอกาสปกติในเดือนสองเดือนนี้เมื่อปริมาณประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

โอกาสเช่นนี้ ยากที่ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลใหม่มาใช้ “ถล่ม” รัฐบาล

เว้นแต่ “ข้อมูลใหม่” ที่ยังไม่เคยเปิดเผยมาก่อน

แต่จะมีหรือไม่ การอภิปรายที่ผ่านมา 3 วันเป็นคำตอบออกไปแล้ว

วันนี้ ทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างประเมินค่าว่า พรุ่งนี้ 20 กุมภาพันธ์ 2564 วันลงคะแนนมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ใครจะเป็นอย่างไร อดใจอีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

วันก่อนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง นับแต่เลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาจังหวัด ต่อไปจะเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าเมืองพัทยา และสมาชิกกรุงเทพมหานคร กับสมาชิกสภาเมืองพัทยา

ทั้งยังต้องมีการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งใช้เวลาตามบทบัญญัติการเลือกตั้ง กว่าจะครบถ้วนกระบวนความต้องใช้เวลาข้ามปีไปถึงปีหน้า

ทั้งเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จลง ต้องมีการเลือกสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญอีก 200 คน ว่าอย่างงั้น

ทั้งน่าจะครบวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภา หรืออาจจะต้องเลยถึงครั้งต่อไปจนกว่าสมาชิกวูฒิสภาชุดนี้จะครบวาระ

ระหว่างนี้จนถึงวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ หากไม่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คงต้องใช้เวลาอีกนานอย่างน้อยสิ้นปีโน้น

หรือวาระของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นไปง่ายๆ บรรดาคอการเมืองทั้งหลายจะมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ไปอีกนาน และหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวิจารณ์อนาคตของรัฐบาลว่าจะมีโอกาสบริหารบ้านเมืองไปถึงอีกเมื่อไหร่ อีก 2 ปี หรือครบวาระการเลือกตั้งใหม่

ไม่เป็นไร เรื่องการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนระเบียบระบบไปตลอดเวลา ทั้งย่อมเป็นไปตามยุคสมัย การเลือกตั้งย่อมเป็นไปตามวาระ เช่น วาระตามกำหนด หรือวาระตามสถานการณ์ แล้วแต่ว่าสถานการณ์เช่นใดมาถึงก่อน หรือเกิดก่อน เพราะการเมืองการเลือกตั้งของระบบประเทศไทยมิได้มีกำหนดชัดเจนคือ 4 ปีครั้ง แต่เป็นระบบของสถานการณ์ประชาชนเห็นว่าถึงเวลาหรือในเหตุการณ์เช่นใด ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของวาระการดำรงตำแหน่งรัฐบาลและฝ่ายค้านอาจจะสลับสับเปลี่ยนกันได้ในเวลาที่ประชาชนต้องการ

หากเป็นเช่นนั้น คือเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มิใช่แบบสาธารณรัฐ

ทั้งคงไม่มีสถานการณ์อื่นใดทำให้เกิดเหตุ “ปฏิวัติ” รัฐประหาร – เออ – แต่ใครจะยืนยันได้ครับ